ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน อ.นาโพธิ์

ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน อ.นาโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองโก หมู่ที่ 6 ตำบลดอนกอก อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ประชาชนในพื้นที่อำเภอนาโพธิ์ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมาตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่งสืบเชื้อสายมาจากลาวพรวน ที่มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2314 และถ่ายทอดให้แก่ลูกหลาน จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนผ้าไหมผลิตขึ้นเพื่อใช้เอง แลกสิ่งของ และใช้ในงานพิธีสำคัญ ส่วนมากเป็นที่นิยมสวมใส่ของผู้สูงอายุ ในปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบ ลวดลาย และสีสรรขึ้น เพื่อความเหมาะสม แก่ยุกต์สมัย และตรงความต้องการของตลาด อำเภอนาโพธิ์จึงได้ส่งเสริมอาชีพทอผ้าไหมแก่ประชาชน โดยการสร้างศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ขึ้นในปี 2542 และได้ มีการพัฒนาคุณภาพด้านการผลิตและการตลาดอย่างสม่ำเสมอ

จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2545 รัฐบาลได้มีโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ขึ้น ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ ตามโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และได้ส่งผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรรได้ระดับ 5 ดาว พร้อมทั้งส่งผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสมาชิกเข้าประกวด OTOP ระดับประเทศได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทผ้าเชิงพานิชย์ และในปี พ.ศ.2547 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมขึ้นอีกระดับ หนึ่ง รับการคัดสรร OPC ระดับ 5 ดาว

ประวัติความเป็นมา

ประชาชนในพื้นที่ อ.นาโพธิ์ มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และถ่ายทอดให้แก่ลูกหลาน จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสตรีในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเรียนทอผ้าไหม ในสมัยก่อนการทอผ้าไหมเป็นการทอสำหรับใช้เองในครัวเรือน นิยมสวมใส่เมื่อมีงานที่สำคัญ เช่นงานแต่งงาน งานบวช งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานประเพณีในหมู่บ้าน/ตำบลจัดขึ้น

เมื่อปี พ.ศ. 2530 มีชาวบ้านหนองโกได้เดินทางไปรับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จังหวัดสกลนคร และนำผ้าไหมไปถวายด้วยพระองค์ทรงโปรดผ้าไหมทรงรับไว้ และชื่นชอบมาก และทรงพระราชทานเงินให้เป็นค่าผ้าไหม สร้างความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาหมู่บ้านหนองโก ได้คัดเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นสุภาพสตรี คือ นางนิสา ประดา เป็นผู้ที่มีฝีมือและทอผ้าไหม เป็นประจำ ได้ประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้าน เพื่อรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้น ชื่อ “ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองโก” เริ่มแรกยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก จวบจนได้รับคำแนะนำปรึกษาจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอนาโพธิ์ มีการฝึกอบรมให้ความรู้การพัฒนาด้านการผลิต การบริหารจัดการกลุ่ม การส่งเสริมด้านการตลาด ทำให้กลุ่มมีการพัฒนาผ้าไหมมัดหมี่ที่มีสีสัน ลวดลายสวยงาม โดยที่ยังความเป็นผ้าไหมมัดหมี่แบบดั้งเดิมไว้ และพัฒนาลวดลายใหม่ให้เข้ากับสมัยใหม่

กลุ่มทอผ้าไหม อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้พัฒนาผ้าไหมมัดหมี่ มาเป็นเวลา 23 ปี สร้างชื่อเสี่ยงจนเป็นที่รู้จักด้านผ้าไหมมัดหมี่ที่มีความสวยงาม ประณีตและเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ขายให้กับโครงการศิลปาชีพสวนจิตลดา ลูกค้าคือบุคคลสำคัญความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าคือความสุขของ “ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองโก”

ปัจจุบันการทอผ้าไหมมีอยู่ทั่วไปทุกอำเภอแต่แหล่งทอผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดคือที่อำเภอนาโพธิ์ โดยเฉพาะที่บ้านโคกกุง มีศูนย์พัฒนาผ้าไหมและกลุ่มแม่บ้านเลี้ยงไหมนอกจากนี้ยังมีที่บ้านมะเฟือง อำเภอพุทไธสง ซึ่งทอผ้าไหมด้วยกี่ธรรมดาหรือกี่ชาวบ้าน การทอผ้าไหมที่อำเภอพุทไธสงและอำเภอนาโพธิ์ จะมีการทอผ้ามัดหมี่ลายพื้นเมืองดั้งเดิมและแบบลายประยุกต์ โดยเฉพาะผ้ามัดหมี่ตีนแดง ซึ่งเป็นผ้าไหมมัดหมี่ทอหัวซิ่นเป็นพื้นสีแดงไม่มีลวดลายส่วนลายตัวซิ่นนิยมใช้ลายฟันเลื่อย ลายนาค เป็นต้น

ผ้าไหมที่อำเภอนาโพธิ์จะมีทั้งผ้าไหมพื้นไหมหางกระรอก ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า และผ้ามัดหมี่ การทอผ้ามัดหมี่จะมีลายพื้นเมืองดั้งเดิม และลายที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ลักษณะเด่นของผ้าไหมบุรีรัมย์ คือเนื้อจะแน่น เส้นไหมละเอียด ถ้าเป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นแบบพื้นเมืองดั้งเดิมจะนิยมใช้สีขรึมๆ ไม่ฉูดฉาด ปัจจุบันผ้าไหมมัดหมี่ยังได้พัฒนาการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าไหมหลากหลายชนิดตามความต้องการของตลาด

[adsense-2]

 จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
ผลิตจากไหมไทยแท้ ทอมือ ที่สั่งสมประสบการณ์อันยาวนานมาจากบรรพบุรุษกว่า 200 ปี ได้รับการพัฒนาคุณภาพด้านการผลิตจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ของคน ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เนื้อ เนียน แน่น หนา นุ่ม สวมใส่สบาย ไม่ตกสี

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน อ.นาโพธิ์ ประธานกลุ่ม คือ แม่ประคอง กาสะฐิติ ที่อยู่ เลขที่ 9 หมู่ที่ 13 ต.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ 31230 หรือ ติดต่อที่เบอร์ 081-967-3849
ททท.สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่ จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ) อ.เมือง สุรินทร์ โทร. (044) 518-152
ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-957
ท่าอากาศยานจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 614-123
บมจ.การบินไทย โทร. (044) 625-066-7
ไปรษณีย์บุรีรัมย์ โทร. (044) 611-142
โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-262
ตำรวจทางหลวง โทร. (044) 611-992, 1193
สำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-449
สถานีตำรวจจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-234
สถานีขนส่งจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-253

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์- พุทไธสง ทางหลวงหมายเลข 2074 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 202 บริเวณกิโลเมตรที่ 21 มีทางแยกเข้าตัวอำเภอนาโพธิ์ เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร สอบถามเพิ่มเติมที่เบอร์ 044 – 686157

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น