วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในวัดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนคร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเป็นที่พำนักของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสีอีกด้วย วัดแห่งนี้จึงได้รับการก่อสร้างและดูแลตลอดเวลาจวบจนถูกทำลายลงหลังเสียกรุงครั้งที่ 2

ประวัติวัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุอยู่ทางทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง วัดนี้ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 1927 หลังจากเสร็จศึกทางเหนือ สมเด็จพระราเมศวรเสด็จกลับสู่พระนครแล้ว วันหนึ่งเสด็จออกทรงศีลยังพระที่นั่งมังคลาภิเษก เมื่อเพลาสิบทุ่มทอดพระเนตรไปทางทิศตะวันออกเห็นพระบรมสาริกธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ จึงทรงเรียกปลัดวังให้เอาพระราชยานทรงเสด็จไป แล้วโปรดให้เอากรุยปักขึ้นไว้ตรงที่ๆ พระบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ สถาปนาพระมหาธาตุขึ้นที่นั่นสูง 19 วา ยอดสูง 3 วา ให้ชื่อวัดมหาธาตุ

เรื่องสร้างวัดมหาธาตุนี้ ปรากฏในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า สร้างในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 1917 ไม่ใช่แผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร พระมหาธาตุสูง 1 เส้น 3 วา หรือ 23 วา ปรางค์ของวัดนี้สร้างด้วยศิลาแลง ปรากฏว่าในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้พังลงมาถึงชั้นครุฑ คือ ชั้นที่มีรูปครุฑปูนปั้นประดับอยู่ แต่ยังมิได้มีการซ่อม ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ. 2176 จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยก่อให้สูงกว่าเดิมอีกและใช้อิฐก่อแทรกเข้าไปด้วย รวมเป็นสูง 25 วา เมื่อก่อเสร็จแล้วจึงโปรดให้เอาไม้มะค่ามาแซกตามอิฐแล้วถือปูนพอกเข้าไปใหม่แต่ยอดก็ได้พังลงมาอีก ในปัจจุบันคงเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น เมื่อ พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดค้นซากปรางค์ที่วัดมหาธาตุนี้ได้พบของโบราณบรรจุไว้ในกรุหลายอย่าง โดยเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุในสถูปเงิน นาค ในสถูปแก้วมีผอบทองเล็กๆ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพลอยสีต่างๆ วางล้อมไว้โดยรอบ และยังมีแหวนทองคำหลายสิบวง และพระพุทธรูปทองคำและเครื่องประดับอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

เศียรพระพุทธรูปวัดมหาธาตุ Unseen Thailand พระเศียรขององค์พระพุทธรูปที่เห็นอยู่บนรากต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อุ้มเศียรพระไว้ โดยยังคงมีลักษณะตั้งตรง โดยไม่มีผู้ใดรู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด หลังจากที่ได้มีช่างภาพเข้าไปถ่ายภาพนี้ออกมาเผยแพร่ วัดมหาธาตุก็กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็มีการกล่าวถึงวัดมหาธาตุว่า หากมาอยุธยา จะต้องได้มาเห็นเศียรพระพุทธรูปวัดมหาธาตุให้ได้ด้วย วัดมหาธาตุแห่งนี้ก็กลายเป็นมาร์คแลนด์ ของนักท่องเที่ยวที่มาพระนครศรีอยุธยาอีกแห่งหนึ่งและเป็นอันดับต้นๆ ด้วย

พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าของวัด บริเวณใต้ฐานชุกชีภายในพระวิหาร ได้ค้นพบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก 5 ใบ ภายในบรรจุแผ่นทองดุนลายรูปพระพุธรูป และรูปสัตว์ต่างๆ

พระปรางค์ประธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยกสูง โดยมีระเบียงคดล้อมรอบทั้งสี่ด้าน เป็นปรางค์ในยุคแรกของสมัยอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม โดยมีปรางค์บริวารประจำอยู่ทั้งสี่ทิศ เมื่อปี พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์ ได้พบกรุใต้ห้องเรือนธาตุของพระปรางค์ พบตลับทองรูปปลาภายในบรรจุสิงโตทองคำ ด้านล่างกรุพบ ผอบศิลาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในมีสถูปซ้อนกัน 6 ชั้น ชั้นในสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันเก็บรักษาและประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหลังปรางค์ประธาน ผนังก่ออิฐเหลืออยู่บางส่วน ภายในปรากฏเสาแปดเหลี่ยม ด้านหลังเป็นที่ตั้งของฐานชุกชี

เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ชั้นบนเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ลดหลั่นกันขึ้นไป 4 ชั้น ทำซุ้มอยู่โดยรอบทั้ง 8 ด้าน ผนังประดับด้วยปูนปั้นรูปเทวดา นับเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมองค์เดียวที่พบในพระนครศรีอยุธยา

[adsense-2]

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดให้เข้าชมทุก วันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.

อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท และตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30น.-21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถานค่ะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทร. (035) 246 076
สภ.อ. พระนครศรีอยุธยา (035) 241 139 , (035) 243 444
เทศบาลพระนครศรีอยุธยา (035) 252 236
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา (035) 322 555

การเดินทาง

รยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงสี่แยกไฟ แดงที่ 2 เลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนัก ผ่านบึงพระราม จะเห็นวัดมหาธาตุอยู่ทางซ้ายมือ

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น