วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า มีพระภิกษุไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปยังลังกาทวีป เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาท พระสงฆ์ลังกากล่าวว่า ประเทศไทยก็มีรอยพระพุทธบาทอยู่แล้วที่เขาสุวรรณบรรพต จึงได้นำความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงทราบ และได้สืบหาจนพบรอยพระพุทธบาท เพื่อเป็นที่สักการบูชา เป็นศูนย์รวมแห่งพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ พระพุทธบาทสระบุรีเป็นพระอารามหลวง ที่พระมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงและเสด็จไปนมัสการตลอดมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์

ประวัติวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่า มีพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยคณะหนึ่ง เดินทางไปยังลังกาทวีป ด้วยหวังจะสักการบูชาพระพุทธบาท ณ เขาสุมนกูฏ การไปคราวนั้นเป็นเวลาที่พระสงฆ์ชาวลังกาทวีปกำลังสอบประวัติ และที่ตั้งแห่งรอยพระพุทธบาททั้งปวงตามที่ปรากฏอยู่ในตำนานว่ามีเพียง 5 แห่ง ภายหลังสืบได้ความว่า ภูเขาที่ชื่อว่า สุวรรณบรรพต มีอยู่ในสยามประเทศ ครั้นเมื่อได้พบกับพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยในคราวนั้น ต่างพากันสอบถามว่ารอยพระพุทธบาท ที่มีอยู่ 5 แห่ง ในสถานที่ต่างๆ กันนั้น ปรากฏว่ามีที่เขาสุวรรณบรรพตแห่ง 1 ก็ภูเขาลูกนี้อยู่ในประเทศไทย แต่ภิกษุไทยไม่พยายามสืบไปนมัสการ กลับพากันไปถึงลังกาทวีป เมื่อพระภิกษุสงฆ์ไทยคณะนั้นได้รับคำบอกเล่า เมื่อกลับมาสู่ประเทศไทย จึงนำความขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราสั่งบรรดาหัวเมืองทั้งปวง ให้เที่ยวตรวจตราค้นดูตามภูเขาต่างๆ ว่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ ที่แห่งใด ครั้งนั้น เจ้าเมืองสระบุรี สืบได้ความจากนายพรานบุญว่า ครั้งหนึ่งออกไปล่าเนื้อในป่าใกล้เชิงเขา ยิงถูกเนื้อตัวหนึ่งเจ็บลำบากหนีขึ้นไปบนไหล่เขา ซุกเข้าเชิงไม้หายไป พอบัดเดี๋ยวก็เห็นเนื้อตัวนั้น วิ่งออกจากเชิงไม้เป็นปกติอย่างเก่า นายพรานบุญนึกประหลาดใจ จึงตามขึ้นไปดูสถานที่บนไหล่เขาที่เนื้อหนีขึ้นไป ก็พบรอยปรากฏอยู่ในศิลา มีลักษณะเหมือนรูป รอยเท้าคน ขนาดยาวประมาณสักศอกเศษ และ ในรอยนั้นมีน้ำขังอยู่ด้วย นายพรานบุญเข้าใจ ว่าบาดแผลของเนื้อตัวที่ถูกตนยิง คงหายเพราะดื่มน้ำในรอยนั้น จึงวักน้ำลองเอามาทาตัวดู บรรดาโรคผิวหนังคือ กลากเกลื้อน ซึ่งเป็นเรื้อรังมาช้านานแล้ว ก็หายหมดสิ้นไป เจ้าเมืองสระบุรี จึงสอบสวนความจริงดู ก็ตรวจค้นพบรอยนั้น สมดังคำบอกเล่าของนายพรานบุญ จึงมีใบบอกแจ้งเรื่องเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไป ณ ที่เขานั้น ทอดพระเนตรเห็นรอยนั้นแล้ว จึงทรงพระราชวิจารณ์ตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาท เพราะมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฏฐุตตรสตมหามงคลร้อยแปดประการ ตรงกับเรื่องทีชาวลังกาทวีปแจ้งเข้ามาด้วย เกิดพระราชศรัทธาปราโมทย์โสมนัสเป็นกำลัง โดยทรงพระราชดำริเห็นว่ารอยพระพุทธบาทย่อมจัดเป็นบริโภคเจดีย์แท้ เพราะเป็นพุทธบทวลัญช์อันเนื่องมาแต่พระพุทธองค์ ย่อมประเสริฐยิ่งกว่าอุเทสิกเจดีย์ เช่น พระสถูปเจดีย์ สมควรจะยกย่องบูชาเป็นพระมหาเจดียสถาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างก่อเป็นคฤหหลังน้อย สวมรอยพระพุทธบาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนแล้ว

