วัดหน้าพระธาตุ

วัดหน้าพระธาตุ หรือ วัดตะคุ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา อยู่ห่างจากเทศบาลเมืองเมืองปักประมาณ 4 กม. เป็นวัดเก่าแก่ของชาวปักธงชัย เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างขึ้นราวสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปี พ.ศ. 2330 ชื่อวัดนั้นเรียกกล่าวกันตามพระธาตุเจดีย์ที่มีปรากฏอยู่ภายในวัด จุดเด่นของวัดนี้คือมีความโดดเด่นด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ และโบราณสถานยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์อยู่

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  • พระอุโบสถหลังเก่า หรือ สิม (พระอุโบสถแบบอีสาน) ตั้งอยู่ข้างโบสถ์ใหม่ เป็นหลังดั้งเดิมมีมาแต่ครั้งสร้างวัด ฐานโบสถ์มีลักษณะแอ่นโค้ง ที่ศัพท์ทางช่างเรียกว่า ตกท้องสำเภา หรือท้องช้าง หรือท้องเชือกซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ช่างนิยมทำกันในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่น่าสนใจคือส่วนของหลังคาซึ่งไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์เช่นโบสถ์ที่พบเห็นทั่วไป ซึ่งคล้าย “ศิลปะพระราชนิยม” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในโบสถ์มีภาพเขียนซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์น่าชม เป็นภาพแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ภาพชาดกตอนต่าง ๆ ภาพพระบฏ (พระพุทธเจ้าทรงยืน) ภาพการนมัสการรอยพระพุทธบาท ภาพพิธีศพหรืออสุภกรรมฐาน พระมาลัย นอกจากนี้ยังสอดแทรกวิถีชีวิตชาวบ้านด้วย ในอดีตมีภาพเขียนทางด้านนอก แต่ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่เหนือประตูทางเข้าด้านหน้า
  • หอไตรกลางน้ำ ตั้งอยู่หน้าโบสถ์หลังเก่า หอไตรหลังนี้ยกพื้นสูงชั้นเดียวตั้งอยู่ในสระน้ำ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยหลังคาจั่วภาคกลาง ผนังอาคารเป็นแบบฝาปะกน เหตุที่ต้องสร้างอยู่ในน้ำเพราะหอไตรเป็นที่เก็บพระไตรปิฎก ตำราคัมภีร์โบราณซึ่งทำจากใบลานเป็นส่วนใหญ่ มอดมดปลวกจึงมักมาแทะกัดกินทำให้เกิดความเสียหาย คนโบราณจึงได้สร้างสระน้ำ ป้องกันไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ ขึ้นไปทำลายพระธรรมคัมภีร์เหล่านั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปหยิบไปใช้ก็จะมีสะพานพาดไปที่บันไดทางขึ้นหอไตร เสร็จแล้วก็ยกออก ปัจจุบันหอไตรนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามหน้าที่เดิมแล้ว หอไตรหลังนี้มีภาพเขียนให้ชม ด้านนอกตั้งแต่ประตูทางเข้าเป็นลายรดน้ำปิดทอง ส่วนตามผนังเป็นภาพพุทธประวัติ เทพชุมนุม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง แม่พระธรณีซึ่งอยู่ในสภาพลบเลือนไปมาก ส่วนด้านในหอไตรเป็นเทพชุมนุม ดอกไม้ร่วง เป็นต้น
  • พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า เป็นพระธาตุเจดีย์ศิลปะลาว รูปทรงบัวเหลี่ยม ที่สูงเรียว ยอดสอบเข้าหากันเป็นยอดแหลม เป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุแบบพื้นบ้านลาว ภายในบรรจุพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวปักธงชัย เป็นพระธาตุเจดีย์ที่กล่าวกันว่าชาวลาว ซึ่งอพยพจากเวียงจันทน์ มาอาศัยอยู่ที่ตำบลตะคุ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ด้านข้างพระธาตุเจดีย์ มีเจดีย์องค์เล็ก เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิท่านเจ้าอาวาสเก่า

[adsense-2]
ประเพณีที่น่าสนใจ มีงานนมัสการพระธาตุทุกปี ใน วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ททท. สำนักงานนครราชสีมา (นครราชสีมา ชัยภูมิ) อ.เมือง นครราชสีมา โทร. (044) 213-666, (044) 213-030
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. (044) 251-818
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155, (044) 341-777-9
ท่าอากาศยานนครราชสีมา โทร. (044) 259-524
บมจ. การบินไทย (สนามบิน) โทร. (044) 255-425
โรงพยาบาลมหาราช โทร. (044) 254-990-1
สถานีขนส่งแห่งที่ 1 โทร. (044) 242-889
สถานีขนส่งแห่งที่ 2 โทร. (044) 256-006-9
สถานีตำรวจภูธร โทร. (044) 242-010
สถานีรถไฟ โทร. (044) 242-044
สำนักงานจังหวัด โทร. (044) 243-798

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

วัดหน้าพระธาตุ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะคุ จากตัวเมืองนครราชสีมาใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 314 ประมาณ 30 กิโลเมตร (ผ่านสี่แยกปักธงชัย) มีทางแยกด้านขวามือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2238 ไปบ้านตะคุ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร วัดตั้งอยู่ทางซ้ายมือ

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น