พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ อยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 1 อยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงละครแห่งชาติ ตรงข้ามสนามหลวงค่ะ

ประวัติความเป็นมา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2402 แต่เดิมเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” ซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักอันนับเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ นับว่าเป็นบ่อเกิดของพิพิธภัณฑ์ในสมัยต่อมา

จากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “มิวเซียม” ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง และมีพิธีเปิดหอมิวเซียมหรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 กรมศิลปากร จึงถือเอาวันที่ทรงประกอบพิธีเปิดมิวเซียมเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป และใน พ.ศ. 2418 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำโบราณศิลปวัตถุออกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานตามหลักวิชาสากล มีการแบ่งโบราณวัตถุ เป็น 3 ประเภท และจัดแบ่งเป็นห้อง ๆ ไป ได้แก่ โบราณศิลปวัตถุของไทย 1 ห้อง เครื่องราชูปโภคและเครื่องต้น 1 ห้อง และศิลปวัตถุจากต่างประเทศอีก 1 ห้อง พิพิธภัณฑสถานนี้เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรก เป็นที่สนใจของประชาชนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงเป็นพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี

ครั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2430 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทิวงคต จึงได้มีประกาศยกเลิกตำแหน่งพระอุปราชแล้ว ทำให้สถานที่ในพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดีย ไปตั้งจัดแสดงที่พระราชวังบวรสถานมงคลเฉพาะด้านหน้า 3 องค์ โดยใช้พระที่ นั่งด้านหน้า คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมด ให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น และได้จัด พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ให้เป็นสถานที่จัดแสดง ศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณ เรียกว่า หอสมุดวชิรญาณ อีกทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และต่อมาประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จึงได้เข้าสังกัดกับกรมศิลปากร และได้ประกาศตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477

ประเภทการจัดแสดง แบ่งงออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. ประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของชนชาติไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยสังเขป โดยจัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

2. ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี เป็นการจัดแสดงวิวัฒนาการของศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย ลำดับตามยุคสมัย โดยจัดแสดงที่อาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

3. ประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างประณีต หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแต่โบราณ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก เครื่องประกอบการเล่นมหรสพต่าง ๆ เครื่องแต่งกายและผ้าโบราณ เครื่องถ้วย อาวุธโบราณ ราชยานคานหาม ราชรถและเครื่องประกอบการพระราชพิธีพระบรมศพ เป็นต้น โดยจัดแสดงที่อาคารหมู่พระวิมานและโรงราชรถ

4. อาคารโบราณสถาน จัดแสดงอาคารหมู่พระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม รวมทั้งอาคารที่เคลื่อนย้ายมาจากพระราชวังต่าง ๆ เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตำหนักแดง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย ศาลาลงสรง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย เช่น พระพุทธสิหิงค์, พระชัย, พระพุทธรูปโปรดมหิศรเทพบุตร, พระพุทธรูปประทับรอยพระพุทธบาท, พระทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ, พระหลวงพ่อนาก, พระไภษัชยคุรุ, พระหายโศก, พระพุทธรูปห้ามสมุทร, พระคเณศ ตู้ลายรดน้ำ, ศิลาจารึกหลักที่ 1, เศียรพระโพธิสัตว์, พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์, บานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม, พระที่นั่งราเชนทรยาน และเวชยันราชรถ เป็นต้น

อีกทั้งยังมี “หอแก้วศาลพระภูมิพระราชวังบวรสถานมงคล” ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับพระราชวังบวรสถานมงคลหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย เนื่องจากสร้างขึ้นเป็นที่สถิตของพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินที่สร้างวัง ดังนั้น เมื่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว จึงต้องสร้างศาลสำหรับเทวดาเจ้าของที่เป็นการทดแทนด้วย ซึ่งได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้าผู้รักษาพระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นที่เคารพสักการะของชาววังหน้ามาแต่อดีตกาล ปัจจุบันนับถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งประจำกรมศิลปากร

[adsense-2]

ระเบียบข้อปฏิบัติในการเข้าชม

  1. ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องแต่งกายให้เป็นที่เรียบร้อย
  2. ห้ามนำหีบห่อและสิ่งใด ๆ ที่อาจบรรจุปกคลุมปิดบังหรือซ่อนเร้นสิ่งของในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติออกไป เข้าไปในห้องจัดตั้งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ
  3. ห้ามก่อความรำคาญด้วยประการใด ๆ แก่เจ้าหน้าที่หรือผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
  4. ห้ามจับต้องหรือหยิบฉวยสิ่งของที่จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
  5. ห้ามสูบบุหรี่ในห้องที่จัดตั้งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
  6. ห้ามขีด เขียน จารึก หรือทำความสกปรกแก่สิ่งของและอาคารสถานที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
  7. ห้ามบันทึกภาพหรือเขียนรูปสิ่งของที่จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมิได้อนุญาตจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น.

อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โทร. (02) 224 1370, (02) 224 1333
ตำรวจทางหลวง โทร. 1193
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โทร. 1348
บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 1490 เรียก บขส.
ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ทางพิเศษ (ทางด่วน) โทร. 1543
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โทร. 1543
กรมการขนส่งทางบก โทร. 1584
ศูนย์บริการประชาชนสายด่วนกรมทางหลวง โทร. 1586
การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690
บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด โทร. 1126
บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด โทร. 1318
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร การบินไทย โทร. (02) 545 3321
สำรองที่นั่ง การบินไทย โทร. (02)-288-7000 (สำนักงานสีลม), (02) 356 1111(สำนักงานหลานหลวง-ในประเทศ), (02) 545 3691 (สำนักงานวิภาวดีฯ-ต่างประเทศ)
บริษัท บางกอก แอร์เวย์ จำกัด โทร. 1771
สหกรณ์แท็กซี่สยาม โทร. 1661
TAXI-RADIO โทร. 1681
แอร์พอร์ต ลิงค์ โทร. (02) 131 5700 ต่อ 1301
ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โทร. (02) 132 1888
ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม การท่าเรือแห่งประเทศไทย โทร. (02) 269 3191, (02) 269 3199
แผนกสื่อสาร การท่าเรือแห่งประเทศไทย โทร. (02) 269 3481, (02) 269 3484
กรมการบินพลเรือน โทร. (02) 286 0506, (02) 286 0594
การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. (02) 621 8701
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT รถไฟใต้ดิน) โทร. (02) 716 4044
สายด่วนตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงละครแห่งชาติ ตรงข้ามสนามหลวงค่ะ มีที่จอดรถบริเวณภายในพิพิธภัณฑ์ค่ะ
รถประจำทาง
ขึ้นรถสาย 3 6 9 15 19 30 32 33 39 43 47 53 59 60 65 70 80 82 91 123 201 203
รถปรับอากาศ ขึ้นรถสาย 1 8 25 506 507 512 สาย38 39 82
ท่าเรือ เรือด่วนเจ้าพระยา ท่าช้าง

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น