เรือรบหลวงจักรีนฤเบศร

เรือรบหลวงจักรีนฤเบศร จอดเทียบท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งและ เฮลิคอปเตอร์ ของราชนาวีไทย เป็นเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีมาในกองทัพเรือไทย. เรือลำนี้ได้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือบาซาน เมืองโรตา ในประเทศสเปน และได้เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ในยามปรกติ เรือจักรีนฤเบศร์จะเป็นฐานปฏิบัติ การคุ้มครอง ประโยชน์ของชาติทางทะเล ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเล. ในยามสงคราม เรือจักรีนฤเบศร์ จะเป็นเรือธง คือ เรือที่ทำหน้าที่ควบคุมและบังคับบัญชากองเรือในทะเล เพื่อควบคุมการปฏิบัติงานป้องกันภัยทางอากาศ, การต่อสู้ทางน้ำ และปราบเรือดำน้ำของผู้ที่เข้ามารุกรานประเทศ

เรือรบหลวงจักรีนฤเบศร ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “จักรีนฤเบศร์” หมายถึง ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง ราชวงศ์จักรี แนวความคิดในการว่าจ้างสร้างเรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 หลังจาก “พายุใต้ฝุ่นเกย์” ได้เข้าพัดถล่มอ่าวไทยบริเวณจังหวัดชุมพร กองทัพเรือซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังไม่มีเรือขนาดใหญ่พอจะทนทานต่อสภาพคลื่นลมของท้องทะเลในขณะที่เกิดพายุไต้ฝุ่นได้ ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บนแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและชาวประมงเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ประกอบกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยที่ได้ขยายออกไปถึง 200 ไมล์ทะเล กองทัพเรือจึงเล็งเห็นว่าควรจัดซื้อจัดสร้างเรือขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อใช้ในภารกิจการกู้ภัยและภารกิจการปกป้องรักษาอธิปไตยของประเทศชาติ จนท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีในยุคสมัยนั้นก็ได้มีมติอนุมัติให้มีการว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกอากาศยานในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาลเป็นจำนวน 1 ลำ ในวงเงิน 7,100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2535

เรือหลวงจักรีนฤเบศรต่อขึ้นที่อู่ต่อเรือบาซาน เมืองเฟร์รอล ประเทศสเปน มีระวางขับน้ำเต็มที่ 11,544 ตัน (ระวาง : น. ที่บรรทุกของในเรือ , ส่วน , ตอน , ตำแหน่ง , ทำเนียบ) สามารถทนต่อคลื่นลมรุนแรงได้ในระดับ 9 (ทนคลื่นซึ่งมีความสูงได้ถึง 13.8 เมตร) ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2540 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญทั้งในยามสงบและในยามสงครามดังต่อไปนี้

ยามสงบ : ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล , ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอื่นๆ , ปฏิบัติการอพยพประชาชน , ปฏิบัติการควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อมในท้องทะเลรวมถึงบริเวณชายฝั่ง , คุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลของชาติ

ยามสงคราม : ทำหน้าที่เป็นเรือธงควบคุมบังคับบัญชากองเรือในท้องทะเล , ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือ , ควบคุมการปฏิบัติการป้องกันภัยผิวน้ำให้กับกองเรือ , ควบคุมการปฏิบัติการปราบเรือดำน้ำให้กับกองเรือ , สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ

ภายหลังจากขึ้นระวางประจำการในปี พ.ศ. 2540 เรือหลวงจักรีนฤเบศรก็มีโอกาสได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ ตามที่ได้รับมอบหมายหลายต่อหลายครั้ง อาทิเช่น ภารกิจช่วยเหลือชาวประมงที่ประสบภัยจาก “พายุไต้ฝุ่นลินดา” เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 , ภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงเก็บกู้ศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2547 , ภารกิจลำเลียงผู้ประสบภัยจาก “เกาะเต่า” จ.สุราษฎร์ธานี มายัง “ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด” จ.ชลบุรี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 , ฯลฯ

ใกล้ๆกับเรือหลวงจักรีนฤเบศร มี “เรือหลวงสิมิลัน” ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ใกล้ๆ กันด้วย “เรือหลวงสิมิลัน” เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนคนทั่วไป จากเหตุการณ์ที่โจรสลัดโซมาเลียบุกยึดเรือสินค้าไทยซึ่งกำลังแล่นอยู่ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ในครั้งนั้นทางรัฐบาลไทยได้มอบหมายให้กองทัพเรือส่ง “เรือหลวงสิมิลัน” และ “เรือหลวงปัตตานี” เดินทางไปปฏิบัติภารกิจปราบปรามโจรสลัดร่วมกับกองกำลังผสมทางทะเลของสหภาพยุโรป

