วัดพนัญเชิงวรวิหาร

วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 หมู่ 12 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย มีจุดเด่นสำคัญ คือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา

เหตุที่ได้นามว่า “วัดพนัญเชิง”
1. คำว่า “พแนงเชิง” มีความหมายว่า “นั่งขัดสมาธิ” ฉะนั้น คำว่า “วัดพนัญเชิง” “วัดพระแนงเชิง” หรือ “วัดพระเจ้าพแนงเชิง” จึงหมายความถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย คือ “หลวงพ่อโต” หรือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” นั่นเอง

2. เพราะการสร้างพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยเป็นประธานของวัด อาจเป็นลักษณะพิเศษจึงขนานนามวัดตามพระพุทธลักษณะที่สร้างเป็นปางมารวิชัยก็ อาจเป็นได้ โดยเฉพาะพระประธานของวัดนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่ สุดในประเทศไทย

3. เพราะสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงจะนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากกว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต

ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำแล้ว คำว่า “ วัดพนัญเชิง” ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายกนั่นเอง

ตำนานวัดพนัญเชิง

ว่ากันว่าวัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ความรักอันน่าเศร้าของ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ของไทย และพระนางสร้อยดอกหมาก จากแผ่นดินจีน

ทั้งนี้ ตาม ตำนานวัดพนัญเชิง ในพงศาวดารเหนือ บอกไว้ว่า เมื่อครั้งก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา สยามประเทศในตอนนั้นไร้ซึ่งกษัตริย์ปกครองอยู่ระยะหนึ่ง เหล่าอำมาตย์ ข้าราชบริพาร และสมณชีพรามณ์ทั้งหลายจึงลงความเห็นว่า ต้องทำพิธีเสี่ยงเรือสุวรรณหงส์เอกชัย เพื่อเสาะหาผู้มีบุญวาสนามาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยให้เรือแล่นไปตามแม่น้ำ

ครั้นเมื่อเรือมาถึงยังตำบลแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำ มีกลุ่มเด็กเลี้ยงโคเล่นกันอยู่ เรือก็จอดสนิทนิ่งไม่ยอมเคลื่อนที่ แม้ว่าเหล่าฝีพายจะพยายามสักแค่ไหนก็ตาม เมื่อเหล่าอำมาตย์เห็นเช่นนั้น จึงเดินเข้าไปในกลุ่มเด็กเลี้ยงโคและพบกับเด็กชายคนหนึ่งท่าทางฉลาด พูดจาฉะฉาน หลักแหลม จึงคิดว่าเด็กผู้นี้คงเป็นผู้มีบุญญาธิการ จึงรับตัวมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศ

หลังได้ขึ้นเป็นกษัตริย์สยามประเทศแล้ว มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่สร้างความน่าอัศจรรย์ใจ และเป็นที่มาของพระนาม “พระเจ้าสายน้ำผึ้ง” เมื่อพระองค์ทรงโปรดให้ยกขบวนพยุหยาตราไปทางชลมารคพร้อมกับเหล่าเสนาบดี เมื่อเรือล่องมาถึงวัดปากคลอง ซึ่งเป็นเวลาน้ำขึ้น จึงตรัสสั่งให้จอดเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด และทรงทอดพระเนตรเห็นรังผึ้งใต้ช่อฟ้าหน้าโบสถ์ พระองค์จึงดำริว่า…

“จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร ด้วยเดชะบุญญาภิสังขารของเรา เพื่อจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมากลั้วเอาเรือขึ้นไปประทับแทนกำแพงแก้วนั้นเถิด”

เมื่อตรัสจบน้ำผึ้งก็หยดลงมากลั้วเอาเรือพระที่นั่งยกขึ้นไปถึงที่ทันที เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สายตาของเสนาบดีน้อยใหญ่ พระเจ้ากรุงไทยจึงเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร เสร็จแล้วจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่ง จากนั้นเรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาตามเดิมได้เอง บรรดาภิกษุสงฆ์และเหล่าเสนาบดีจึงพากันถวายพระพรชัยและถวายพระนามพระเจ้ากรุงไทยว่า “พระเจ้าสายน้ำผึ้ง”

