พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ตั้งอยู่เลขที่ 184 หมู่ 7 ถ.มิตรภาพ – หนองปลิง บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง จ. นครราชสีมาแต่เดิมหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมทรัพยากรธรณี ในเวลาต่อมาได้ย้ายมาเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีพื้นที่ 80 ไร่ ภายใต้งบประมาณการก่อสร้าง 150 ล้านบาท โดยการสนับสนุน ผลักดันหรืออนุมัติโดย ฯ พณ ฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ โดยการประสานงานจากนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รวมทั้งการสนับสนุนจากจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานโยธาธิการจังหวัด กองทัพภาคที่ 2 ศูนย์ รพช. องค์การบริหารส่วนตำบลสุรนารี เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ทั้งนี้ด้วยพระมาหากรุณาธิคุณ แห่งสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ได้ทรงให้การสนับสนุน และสนพระทัย นับแต่การเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการไม้กลายเป็นหิน ที่จัดแสดงโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพราะพระองค์ทรงตระหนักในคุณค่า และปรารถนาให้มีการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน รวมทั้งทรงติดตามการดำเนินงานโครงการนี้ตลอดมา

ไม้กลายเป็นหิน คือซากดึกดำบรรพ์ของพืชประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นจากท่อนไม้ถูกฝังกลบอยู่ใต้ผิวดินในสภาพที่ขาดออกซิเจนทำให้เนื้อไม้ไม่เน่าเปื่อย และถูกฝังแช่อยู่ในสารละลายซิลิก้าที่มีความเข้มข้นสูงเพียงพอ ในสภาพแวดล้อมที่ท่อนไม้และสารละลายซิลิกาได้สัมผัสกับออกซิเจนเป็นบางช่วงเวลาทำให้สารละลายซิลิกาตกตะกอนในรูปของซิลิกาเจล สะสมตัวแทนที่โมเลกุลของเนื้อไม้ (replacement) จนทำให้ท่อนไม้ที่เป็นเนื้อสารอินทรีย์เปลี่ยนไปเป็นเนื้อหินซิลิกาแต่ยังคงรักษาโครงสร้างเนื้อไม้ดั้งเดิมเอาไว้

ด้วยระยะเวลานับเป็นหมื่นเป็นแสนปีหรือมากกว่านี้ ไม้กลายเป็นหินจะค่อยๆสูญเสียน้ำทีละน้อยและค่อยๆพัฒนาเป็นโอปอลที่มีสีสันสวยงามได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมลทินซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ปะปนอยู่ในเนื้อของซิลิกาออกไซด์ ซึ่งแร่ธาตุต่างๆให้สีสันต่างๆกันไป เช่น

คาร์บอน ให้ สีดำ
โคบอลต์ ให้ สีเขียว/น้ำเงิน
โครเมียม ให้ สีเขียว/น้ำเงิน
ทองแดง ให้ สีเขียว/น้ำเงิน
เหล็กออกไซด์ ให้ สีแดง/น้ำตาล/เหลือง
แมงกานีส ให้ สีชมพู/ส้ม
แมงกานีสออกไซด์ ให้ สีดำ/เหลือง

[adsense-2]

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้ 

1.  พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน  ในส่วนนี้ได้รวบรวมเอาไม้กลายเป็นหินมากกว่าร้อยชิ้น อายุประมาณ 8 แสน – 320 ล้านปี มาจัดแสดงไว้ ทั้งบริเวณรอบๆ อาคารพิพิธภัณฑ์ และภายในอาคารและจุดที่เป็นไฮไลต์ในส่วนนี้คือ “ไม้กลายเป็นหินอัญมณี” พบที่บ้านมาบเอื้อง อ.เมือง จ.นครราชสีมา อายุประมาณ 800,000 ปี ความยาวประมาณ 2 เมตร มีลักษณะเป็นหินเนื้อไม้ที่กลายเป็นผลึกคล้ายอัญมณีตลอดทั่วทั้งลำต้น

2. พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ จัดแสดงฟอสซิลช้างที่พบในโคราชถึง 9 สกุล จาก 42 สกุล ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุเก่าแก่กว่าช้างแมมมอธของไซบีเรียและอเมริกาเหนือ ที่นี่จะพบกับช้างสี่งา และช้างงาจอบ ช้างงาเสียม ที่มีอายุประมาณ 16 – 5 ล้านปี รวมถึงรู้จักกับบรรพบุรุษและวิวัฒนาการของช้าง และจุดเด่นของห้องนี้ก็คือ “หุ่นจำลองและโครงกระดูกของช้างสี่งาขนาดเท่าของจริง” และงาช้างที่กลายเป็นหิน มีความยาวเกือบ 2 เมตร รวมไปถึงฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่นๆ

3. พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์  ส่วนนี่จะจัดแสดงไดโนเสาร์โคราช 6 สายพันธุ์ อายุประมาณ 100 ล้านปี เช่น อิกัวโนดอน สยามโมไทรันนัส ฯลฯ รวมทั้งชมวิดีทัศน์ที่สร้างด้วยเทคนิควิดีโอแอนิเมชั่น ฉายรอบทิศทางบนผนังโค้ง 360 องศา อีกด้วย

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม 
เปิดให้บริการทุกวันเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

อัตราคาเข้าชม

ผู้ใหญ่ 30 บาท
นักศึกษา 20 บาท
เด็ก 10 บาท
ชาวต่างประเทศ 100 บาท
เด็กต่างประเทศ 50 บาท
พระภิกษุ สามเณร ผู้สูงอายุ(60ปีขึ้นไป) ผู้ทุพพลภาพ ยกเว้นค่าเข้าชม
หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ควรแจ้ง วัน เวลา และจำนวนผู้เข้าชมได้ที่ 044 – 216617- 8 อย่างน้อย 3 วันทำการ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน หรือ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่ 184 หมู่ 7 บ้านโกรกเดือนห้า ตำบล สุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
โทร. 044-370739-41 โทรสาร 044-3707421
เว็บไซด์ www.khoratfossil.org (หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อล่วงหน้า)

การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว
ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (นครราชสีมา-ปักธงชัย) ระยะทาง 19 กิโลเมตร แยกขวาเข้าไปทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(ประตูที่2) อีก 3 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าถนนเลี่ยงเมืองมิตรภาพ-หนองปลิงอีก 2 กิโลเมตร ถึงพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น