หาดทรายดำ

หาดทรายดำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแหลมมะขาม อำเภอแหลมงอบ จ.ตราด หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่เมืองตราด และมี 5 แห่งในโลก นอกจากตราดแล้วก็ยังมี ที่ไต้หวัน มาเลเซีย(ลังกาวี) ฮาวาย แคลิฟอร์เนีย (ส่วนหาดทรายสีดำที่ปรากฏในประเทศอื่นนอกเหนือจากนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯหาดทรายดำบอกว่าเป็นคนละประเภทกันค่ะ)

เดิมหาดแห่งนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “หัวสวน” เป็นหาดที่เคยมีชาวมุสลิมเป็นเจ้าของ และเคยก่อตรั้งสุเหร่าขึ้นในบริเวณหัวสวน ต่อมาได้ย้ายออกไปกลายเป็นสถานที่ร้าง

หลังจากนั้นมีเรื่องเล่ากันว่าชาวบ้านยายม่อมเห็นหาดทรายสีแปลกประหลาดที่นี่ จึงมาลองนั่งหมกตัว ปรากฏว่าหาดทรายที่นี่สามารถทำให้ชาวบ้านคนนั้นที่เป็นโรคอัมพฤกษ์หายได้ จึงเป็นที่โจษจันกันไปว่า หาดทรายดำที่นี่สามารถรักษาโรคได้

ชื่อเสียงของหาดทรายดำจึงแพร่ขจรไปเริ่มจากในท้องถิ่น ก่อนแพร่ขยายไปในระดับประเทศ พร้อมกับสรรพคุณการรักษาโรคที่ถูกกล่าวขานเพิ่มมากขึ้นว่าสามารถรักษาโรคได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดตัว ปวดเข่า ปวดหลัง หรือแม้กระทั่งสามารถรักษาสิวฟ้าได้

นั่นจึงทำให้มีคนจำนวนมากเดินทางมาที่นี่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นมาเพื่อรักษาโรค โดยบางคนลงทุนถึงขนาดนำจอบเสียมมาขุดทรายเป็นหลุมแล้วนำตัวไปลงไปนอน หรือนำทรายมากลบร่างกายแบบที่เด็กๆนิยมเล่นกัน บ้างก็นำทรายไปปิดหน้าปิดตา บางคนหมกแขน ขา หมกตัว หมกกันถึง 3-4 ชั่วโมงหรือครึ่งค่อนวันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดีในเรื่องสรรพคุณการรักษาโรคนั้น ทางผู้ที่เกี่ยวข้องกับหาดทรายดำก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการส่งทรายสีดำไปพิสูจน์ พบว่า ทรายดำที่หาดแห่งนี้มีชื่อทางวิชาการว่า “ไลโมไนต์” (Limonite) เป็นแร่ที่เกิดจากการยุบตัวของเศษเหมืองและเปลือกหอยผสมด้วยควอตซ์ หรือเป็นแร่ที่เกิดจากการผุกร่อนของเหล็ก

ในทางการแพทย์ไลโมไนต์ไม่มีผลทางการรักษาโรค แต่กระนั้นก็ยังมีคนเชื่อกันว่าทรายที่นี่มีแร่ธาตุอื่นอยู่อีกและสามารถทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ถ้าได้นำเท้าไปหมกทรายสักประมาณ 10-20 นาที หรือถ้าได้ไปเดินบนชายหาดสีดำก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพเท้า

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป ส่วนที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วก็คือหาดทรายที่นี่เป็นทรายละเอียดสีน้ำตาลแดงเข้มไปจนถึงดำ เป็นหาดทรายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแหลมมะขาม ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ด้วยมีลักษณะเป็นหาดทรายในพื้นที่ป่าชายเลนที่แต่ละปีจะมีลมมรสุมพัดเอาทรายมาทับถมกันอยู่ที่หน้าอ่าวป่าชายเลน เกิดเป็นเวิ้งหาดทรายดำอันแปลกประหลาด