ครั้นถึงเวลาน้ำลง พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ก็รับสั่งให้เหล่าเสนาบดีกลับไปรักษาพระนคร ส่วนพระองค์จะเสด็จโดยเรือเพียงลำเดียว เพื่อเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ และด้วยกุศลที่สร้างมาแต่ปางหลัง จึงทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลอดภัยจนกระทั่งถึงกรุงจีน เมื่อชาวจีนเห็นว่าว่าทรงเดินทางเพียงพระองค์เดียวท่ามกลางทะเลใหญ่ แต่ยังสามารถรอดชีวิตมาได้นั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงนำความขึ้นทูลว่าพระเจ้าแผ่นดินจีนว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยองค์นี้มีบุญญาธิการมาก

ด้านพระเจ้ากรุงจีนเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงอยากทดสอบว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งจะมีบุญญาธิการจริงหรือไม่ โดยรับสั่งให้เสนาบดีไปทูลเชิญพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่อ่าวนาค ซึ่งเป็นที่ที่มีอันตรายมาก และให้ทหารไปสอดแนมดูว่าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นหรือไม่ แต่ผลปรากฎว่านอกจากจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว ยังมีเสียงดุริยางค์ดนตรีเป็นที่ครึกครื้น เมื่อความทราบถึงพระเจ้ากรุงจีน พระองค์จึงมีรับสั่งให้จัดขบวนแห่ออกไปรับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาภายในพระราชวัง พร้อมทั้งให้ราชาภิเษกกับพระนางสร้อยดอกหมาก ธิดาบุญธรรมของพระองค์ ขึ้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้งด้วย

ระหว่างการเดินทางกลับเมืองสยาม ในขณะที่ใกล้ถึงพระราชวัง พระเจ้าสายน้ำผึ้ง มีรับสั่งให้พระนางสร้อยดอกหมากคอยพระองค์อยู่ในเรือ เนื่องจากพระองค์ต้องการเสด็จเข้าพระราชวังก่อนเพื่อจัดเตรียมขบวนเกียรติยศออกมาต้อนรับ ทว่าเมื่อขบวนเกียรติยศมาถึงพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กลับไม่ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง พระนางสร้อยดอกหมากจึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ พร้อมกล่าวว่า…

“มาด้วยพระองค์ก็โดยยาก เมื่อมาถึงพระราชวังแล้ว เป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับก็จะไม่ไป” เมื่อเสนาบดีนำความไปกราบทูล พระเจ้าสายน้ำผึ้ง คิดว่าพระนางหยอกเล่น จึงกล่าวเล่น ๆ ว่า “เมื่อมาถึงแล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด”

หลังพระนางสร้อยดอกหมากทราบว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งตรัสเช่นนั้น ก็รู้สึกน้อยพระทัยยิ่งนัก ครั้นรุ่งเช้าพระเจ้าสายน้ำผึ้งก็เสด็จมารับด้วยพระองค์เอง พระนางสร้อยดอกหมากจึงตัดพ้อต่อว่าพระองค์ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง จึงงตรัสสัพยอกอีกว่า “เอาล่ะ เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด” เมื่อได้ฟังดังนั้น ด้วยความน้อยพระทัย พระนางสร้อยดอกหมากจึงกลั้นพระทัยตายทันที ทำให้พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง จึงโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพของพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นมาพระราชทานเพลิงพระศพ ท่ามกลางความอาลัยรักของประชาชนชาวจีนและชาวไทย และทรงให้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระนางสร้อยดอกหมาก โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระนางเชิญ” หรือ “วัดพนัญเชิง” (ในปัจจุบัน) แต่นั้นมา

