ปราสาทครบุรี

ปราสาทครบุรี ตั้งอยู่ที่บ้านปรางค์บุรี ตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ ประมาณ 3 ไร่ 1 งาน 86 ตารางวา ปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของโรงเรียนบ้านครบุรีนครธรรมโฆสิตวิทยาคาร

ราว พ.ศ.1300-1800 วัฒนธรรมขอมได้แพร่เข้าสู่อีสานทางปักธงชัยและช่องตะโกลงสู่ชุมชนในลำน้ำลำพระเพลิง ลำน้ำจักราช และลำน้ำลำปลายมาศ ทำให้เกิดบ้านเมืองแบบวัฒนธรรมขอมเกิดขึ้นมากมายในย่านนี้ รวมถึงฝั่งตะวันตกของลำน้ำลำปลายมาศ ที่ตั้งของเมืองครบุรี หรือทางใต้ลำน้ำมูลลงมา บ้านเมืองแบบที่ได้รับวัฒนธรรมขอมเหล่านี้ จึงนับเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมไปด้วย

มีหลักฐานวัฒนธรรมในครบุรี คือ ปราสาทครบุรี เป็นอาคารก่อด้วยศิลาแลง ตามแบบวัฒนธรรมขอม จากองค์ประกอบผังเชื่อว่าคือ “อโรคยาศาล” หรือที่นักวิชาการจะแปลว่า โรงพยาบาล ที่มีจารึกปราสาทตาพรหมระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม โปรดให้สร้างอโรคยศาล ขึ้นจำนวน 102 แห่ง ในทุกๆ วิษัย (เมือง) แต่ในขณะเดียวกันนักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า อโรคยาศาล อาจไม่ใช่โรงพยาบาลที่มีการรักษาคนป่วยจริงแต่เป็นชื่อสัญลักษณ์ของกลุ่มศาสนสถานหรืออาคารประเภทหนึ่งที่มีหน้าที่บางอย่าง

นอกจากนี้ที่บ้านเฉลียงโคก ต.เฉลียง อ.ครบุรี มีภาพสลักในถ้ำวัวแดงเป็นรูปอุมามเหศวร คือภาพพระอิศวรประทับนั่งชันเข่าโอบกอดพระอุมาบนหลังโคนนทิ มีอายุราว พ.ศ.1600-1650 รุ่นราวคราวเดียวกับปราสาทพิมายในลุ่มน้ำมูล และปราสาทนครวัดในกัมพูชา

ปราสาทครบุรี เป็นศาสนสถานขอมโบราณ ที่เรียกกันว่า “อโรคยาศาลา” เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ประกอบด้วยกำแพงแก้วล้อมรอบ มีแผนผังเป็นรูปกากบาท สร้างด้วยศิลาแลง ที่ปีกซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีชิองหน้าต่าง 1 ช่อง มีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าเป็นมุขยื่น อยู่ทางทิศตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ส่วนยอดพังทลายลงมาจนหมด เหลือเพียงเรือนธาตุ

กึ่งกลางศาสนสถาน เป็นที่ตั้งของปรางค์ประธาน ซึ่งเป็นที่ประกอบศาสนกิจในสมัยโบราณ สร้างด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม กรอบประตูและเสาประดับทำด้วยหินทราย ทับหลังหินทรายแกะสลักลวดลายที่ควรจะมีอยู่สำหรับโบราณสถานเช่นนี้ได้สูญหายไปแล้ว

ภายในกำแพงแก้วมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยทำประตูทางเข้าทางทิศตะวันตก อาคารนี้เรียกว่า บรรณาลัย สร้างด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกัน กรอบประตูเป็นหินทราย

ภายนอกกำแพงแก้วที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสระน้ำ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากรุด้วยศิลาแลง ถัดไปทางทิศตะวันออกเป็นสระน้ำอีกสระหนึ่งซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นสระโบราณคู่มากับปรางค์หรือไม่ เพราะสระน้ำที่อยู่มุมก้นกำแพงแก้ว ซุ้มประตูและสิ่งก่อสร้างภายในกำแพงแก้ว รวมกันแล้วเป็นองค์ประกอบที่ครบพอดีสำหรับศาสนสถานหนึ่งๆของขอมในหน่วยที่เล็กที่สุด

[adsense-2]

หากพิจารณาจากลักษณะการวางช่องหน้าต่างของซุ้มประตู และการเข้าหินกรอบประตู แสดงลักษณะของสิ่งก่อสร้างประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 (โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานเร่งด่วน กองโบราณคดี) แต่ถ้าหากพิจารณาจากแผนผังของโบราณสถาน ศาสนสถานแห่งนี้อาจจะเป็นอโรคยาศาล เช่นเดียวกับอโรคยาศาลอื่น ๆ ที่พบจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นหลักฐานบ่งชี้ที่แน่ชัดว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18

ปราสาทครบุรีได้รับการการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2479 คนในท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่า เดิมปราสาทแห่งนี้มีโบราณวัตถุ เป็นรูปเคารพหลายอัน แต่ได้มีการลักลอบขโมยและขุดนำวัตถุโบราณเหล่านั้นไป ปัจจุบันจึงคงเหลือแค่ซากหักพังของโบราณสถานเท่านั้น อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่จากอุทยานประวัติศาสตร์พิมายเดินทางเข้ามาดูโบราณสถานแห่งนี้เดือนละครั้ง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ททท. สำนักงานนครราชสีมา (นครราชสีมา ชัยภูมิ) อ.เมือง นครราชสีมา โทร. (044) 213-666, (044) 213-030
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. (044) 251-818
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155, (044) 341-777-9
ท่าอากาศยานนครราชสีมา โทร. (044) 259-524
บมจ. การบินไทย (สนามบิน) โทร. (044) 255-425
โรงพยาบาลมหาราช โทร. (044) 254-990-1
สถานีขนส่งแห่งที่ 1 โทร. (044) 242-889
สถานีขนส่งแห่งที่ 2 โทร. (044) 256-006-9
สถานีตำรวจภูธร โทร. (044) 242-010
สถานีรถไฟ โทร. (044) 242-044
สำนักงานจังหวัด โทร. (044) 243-798

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

จากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 224 ผ่านอำเภอโชคชัยตรงเข้าถนนสาย 2071 ถึงกิโลเมตรที่ 20 มีทางแยกขวาไปอีก 5 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมือง 55 กิโลเมตร

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น