ความเป็นมาของโครงการ

[adsense-2]

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือ โดยจัดให้เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสำนักหอสมุด มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นภาคเหนือที่พร้อมให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของประชาคมในมหาวิทยาลัย และสังคมภาคเหนือ ในปีงบประมาณ 2550 สำนักหอสมุดได้กำหนดแนวคิดในการให้บริการข้อมูลภาคเหนือ ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับสำนักบริการคอมพิวเตอร์ ในการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือในรูปแบบ e-Northern Information ในลักษณะมัลติมีเดีย และได้กำหนดเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการบูรณาการห้องสมุดที่มีชีวิต (Living Library) เพื่อพัฒนาสังคมการเรียนรู้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 เป็นต้นไป

ในปีงบประมาณ 2550 นี้ สำนักหอสมุดและสำนักบริการคอมพิวเตอร์ได้ร่วมกัน จัดทำและเผยแพร่ข้อมูล “อาหารพื้นบ้านล้านนา” บนเว็บไซต์ของศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ http://library.cmu.ac.th/ntic/lannafood เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาคเหนือ และอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา เผยแพร่เอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาล้านนา ตลอดจนดำเนินงานด้านบริการสารนิเทศที่สนองต่อนโยบายอาหารปลอดภัย (Food safety) ของรัฐบาล ในรูปแบบที่สามารถค้นหาข้อมูลได้ในรูปมัลติมีเดีย อย่างสะดวกรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา และเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง

ในการเผยแพร่ข้อมูลครั้งนี้ คณะทำงานได้รวบรวมอาหารพื้นบ้านล้านนาจากผู้รู้ด้านอาหารพื้นบ้านในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 29 ราย รวบรวมตำรับอาหารต่างๆ ที่ใช้ส่วนผสมที่มีอยู่เฉพาะถิ่นภาคเหนือ รวมถึงอาหารของชาวล้านนา ที่เป็นภูมิปัญญาในการปรุงอาหารของท้องถิ่น จำนวน 160 รายการ ครอบคลุมทุกประเภทอาหาร ตามวิธีทำ ได้แก่ แกง คั่ว จอ เจียว ตำ ยำ นึ่ง น้ำพริก มอบ ลาบ ส้า อ็อก แอ็บ อุ๊ก/ฮุ่ม หมักดอง เคี่ยว และขนม ของว่าง ให้ข้อมูลของอาหารแต่ละตำรับ ประกอบด้วย สูตรอาหาร วิธีทำ เคล็บลับในการปรุง และการเลือกส่วนผสม ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมพร้อมภาพประกอบ และประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ ด้านโภชนาการและคุณค่าทางยา

ความเห็น

ความเห็น