[adsense-2]

ในขณะที่ป่าชายเลนที่นี่ ณ ปัจจุบันจัดว่าเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรไว้นักท่องเที่ยวผู้สนใจได้เดินยืดเส้นยืดสายออกกำลังกายชื่นชมสรรพชีวิตในผืนป่าชายเลนไปจนถึงยังพื้นที่หาดทรายดำอันน่าทึ่ง

โดยเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้สายนี้ มีจุดน่าสนใจ อาทิ จุดชมปลาตีนที่ตัวใหญ่ใช่ย่อย,จุดชมปูแสมที่มีทั้งพันธุ์สีดำกับพันธุ์สีสวย ที่มีก้ามแดง ช่วงหัวสีเขียวอ่อนอมฟ้า กระดองและขาสีน้ำเงินยามถูกน้ำสะท้อนแสงเป็นประกายสวยงาม,จุดชมปูก้ามดาบ,จุดชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน,จุดดูนกป่าชายเลนและนกประจำถิ่น อาทิ เหยี่ยว นกพญาปากกว้งท้องแบน นกยางกรอก,จุดชมหอยขี้ค้อนตัวตัวรูปทรงแหลมเป็นกรวยคล้ายเจดีย์ ที่ อ.สมโภชน์บอกว่าเนื้อของมันไม่อร่อยจึงไม่มีคนนิยมกิน ซึ่งถ้าเนื้อของมันอร่อย ปานนี้คงถูกจับกินหมดเกลี้ยงไปแล้ว

นอกจากจุดหลักๆที่กล่าวมาแล้วป่าชายเลนที่นี่ยังมีสรรพชีวิตอีกมากมาย อาทิ ปูดำ หอยขี้กา หอยจุ๊บแจง หอยแมลงภู่ หอยนางรม เต่า งู ลิง ค้างคาว แมลงต่างๆ กิ้งก่า โดยชีวิตเหล่านี้อยู่อาศัยร่วมกันในต้นไม้ป่าชายเลนใหญ่น้อย อาทิ โกงกาง ตะบูนดำ ลำพูทะเล ตาตุ่มทะเล แสมทะเล ฝาด โปรงแดง เป็นต้น

อีกหนึ่งความประทับใจของที่หาดทรายดำนี้ นั้นคือจุดชิมวิวพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งสวยงามมาก ๆ เหมาะกับคู่รักมาเที่ยวชมพระอาทิตย์ตกดินด้วยกัน หรือเพื่อน ๆ ที่ชอบถ่ายภาพ ที่นี่ก็มีวิวถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดินสวย ๆ ไว้ให้ได้เก็บภาพความประทับใจกลับไปแน่นอน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สนง.จังหวัดตราด (039) 511 282
ประชาสัมพันธ์จังหวัด (039) 530 585
ททท.ภาคกลางเขต 5 (039) 597 259-60
สถานีตำรวจภูธรเมืองตราด (039)-511-035
โรงพยาบาลตราด (039) 511 040-1
โรงพยาบาลกรุงเทพ-ตราด (039) 522 555
คลินิกเกาะช้างอินเตอร์เนชั่นแนล (039) 551 151
โรงพยาบาลเกาะช้าง (039) 586 131
โรงพยาบาลเกาะกูด (039) 521 852
โรงพยาบาลแหลมงอบ (039) 597 040
โรงพยาบาลบ่อไร่ (039) 591 040
โรงพยาบาลเขาสมิง (039) 599 114
โรงพยาบาลคลองใหญ่ (039) 581 116

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

หาดทรายดำ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางปิด ห่างจากอำเภอแหลมงอบประมาณ 12 กิโลเมตร หากมาด้วยรถส่วนตัวใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3156 เลยทางแยกแหลมงอบ – บ้านแสนตุ้งประมาณ 8 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 (บ้านน้ำเชี่ยว)

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น