“เรือหลวงสิมิลัน” เป็นเรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ของกองทัพเรือไทย ได้รับการต่อจากอู่ต่อเรือหูตง นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2539 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 22,000 ตัน บนเรือมีดาดฟ้าและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สำหรับเฮลิคอปเตอร์รุ่น S – 70B หรือ MH – 60S จำนวน 1 เครื่อง เพื่อการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมในแนวดิ่ง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่อุตส่าห์จัดสรรเวลามาเยี่ยมชม “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” ได้แล้ว ก็อย่าลืมแวะขึ้น “เรือหลวงสิมิลัน” ซึ่งจอดอยู่ใกล้ๆ กันด้วยนะคะ (ระเบียบปฏิบัติในการเข้าเยี่ยมชม “เรือหลวงสิมิลัน” จะเหมือนๆ กับระเบียบปฏิบัติในการเข้าเยี่ยมชม “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” แตกต่างกันเพียงแค่เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปภายในตัวเรือหลวงสิมิลันค่ะ)

[adsense-2]

ข้อปฏิบัติในการเยี่ยมชมเรือ
1.ร.ล.จักรีนฤเบศร เปิดให้เยี่ยมชมระหว่างเวลา 09.00 น. – 17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2.เรือรบเป็นสถานที่ราชการ โปรดแต่งกายสุภาพ และงดสูบบุหรี่
3.ห้ามนำกระเป๋าสัมภาระ กระเป๋าหรืออาหาร เครื่องดื่ม สัตว์เลี้ยง และกล้องวีดีโอขึ้นบนเรือ
4.ห้ามพกอาวุธ และวัตถุอันตรายขึ้นบนเรือโดยเด็ดขาด
5.การเยี่ยมชมเรือให้ใช้เส้นทางเยี่ยมชม เฉพาะบริเวณที่กำหนดเท่านั้น และโปรดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
7.โปรดแสดงบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวข้าราชการกับเจ้าหน้าที่
8.บุคคลซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายและไม่สามารถปฏิบัติตามข้อปฏิบัติดังกล่าวได้ เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เยี่ยมชมเรือ

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 09.00-16.00น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศต้องทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการกองเรือ ยุทธการ สัตหีบ ชลบุรี 20180 หากต้องการเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะแจ้งชื่อหน่วยงานหรือคณะ จำนวนผู้เยี่ยมชม และวันเวลาที่ต้องการ เยี่ยมชม และส่งถึง กองเรือยุทธการ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
เรือรบหลวงจักรีนฤเบศร โทร. (024) 661 180 ต่อเรือรบหลวงจักรีนฤเบศร
กองกิจการพลเรือน กองเรือยุทธการ (038) 439 479 , (038) 437 096 หรือ (080) 588 5077
ททท. ภาคกลาง เขต 3 ชลบุรี (038) 427 667, (038) 428 750
ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว ททท. 1672
Call Center พัทยา 1337
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784
ประชาสัมพันธ์จังหวัด (038) 279 448
สำนักงานจังหวัดชลบุรี (038) 275 034
ตำรวจท่องเที่ยว (038) 425 440, 1155
ตำรวจท่องเที่ยวพัทยา (038) 410 044, (038) 425 937
ตำรวจทางหลวง ส.ทล.2 กก.3 จ.ชลบุรี (038) 392 001, 1193
ตำรวงภูธร ภาค 2 จังหวัดชลบุรี (038) 275 0213

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนบุคคล จากตัวอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง จนพบสี่แยกโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จากสี่แยกดังกล่าวให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3126 ขับรถตรงไปเรื่อยๆ จนสุดถนนจะถึง “ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด” โดยปกติในกรณีที่ไม่มีคำสั่งให้ออกปฏิบัติภารกิจใดๆ ทั้ง “เรือหลวงจักรีนฤเบศร” และ “เรือหลวงสิมิลัน” จะจอดเทียบอยู่ ณ ท่าเรือแห่งนี้ (จากตัวอำเภอสัตหีบจะมีป้ายบอกทางไปยังท่าเทียบเรือจุกเสม็ดอยู่เป็นระยะๆ ค่ะ)

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น