แกงบอน

แกงบอน บางแห่งเรียก หลามบอน (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 479) หลามบอนบางท้องที่ เช่น อำเภอแม่แจ่ม หมายถึง แกงบอนที่เอาไปใส่กระบอกไม้ไผ่ดิบ แล้วนำไปย่างถ่านไม้ เหมือนข้าวหลาม ไม่ผัดเครื่องแกงกับน้ำมันพืช (สุมาลี ทะบุญ, สัมภาษณ์, 24 มิถุนายน 2550) การเรียกแกงบอน บางคนถือเคล็ด ให้เรียกว่า แกงผักหวาน เพราะกลัวว่าจะทำให้คันปาก บางตำรับ ก่อนนำบอนมาแกง จะแขวนผึ่งลมไว้ 1 คืน ก่อนที่จะนำมาแกง (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 479)

[adsense-2]

ส่วนผสมแกงบอน
1. บอนต้นอ่อน 8 ต้น
2. หูหมู 1/2 ถ้วย
3. น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
4. ข่าหั่น 5 แว่น
5. ตะไคร้ 1 ต้น
6. กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ
7. ใบมะกรูด 5 ใบ
8. กระเทียมเจียว 2 ช้อนโต๊ะ
9. น้ำมันพืช 2 ช้อนชา

เครื่องแกงแกงบอน
1. พริกขี้หนูแห้ง 15 เม็ด
2. กระเทียม 10 กลีบ
3. หอมแดง 5 หัว
4. ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
5. กะปิ 1 ช้อนชา
6. ปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนโต๊ะ
7. เกลือ 1/2

วิธีทำแกงบอน

1. บอนปอกเปลือก หั่นเป็นท่อน ล้างน้ำ แล้วนำไปนึ่ง


2. นึ่งให้สุกจนเละ ประมาณ 30 นาที แล้วพักไว้


3. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด


4. เจียวกระเทียมพอให้เหลือง ใส่เครื่องแกงลงผัดให้หอม ใส่ข่าหั่น ตะไคร้ซอย ผัดให้เข้ากัน ใส่น้ำมะขามเปียก เกลือ ผัดให้เข้ากัน ใส่หูหมู ผัดให้เข้ากัน


5. ใส่บอนลงผัดให้เข้ากัน


6. ใส่ใบมะกรูดฉีก คนให้เข้ากัน ปิดไฟ

เคล็ดลับในการปรุง
การนึ่งบอน ต้องให้สุก จับดูแล้วนิ่มจนเละ ถ้าบอนไม่สุก จะทำให้เกิดอาการระคายคอ

เคล็ดลับในการเลือกส่วนผสม
เลือกใช้บอนต้นอ่อน พันธุ์สีเขียวสด และไม่มีสีขาวเคลือบอยู่ตามก้านและใบ บอนสีเขียวสด เรียกว่า บอนหวาน ส่วนชนิดที่มีสีซีดกว่า และนวลขาวกว่า เรียกว่า บอนคัน ส่วนของบอนที่นำมาแกงคือ หลี่บอน เป็นยอดอ่อน หรือใบอ่อนของบอนที่อยู่ใกล้โคนต้น ในการปรุงแกงบอน ถ้าไม่ใช้น้ำมะขามเปียก ให้ใช้น้ำส้มป่อยแทนได้ (สิรวิชญ์ จำรัส, 2550; รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 479)

รายการอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย. (2542). แกงบอน. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 1, หน้า 479). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ขอบคุณเนื้อหาจาก สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความเห็น

ความเห็น