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อซำปอกง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และใหญ่ที่สุดในพระนครศรีอยุธยา หน้าตักกว้าง 20 เมตรเศษ สูง 19 เมตร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เคยได้รับความเสียหายในสมัยเสียกรุง แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2497 ได้โปรดเกล้าให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก หรือที่รู้จักกันในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเชื้อสายจีนว่า หลวงพ่อซำปอกง คำว่า พแนงเชิง มีความหมายว่า นั่งขัดสมาธิ ฉะนั้น คำว่า วัดพนัญเชิง / วัดพระแนงเชิง หรือ / วัดพระเจ้าพแนงเชิง จึงหมายถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยคือ หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก นั้นเอง หรืออาจสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น พระนางคงนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำว่า วัดพนัญเชิง ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต ( อ้างอิงจากประวัติวัดพนัญเชิงข้อมูลของทางวัดในปัจจุบัน )

พระพุทธรูปองค์นี้ มีเรื่องอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งควรนำมากล่าวไว้ในนี้ด้วย คือ ตามคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่า เมื่อใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกนั้น พระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ในพระวิหารหลวง วัดพนัญเชิง มีน้ำพระเนตรไหลออกทั้งสองข้างจรดพระนาภี เหตุนี้ประชาชนจึงมีความเคารพนับถือมาก ถึงหน้าเทศกาลได้ไปประชุมกันนมัสการเป็นประจำทุกๆ ปี

พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงโรง วัดโดยยาว 8 วา 18 นิ้ว กว้าง 5 วา 6 นิ้ว มีหน้ามุขยาว 2 วา สูงเเต่พื้นถึงอกไก่ 6 วาเศษ เป็นมุขลดไม่มีลวดลายประดับ ระหว่างประตูด้านหน้าพระอุโบสถมทำซุ้มติดกับผนัง เป็นที่ประดิษฐ์ฐานพระพุทธรูปย่อมๆ รวมทั้งพระทองด้วย ในปัจจุบันได้มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ด้านหน้าเป็นภาพเขียนมารผจญ รอบข้างเป็นภาพเทพชุมนุมและภาพพุทธประวัติชาดก และได้มีการติดเครื่องปรับอากาศภายในพระอุโบสถ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภาพเขียนให้มีความคงทนยาวนานยิ่งขึ้น

พระวิหารเขียน คือ พระวิหารตั้งคู่กับพระอุโบสถ อยู่ทางเบื้องซ้ายของพระวิหารหลวง ในตำนานการสร้างโบสถ์กล่าวไว้ว่า บุตรเขยพระยารามัญเป็นผู้สร้าง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรงโรง วัดรอบนอกยาว 8 วา 18 นิ้ว กว้าง 4 วา 2 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว หน้ามุข 7 ศอก 3 นิ้ว สูงจากพื้นถึงอกไก่ ๖ วาเศษ เป็นมุขลดมีซุ้มหน้าเหมือนพระอุโบสถ ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา ปางมารวิชัย 2 องค์ ตั้งเรียงกัน ภายในวิหารมีการเขียนภาพลวดลายกระถางต้นไม้ต่าง ๆ เครื่องใช้ เครื่องบูชาแบบของชาวจีน เหตุนี้จึงเรียกว่า “วิหารเขียน” สิ่งสำคัญในพระวิหารเขียน ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้น สมัยอยุธยา พระพุทธรูปของทางฝ่ายมหายาน

พระวิหารหลวง พระวิหารใหญ่ที่ประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนนายก เรียกพระวิหารหลวง สูงแต่พื้นถึงอกไก่ 18 วา 2 ศอก กว้าง 13 วา อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตามฝาผนังใหญ่ทั้งสี่ด้าน เจาะช่องเป็นซุ้มไว้สำหรับตั้งพระพุทธรูปและพระพิมพ์เป็นระยะอย่างเป็น ระเบียบ ช่องพระพิมพ์นั้นสำหรับบรรจุพระพิมพ์ 8 หมื่น 4 พันองค์ เป็นพระขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียกว่าพระงั่ง เสาภายในพระวิหารหลวงเขียนด้วยดินสีแดงตัดเส้นเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 หัวเสาประดับด้วยบัวกลุ่มสมัยอยุธยา รอบผนังทั้งสี่ด้าน ตั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ไว้ พระวิหารหลวงนี้มีศิลปกรรมสมัยอยุธยา คือบานประตู ซึ่งสลักเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมาเหนือลวดลาย ในปัจจุบันได้มีการทำความสะอาดทำให้ปรากฏร่องรอยแห่งความสวยงามของ สถาปัตยกรรมอันวิจิตร

ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ชายน้ำทางทิศตะวันตก เป็นศาลาทรงไทยสร้างด้วยเครื่องไม้ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ขนาดยาว 11 วา กว้าง 6 วา มีเฉลียงสองชั้น หน้าบันสลักลวดลายสลักด้วยช่อฟ้าใบระกา ภายในเพดานประดับด้วยดาวระหว่างคอสองมีภาพเขียนพุทธประวัติโดยรอบ จารึกว่าเขียนเมื่อ พ.ศ. 2472 ปัจจุบันใช้เป็นที่ประกอบศาสนพิธีของพุทธศาสนิกชน

สิ่งสำคัญในศาลาการเปรียญนี้ คือ บุษบกธรรมาสน์ ที่ได้สร้างขึ้นมาแทนธรรมาสน์หลังเก่า ซึ่งมีลักษณะยาวรี บรรจุพระสวดได้ 4 รูป มีมุขและช่อฟ้าใบระกา พระครูมงคลเทพมุนี (ปิ่น) จำลองแบบสร้างมาแต่วัดสุวรรณดาราม แต่ไฟไหม้ จึงได้สร้างบุษบกธรรมาสน์หลังนี้ขึ้นมาแทน

ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็น ศาลเจ้าของจีน ถือว่าเป็นที่สถิตของพระนางสร้อยดอกหมาก ธิดาพระเจ้ากรุงจีนซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ตามที่กล่าวไว้ในตำนวนการสร้างวัด ชาวจีนเรียกกันว่า “ศาลเจ้าแม่อาเนี้ย” ตั้งอยู่ริมน้ำด้านเหนือนอกกำแพงแก้ว เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน มุขด้านหลังเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนตั้งแท่นบูชาและรูปเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ชั้นล่างตั้งแท่นบูชารูปเจ้าพ่อกวนอิม ใกล้ ๆ ศาลนี้มีสมอเรืออันหนึ่ง ชาวบ้านงมขึ้นมาจากท่าน้ำหน้าวัด กล่าวกันว่าเป็นสมอเรือของนางสร้อยดอกหมาก ปัจจุบันได้ เก็บไว้ในศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากแล้ว ได้รับการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ.2543 มีการปั้นลวดลายประดับทั้งภายในและภายนอก ให้มีลักษณะแบบเก็งจีน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม

หอพระไตรปิฎก ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 9 เมตร ปัจจุบันเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและตู้พระคัมภีร์โบราณ ได้รับการบูรณะใหม่ให้มีความสวยงาม

หอประชุมสงฆ์ สร้างเมื่อพระราชสุวรรณโสภณ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ได้จัดการก่อสร้างเมี่อระหว่าง พ.ศ. 2521 สำเร็จเรียบร้อย เมื่อ พ.ศ. 2522 สิ้นค่าก่อสร้าง ประมาณ 4 ล้านบาทเศษ ต่อมาในสมัยพระธรรมญาณมุนี (ไวทย์ มุตฺตกาโม) เป็นเจ้าอาวาส พระพิพัฒน์วราภรณ์ (นพปฎลหรือแวว กตสาโร) เป็นรองเจ้าอาวาส ได้มีการต่อเติมทำให้สามารถจุผู้เข้าประชุมได้ประมาณ 1,000 คน ติดเครื่องปรับอากาศพร้อมเครื่องเสียงอย่างสมบูรณ์ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 24 ล้านบาทเศษ

