วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร เป็นวัดคู่เมืองยโสธรมาตั้งแต่สร้างเมือง (บ้านท่าสิงห์เดิม) มีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระธาตุยโสธร(พระธาตุอานนท์) เป็นพระธาตุเก่าแก่ และ เป็นพระธาตุที่สำคัญองค์หนึ่งในประเทศไทยทางภาคอีสาน ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ พระธาตุพระอานนท์ มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และหอไตร นอกจากนี้ยังมีพระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง พระคู่บ้านคู่เมืองยโสธรที่ผู้คนหยั่งไหลมากราบไหว้ขอพรกันตลอดทั้งปีอีกด้วยค่ะ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  • พระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรคนแรก ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่ หอไตร ตั้งอยู่กลางสระ
  • พระธาตุยโสธร หรือพระธาตุอานนท์ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ เป็นพระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เป็นเจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงพรหมสี่หน้า สูง 25 เมตร 30 เซนติเมตร  ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ยอดธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบ มี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อย ภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ พระเถระของพระพุทธเจ้า การก่อสร้างได้รับอิทธิพลจากศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับประวัติการตั้งเมืองและประวัติของวัดมหาธาตุฉบับหนึ่งว่า สร้างราว พ.ศ. 2321 โดยท้าวหน้า ท้าวคำสิงห์ ท้าวคำผา ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีเก่าของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ต่อมาได้อพยพผู้คนภายใต้การนำของพระวอ พระตา ราว พ.ศ. 2313-2319 มาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี้ และเมื่อปี พ.ศ.2490 มีการขุดพบจารึกใบลานอักษรขอม บรรจุไว้ในขวดเก่า ๆ ฝังลึกลงไปประมาณ 2 เมตร บริเวณกำแพงพระธาตุประวัติพระธาตุพระอานนท์ตามประวัติสันนิษฐานกันว่า พระธาตุอานนท์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1218 ผู้ก่อสร้างคือ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ ชาวเวียงจันทน์ กับ เอียงเวธา ชาวขอม เมื่อสร้างเสร็จจึงอัญเชิญพระอัฐิของ พระอานนท์ มาบรรจุไว้ ซึ่งพระอัฐิของพระอานนท์ที่นำมาบรรจุใน พระธาตุอานนท์ นั้น ถูกบรรจุไว้ในผอบ ชั้นนอกเป็นหีบเงิน 3 ชั้น ชั้นถัดไปเป็นหีบทอง 7 ชั้น ถัดจากนั้นเป็นหีบแก้วไพฑูรย์ 2 ชั้น (รวมเป็นหีบ 12 ชั้น) แล้วมีผ้ากะจ๋าคำ(ผ้าลายทอง) ห่อไว้อีก 500 ชั้น ถัดเข้าไปเป็นผ้าสีขาวอ่อนนุ่มเหมือนสำลีห่อพระอัฐิธาตุอยู่

    โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการสร้าง พระธาตุอานนท์ ต่อ ๆ กันมาว่า เจตตานุวิน และ จินดาชานุ ชาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หลังจากออกบวชทำความเพียรได้ 3 ปี 25 วัน ทั้งคู่ก็เห็นว่าชาวเมืองเวียงจันทน์ต่างนับถือ พากันไปกราบไหว้ ดอนปู่บาว จึงคิดนำของศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่ ดอนปู่บาว เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่ง ๆ ขึ้น ดังนั้น จึงออกธุดงค์โดยใช้เวลาประมาณ 2 ปี 10 เดือน 11 วัน เดินทางมาถึงเมืองเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ปกครองโดย ท้าวพระยา ซึ่งขณะนั้นชาวเมืองกำลังก่อสร้างเจดีย์องค์หนึ่งอยู่ ครั้นก่อสร้างเสร็จ ท้าวพระยา จึงเข้าไปอัญเชิญพระอัฐิธาตุ ซึ่งต้องไขประตูเข้าไป 3 ชั้น จึงจะพบหีบพระอัฐิธาตุ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงสอบถามชาวเมืองได้จนได้ความว่าเป็นพระอัฐิธาตุของ พระอานนท์ พระเถระคนสำคัญของพระพุทธเจ้า ซึ่งเล่ากันว่า พระอานนท์ นิพพานบนอากาศกลางแม่น้ำโรหิณี (กั้นระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์ กับ กรุงเทวทหะ) พระองค์ได้อธิษฐานร่างกายให้แตกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งตกลงทางกรุงกบิลพัสดุ์ ส่วนที่สองตกลงทางกรุงเทวทหะ

