ขนมจีนน้ำเงี้ยว

ขนมจีน หรือเข้าหนมเส้น หรือเข้าเส้น ชาวล้านนานิยมมารับประทานเป็น ขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือเข้าหนมเส้นน้ำเงี้ยว ( รัตนา พรหมพิชัย , 2542 , 825-826 ) น้ำเงี้ยวเป็นน้ำแกงที่รับประทานกับขนมจีนหรือเส้นก๋วยเตี๋ยว ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยว เรียกก๋วยเตี๋ยวน้ำเงี้ยว บางสูตรใช้ถั่วเน่าแข็บหรือถั่วเน่าแผ่นย่างไฟ โขลกลงในเครื่องแกง แทนการใส่เต้าเจี้ยว ชาวไทใหญ่ หรือเงี้ยว เรียกว่า เข้าเส้นน้ำหมากเขือส้ม ( รัตนา พรหมพิชัย , 2542 , 3221 )

[adsense-2]

ส่วนผสมขนมจีนน้ำเงี้ยว
1. ขนมจีน 1 กิโลกรัม
2. เนื้อหมูบดหยาบ 1/2 กิโลกรัม
3. ซี่โครงหมู 1/2 กิโลกรัม
4. เลือดไก่ต้ม 3 ก้อน
5. มะเขือเทศลูกเล็ก 1/2 กิโลกรัม
6. งิ้วแห้ง 10 ดอก
7. เต้าเจี้ยว 3 ช้อนโต๊ะ
8. น้ำมันพืช 1/2 ถ้วยตวง

เครื่องแกงขนมจีนน้ำเงี้ยว
1. พริกแห้ง 10 เม็ด
2. รากผักชี 10 ต้น
3. กระเทียม 10 กลีบ
4. หอมแดง 10 หัว
5. กะปิ 3 ช้อนโต๊ะ
6. เกลือ 3 ช้อนชา

เครื่องเคียงขนมจีนน้ำเงี้ยว
1. กระเทียม
2. ผักชี
3. ต้นหอม
4. พริกขี้หนูแห้งทอด
5. มะนาว
6. ถั่วงอก
7. ผักกาดดอง

วิธีทำขนมจีนน้ำเงี้ยว

1. ต้มน้ำ พอเดือด ใส่ซี่โครงหมู ต้มจนหมูนุ่ม


2. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด


3. ผัดเครื่องแกงกับน้ำมัน จนมีกลิ่นหอม ใส่เต้าเจี้ยวลงผัด คนให้เข้ากัน


4. ใส่หมูบด ผัดให้เข้ากัน จนหมูสุก


5. ใส่เครื่องแกงที่ผัดแล้วลงในน้ำหม้อต้มกระดูก ต้มจนเดือด ใส่ดอกงิ้ว ต้มต่อประมาณ 10 นาที


6. ใส่เลือดไก่ที่หั่นแล้ว คนให้ทั่ว


7. ใส่มะเขือเทศ


8. ตั้งไฟต่อประมาณ 5 นาที ยกลง นำขนมจีนใส่จาน ราดด้วยแกง (น้ำเงี้ยว) รับประทานกับเครื่องเคียง

เคล็ดลับในการปรุง
การทำน้ำเงี้ยวสามารถใช้เลือดไก่หรือเลือดหมูก็ได้

รายการอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย. น้ำเงี้ยว. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 6, หน้า 3221). กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ขอบคุณเนื้อหาจาก สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความเห็น

ความเห็น