กุฏิพระธรรมญาณมุนี เป็น กุฏิทรงไทยกลุ่ม จำนวน 6 หลัง ทำด้วยไม้สักทองล้วน สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2542 ในสมัยของพระธรรมญาณมุนี (ไวทย์ มุตฺตกาโม ป.ธ.5) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กุฏิเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหามหาราชินี 2547 (พระราชรัตนวราภรณ์) ฝากุฏิทรงไทยทำด้วยไม้สักทอง พื้นไม้ตะเคียนทอง มีลวดลายที่เป็นการอนุรักษ์จิตรกรรมไทย จำนวน 4 หลัง ขวาง 1 หลัง ข้าง 2 หลัง ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน มีการติดเครื่องปรับอากาศ ใช้เป็นสถานที่สำหรับการทัศนศึกษากุฏิทรงไทยแบบโบราณที่มีความสวยงาม โดยจะเปิดให้ผู้มากราบไหว้หลวงพ่อโตได้เข้าเยี่ยมชมตลอดทุกวัน และใช้เป็นสถานที่รับรองพระมหาเถระหรือพระอาคันตุกะ มีขนาดกว้าง 12.20 เมตร ยาว 32.10 เมตร สร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2547 ในสมัยพระราชรัตนวราภรณ์ (แวว กตสาโร) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ศาลเจ้าแม่กวนอิม เจ้าพ่อกวนอูและเทพเจ้าอุ่ยท้อ ตั้ง อยู่ริมแม่น้ำด้านทิศเหนือของวัด ติดกับตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2549 เป็นสถานที่ประดิษฐานรูปปั้นของพระสังกัจจายน์ เจ้าแม่กวนอิม (พระโพธิสัตว์) เจ้าพ่อกวนอู(เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์)และเทพเจ้าอุ่ยท้อ (เทพเจ้าผู้คุ้มครองพระศาสนา) ซึ่งประชาชนให้ความเคารพนับถือมาก

[adsense-2]

งานเทศกาลที่น่าสนใจ

1. งานสงกรานต์ 13 เมษายน เป็นงานใหญ่มีการนมัสการและเวียนเทียนประทักษิณรอบองค์พระติดต่อกันถึง ๕ วัน

2. งานสรงน้ำและห่มผ้าถวาย วันแรม 8 ค่ำเดือนเมษายน มีการสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าห่มผืนใหม่ ส่วนผืนเก่าที่ใช้มาตลอด 1 ปี จะฉีกเป้นชิ้นเล็กๆ แจกจ่ายให้ผู้คนนำไปบูชา

3. งานทิ้งกระจาดหรืองานงิ้วเดือน 9 จะมีงิ้วและมหรสพอื่นๆ เล่นประชันกันอย่างครึกโครมจะมีผู้คนนับหมื่นหลั่งไหลกันมานมัสการนับเป็นงานทิ้งกระจาดที่ใหญ่ที่สุดใน
ประเทศไทยทีเดียว

4. งานตรุษจีนเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่ง จะมีการเปิดประตูพระวิหารหลวงไว้ทั้งวันทั้งคืนตลอด 5 วันที่จัดงาน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สำนักงานกลางวัดพนัญเชิงวรวิหาร (กุฏิเจ้าอาวาส) โทรศัพท์ (035) 243 867 โทรสาร (035) 243 868
เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าคณะตำบลหอรัตนไชย (พระมหาเชิดชัย กตปุญฺโญ ป.ธ.๙) โทรศัพท์ (081) 286 0621 โทรสาร (035) 241 708 , (035) 234 965 e-mail [email protected]
ฝ่ายจัดเช่าวัตถุมงคล โทรศัพท์ (084) 775 5807, (084) 554 8861
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทร. (035) 246 076
สภ.อ. พระนครศรีอยุธยา (035) 241 139 , (035) 243 444
เทศบาลพระนครศรีอยุธยา (035) 252 236
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา (035) 322 555

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว ไปตามถนนพหลโยธิน แยกเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สามแยกอำเภอวังน้อย ถนนสายโรจนะถึงเจดีย์ใหญ่วัดสามปลื้ม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 1 เลี้ยวซ้ายไปตามถนน ผ่านวัดใหญ่ชัยมงคลแล่นเรื่อยไปจนถึงวัด

รถไฟ นั่งรถไปลงที่สถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อรถประจำทาง หรือรถรับจ้างเพื่อข้ามเรือที่สถานีตำรวจป้อมเพชร ซึ่งเรียกว่า ท่าข้ามวัดสุวรรณดาราราม – วัดพนัญเชิงฯ

เรือ มีเรือ 3 สาย สายใต้และสายตะวันตก จะถึงวัดซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจป้อมเพชรก่อนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สายเหนือจะถึงตัวจังหวัดก่อนถึงวัด

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น