อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เที่ยวปราสาทหิน ชมปฏิมากรรมสุดอลังการของคนสมัยโบราณกันค่ะ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่”)

ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น

ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน

สิ่งที่น่าสนใจ

  • ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17
  • ปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ตั้งอยู่ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16
  • ฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐ สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้
  • อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า “โรงช้างเผือก”
  • ภาพจำหลัก ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระศิวะที่ห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพพระศิวะนั้นแม้จะไม่พบประติมากรรมชิ้นนี้แต่ก็มีภาพจำหลักของพระศิวะปรากฏมากมายเช่น ภาพโยคีหรือฤษี บนทับหลังชั้นในสุด ของปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ จำหลักเป็นภาพโยคี 5 ตน นั่งชันเข่าพนมมืออยู่ที่ซุ้มเรือนแก้ว ส่วนบน ภาพพระศิวะนาฏราช ที่บริเวณหน้าบันด้านทิศตะวันออกของมณฑปปราสาทประธาน ภาพอุมามเหศวร อยู่บนห้านบัน ชั้นที่หนึ่งด้านทิศใต้ของมณฑปปราสาท ภาพศิวะมหาเทพ บนหน้าบันชั้นที่หนึ่งของมุขด้านทิศใต้ปราสาทประธาน และภาพจำหลักอื่นๆอีกมากมาย

กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ. 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

[adsense-2]

เทศกาลที่น่าสนใจ

งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ จะจัดขึ้นทุกปีในช่วงวันที่ วันที่ 3 – 5 เมษายน โดยสถานที่จัดงาน: ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยภายในงานจะมีกิจกรรมสำคัญโดดเด่น ที่จัดให้มีขึ้นภายในงาน เช่น

  • การชมแสงอาทิตย์ส่องลอด 15 ประตูของปราสาทพนมรุ้ง(ดวงอาทิตย์ขึ้น วันที่ 3 – 4 – 5 เมษายน เวลา 06.00 น.)
  • พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย
  • ชมริ้วขบวนหลวงของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี และ นางจริยา นำเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย เทพพาหนะทั้ง 10 นางสนมกำนัล เหล่าทหาร ข้าทาสบริวาร ดำเนินผ่านเสานางเรียงประดับด้วยโคมไฟและธงทิวยิ่งใหญ่อลังการ
    – การแสดง แสง เสียง ชุด “งานรมยคีรีราตรีแห่งวนัมรุง”
    – การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านรับประทานอาหารแบบโฮปบายดินเนอร์
    – การแสดงตลาดนัดโบราณและสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดบุรีรัมย์
    – พร้อมทั้งกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายตลอดการจัดงาน

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.

อัตราค่าเข้าชม
ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท  หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมโบราณสถานในจังหวัดบุรีรัมย์ได้ ได้แก่ โบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ ที่อำเภอประโคนชัย ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 044-782715โทรสาร 0 44-78 2717
ททท.สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่ จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ) อ.เมือง สุรินทร์ โทร. (044) 518-152
ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-957
ท่าอากาศยานจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 614-123
บมจ.การบินไทย โทร. (044) 625-066-7
ไปรษณีย์บุรีรัมย์ โทร. (044) 611-142
โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-262
ตำรวจทางหลวง โทร. (044) 611-992, 1193
สำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-449
สถานีตำรวจจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-234
สถานีขนส่งจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-253

การเดินทาง
รถส่วนยนต์ส่วนตัว สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ
1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 218) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวเข้าบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ทางหลวงหมายเลข 2117 และ 2221)ไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร
2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)
รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถวหรือรถจักรยานยนต์รับจ้างไปพนมรุ้ง ควรตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง

รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถว
มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปพนมรุ้ง ควรตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น