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังราชธานี จึงทรงสถาปนายกที่พระพุทธบาทขึ้นเป็นเจดียสถานเป็นการสำคัญ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปยอดเดี่ยวสวมรอยพระพุทธบาทกำหนดเป็นพุทธเจดีย์ และสร้างอารามวัตถุอื่นๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ให้เป็นที่สำหรับพระภิกษุอยู่แรม เพื่อทำการบริบาลพระพุทธบาท ทรงพระราชศรัทธาอุทิศเนื้อที่โยชน์หนึ่ง โดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธเกษตรต่างพุทธบูชา บรรดากัลปนาผล ซึ่งได้เป็นส่วนของหลวงจากเนื้อที่นั้นให้ใช้จ่ายเป็นค่าบำรุงรักษาพระมหาเจดียสถานที่พระพุทธบาท ทรงยกที่พุทธเกษตรส่วนนี้ให้เป็นเมืองชั้นจัตวา ชื่อเมืองปรันตปะ แต่นามสามัญเรียกกันว่า เมืองพระพุทธบาท ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา โปรดเกล้าฯ ให้ชายฉกรรจ์ทุกคนที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่พระพุทธบาทพ้นจากหน้าที่ราชการอย่างอื่นสิ้น ตั้งให้เป็นพวกขุนโขลนเป็นข้าปฏิบัติบูชารักษาพระพุทธบาทแต่หน้าที่เดียว พระราชทานราชทินนามบรรดาศักดิ์ประจำตำแหน่งผู้รักษาการพระพุทธบาท หัวหน้าเป็นที่ขุนสัจจพันธ์คีรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสี นพคูหาพนมโขลน รองลงมาเป็นที่หมื่นสุวรรณปราสาท หมื่นแผ้วอากาศ หมื่นชินธาตุ หมื่นศรีสัปบุรุษ ทั้ง 4 คนนี้ เป็นผู้รักษาเฉพาะองค์พระมณฑป ตั้งนายทวารบาล 4 นาย เป็นที่หมื่นราชบำนาญทมุนิน หมื่นอินทรรักษา หมื่นบูชาเจดีย์ หมื่นศรีพุทธบาล โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคลังสำหรับเก็บวัตถุสิ่งของที่มีผู้นำมาถวายเป็นพุทธบูชา ให้ผู้รักษาคลังเป็นที่ขุนอินทรพิทักษ์ ขุนพรหมรักษา หมื่นพิทักษ์สมบัติ หมื่นพิทักษ์รักษา ให้มีผู้ประโคมยามประจำทั้งกลางวันกลางคืนเป็นพุทธบูชา ตั้งเป็นที่หมื่นสนั่นไพเราะ หมื่นเสนาะเวหา พันเสนาะ รองเสนาะ ทรงกำหนดเทศกาลสำหรับให้มหาชนขึ้นไปบูชารอยพระพุทธบาทเดือน 3 ครั้ง 1 และเดือน 4 ครั้ง 1 เป็นประเพณีตั้งแต่นั้นมา

[adsense-2]

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

รอยพระพุทธบาท ที่ประทับไว้ในแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี ลักษณะของรอยพระพุทธบาทคล้ายเท้าคน กว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต ลึก 11 นิ้ว ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นรอยพระบาทตามลักษณะ 108 ประการ จึงโปรดให้สร้างมณฑปชั่วคราวครอบรอยพระบาทไว้ ต่อมาได้มีการก่อสร้างต่อเติมอีกหลายสมัย

พระมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท ๗ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาย่อมุมไม้สิบสองปิดประดับกระจกโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนมและมีพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมประดับชั้นเยี่ยมของเมืองไทย ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสาย หมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงมาจากสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริดเป็นนาค 5 เศียร บริเวณรอบพระมณฑปมีระฆังแขวนเรียงราย เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการได้ตี เป็นการแผ่ส่วนกุศลแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย พระอุโบสถและพระวิหารต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ล้วนสร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ศาลาเปลื้องพระภูษา ตั้งอยู่เชิงบันไดนาค หลังคามีช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์ ชนิดศาลาโถง แบบไทยมุขประเจิดในสมัยโบราณ สร้างเพื่อใช้เป็นที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ก่อนขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท พนักงานจะเตรียมตกแต่งสถานที่เป็นที่ประทับและกั้นม่านบังไว้ทั้งสี่ด้าน ภายในประดิษฐานพระพระพุทธรูปปางนาคปรก

วิหารจีน  มีศาสนิกชนชาวจีน ที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ นิยมมานมัสการที่นี่ โดยเชื่อว่าเป็นที่สถิตของ พระซำปอกง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี โทร. (036) 211 545, (036) 211 025
โรงพยาบาลจังหวัดสระบุรี โทร. (036) 211 008, (036) 316 555
โรงพยาบาลพระพุทธบาท โทร. (036) 266 111, (036) 323 291-6
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสระบุรี โทร. (036) 211 011, (036) 211 014
สถานีขนส่งสระบุรี (บขส.) โทร. (036) 21 1810, (036) 230 676
สถานีรถไฟสระบุรี โทร. (036) 211 091
สถานีรถไฟแก่งคอย โทร. (036) 244 020, (036) 245 520
สถานีรถไฟบ้านหมอ โทร. (036) 201 311
ตำรวจทางหลวง โทร. 1193
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพมหานคร เดินทางโดยใช้ถนนพหลโยธิน เมื่อถึงช่วงกิโลเมตรที่ 136 มีทางเลี้ยวซ้าย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3020) แล้วให้ตรงไปเพื่อเข้าวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

ความเห็น

ความเห็น