    เจตตานุวิน ได้ฟังดังนั้นจึงจัดเครื่องสักการะบูชา แล้วอธิษฐานจิตขอเห็นอภินิหาร ซึ่งก็บังเกิดมีลมพัดห่อผ้าอัฐิธาตุ (ห่อผ้ากะจ๋าคำ) ลอยขึ้นสู่อากาศเป็นอัศจรรย์ เจตตานุวิน จึงอธิษฐานจิตให้ห่อผ้าพระอัฐิธาตุลอยลงมา ห่อผ้าก็ลอยลงมาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก ต่อมา เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงอ้อนวอนขอแบ่งพระอัฐิธาตุจาก ท้าวพระยา อยู่หลายวัน จน ท้าวพระยา ใจอ่อนยอมแบ่งผงธุลีประมาณเต็ มเปลือกไข่นกกระเรียน กับอัฐิธาตุ 1 องค์ ประมาณเท่าดอกสังวาลย์ (คล้ายดอกลีลาวดี) ให้ เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงเดินทางกลับเมืองเวียงจันทน์ และเตรียมจัดสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุที่ ดอนปู่ปาว แต่ชาวเมืองเวียงจันทน์ไม่ยินยอม ด้วยหาว่าผิดผีบ้านผีเมือง ทั้งยังขับไล่ออกจากเมือง เจตตานุวิน และ จินดาชานุ จึงหนีมาอยู่กับเจ้าเมืองขอม ชื่อว่า เอียงเวธา ครั้นผ่านไป 3 ปี จึงชักชวนให้ เอียงเวธา เป็นผู้นำสร้างเจดีย์ ซึ่ง เอียงเวธา ได้เลือกสถานที่สร้างเจดีย์ที่ ดงผีสิง (จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน) ป่าทึบขนาดใหญ่ ไกลจากบ้านคนประมาณ 1.2 กิโลเมตร ใช้เวลาสร้างเจดีย์ 8 เดือน 25 วัน จึงแล้วเสร็จ

  • หอไตร เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานของวัด ตั้งอยู่ตรงกลางสระทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคา บริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์ ซุ้มประตูและบานประตูไม้สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม การตกแต่งฝาผนังมีลวดลาย ซึ่งเป็นลักษณะผสมแบบภาคกลางสันนิษฐานว่า หอไตรน่าจะสร้างขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

[adsense-2]

ประเพณีที่น่าสนใจ

ทุก ๆ ปีในช่วงเดือนมีนาคมทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภช พระธาตุอานนท์ ขึ้นเป็นประจำ โดยจัดในวันขึ้น 13 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 3 ตามฮีตคลองของชาวอีสาน คือ เดือนมีนาคม ในคืนแรกจะจัดพิธีสมโภชองค์ พระธาตุอานนท์ ผู้ที่มาร่วมงานแต่งกายด้วยชุดขาว ทำพิธีตลอดคืน ส่วนในคืนที่สองและคืนที่สามมีมหรสพรื่นเริงสมโภชตลอดคืน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ททท. สำนักงานอุบลราชธานี
พื้นที่รับผิดชอบ: ยโสธร,อำนาจเจริญ,อุบลราชธานี 264/ ถ.เขื่อนธานี อ.เมือง จ.อุบลราธานี 34000
โทรศัพท์. (045) 243770, (045) 250714
โทรสาร. (045) 243771
ตำรวจทางหลวง โทร. (045) 489136
ไปรษณีย์จังหวัด โทร. (045) 711761
สถานีขนส่งจังหวัด โทร. (045) 712965
สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง โทร. (045) 711572
โรงพยาบาลกุดชุม โทร. (045) 789090
โรงพยาบาลค้อวัง โทร. (045) 797058
โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว โทร. (045) 791133
โรงพยาบาลทรายมูล โทร. (045) 787046
โรงพยาบาลป่าติ้ว โทร. (045) 712044
โรงพยาบาลมหาชนะชัย โทร. (045) 799049
โรงพยาบาลยโสธร โทร. (045) 711061, 712581

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว 

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา อำเภอพิมาย จนถึงอำเภอบ้านไผ่ แล้วแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเสลภูมิ จนถึงจังหวัดยโสธร

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น