ปรางค์กู่สวนแตง

ปรางค์กู่สวนแตง ตั้งอยู่บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ บุรีรัมย์ ตรงข้ามโรงเรียนกู่สวนแตงวิทยาคม ปรางค์กู่สวนแตง เป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว อีก 3 ด้านสลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าที่มุขยื่นออกมาเล็กน้อย ตรงหน้าบันเหนือประตูหลอกทั้ง 3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ มีขนาดเล็กกว่า ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้าเช่นกัน ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ก่อเรียบทึบสำหรับบนพื้นหน้าปรางค์มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่น ๆ ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัวยอดปรางค์ กลีบขนุนรูปนาค 6 เศียร อายุของกู่สวนแตงสามารถกำหนดได้จากทับหลังของปรางค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครและที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบนครวัด ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ตรีวิกรม (ตอนหนึ่งในวามนาวตาร แสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฏราช ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทร ทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฯลฯ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง

คำว่ากู่ เป็นภาษาอีสาน แปลว่าปรางค์ หรือปราสาท กู่สวนแตง ก็คือปราสาทซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ แต่กู่สวนแตง เป็นปราสาทขนาดเล็ก ไม่มีโคปุระหรือประตูทางเข้า ไม่มีกำแพงแก้ว และระเบียงคตเหมือนกับปราสาทเมืองต่ำ มีแต่่ปราสาทก่อด้วยอิฐ จำนวน 3 องค์ ตั้งเรียงกันเป็นแถว บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริเวณด้านหน้ามีบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง 2 หลัง และสระน้ำโบราณ 1 สระ

[adsense-2]

สิ่งที่น่าสนใจ

  • ปราสาทก่อด้วยอิฐ จำนวน 3 องค์ ตั้งเรียงกันตามแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันใดทางขึ้นตรงกลางทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว ปราสาทประธานซึ่งอยู่ตรงกลางจะมีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า มีประตูทางเข้า ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอก ปราสาทบริวารซึ่งตั้งอยู่ข้างซ้ายขวาของปราสาทประธานมีขนาดเล็กกว่า มีประตูทางเข้าทางด้านหน้าด้านเดียวเช่นกัน ส่วนอีกสามด้านเป็นผนังเรียบ
  • บรรณาลัย บริเวณด้านหน้าปราสาทมีบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลงจำนวน 2 หลัง ปัจจุบันเหลือแต่ส่วนฐาน
  • สระน้ำโบราณ บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยคันดิน จำนวน 1 สระ ปัจจุบันตื้นเขิน ปรากฏเหลือให้เห็นอยู่เพียงเล็กน้อย
  • ศิลปะวัตถุ ข้างบรรณาลัยหลังด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีโบราณวัตถุประเภทหินทราย เช่น จอมโมฬี กลีบขนุน และรางนำ้มนต์ ตั้งทิ้งไว้ มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ลวดลายลบเลือน
  • ทับหลัง ได้พบทับหลังที่กู่สวนแตง จำนวน 7 ชิ้น เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ 3 แห่ง คือ พิมาย 5 ชิ้น ขอนแก่น 1 ชิ้น และ พระนคร 1 ชิ้น ทับหลังที่เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย คือ ทับหลังแกะสลักเรื่องพระวิษณุตรีวิกรม หรือ ย่างสามขุม ทับหลังแกะสลักเรื่องกูรมาวตารของพระวิษณุ หรือ การกวนเกษียรสมุทร ทับหลังแกะสลักเรื่องศิวนาฏราช ทับหลังแกะสลักรูปขบวนแห่ และทับหลังแกะสลักรูปเทวดานั่งเหนีือเกียรติมุข ส่วนทับหลังที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น 1 ชิ้น คือ ทับหลังแกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และทับหลังที่เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครอีก 1 ชิ้น คือ ทับหลังแกะสลักเรื่อง พระวิษณุอนันตศายิน ปัทมนาภะ หรือนารายณ์บรรทมสินธ์ุ ทับหลังทั้ง 7 ชิ้นนี้ เป็นส่วนประดับตกแต่งที่สำคัญของประตูทางเข้าองค์ปราสาท ดังนั้น ทับหลังจึงได้รับการแกะสลักเป็นลวดลายและเรื่องราวต่างๆอย่างประณีตสวยงาม และจากลวดลายและเรื่องราวที่แกะสลักบนทับหลังนี้เอง ได้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษาค้นคว้าหาวิวัฒนาการของลวดลาย จนสามารถนำไปใช้กำหนดอายุโบราณสถานเขมรได้อย่างแม่นยำ

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ททท.สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่ จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ) อ.เมือง สุรินทร์ โทร. (044) 518-152
ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-957
ท่าอากาศยานจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 614-123
บมจ.การบินไทย โทร. (044) 625-066-7
ไปรษณีย์บุรีรัมย์ โทร. (044) 611-142
โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-262
ตำรวจทางหลวง โทร. (044) 611-992, 1193
สำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-449
สถานีตำรวจจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-234
สถานีขนส่งจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-253

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

จากจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2074 ไปทางอำเภอคูเมือง และเข้าอำเภอพุทไธสง จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 202 จากอำเภอพุทไธสงไปอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา และก่อนถึงสามแยกกิโลศูนย์ มีทางแยกด้านซ้ายมือเข้าโรงเรียนกู่สวนแตงพิทยาคม โบราณสถานจะอยู่ทางขวามือติดกับสำนักสงฆ์กู่สวนแตง ระยะทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ถึงปรางค์กูสวนแตงประมาณ 100 กิโลเมตร

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น