อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ที่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ”  อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนใน วัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของ มนุษย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ ป่าสงวนจำนวน 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด

สิ่งที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ

  • พระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477 ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ คำว่า “บัวบก” เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดตามป่า มีหัวและใบคล้ายใบบัว ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ผักหนอก บัวบกนี้คงจะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาทจึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า “พระพุทธบาทบัวบก” หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บกซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตรกว้าง 90 เซนติเมตร เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465 พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม ทุกๆ ปีในช่วงเดือน 3 ขึ้น 13-15 ค่ำ จะมีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก
  • พระพุทธบาทหลังเต่า ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก มีลักษณะเป็นรอยพระบาทสลักลึกลงไปในพื้นหินลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ใจกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งงนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า “พระพุทธบาทหลังเต่า”
  • ถ้ำและเพิงหินต่าง ๆ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ แห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ในระยะทางไม่ไกลนัก ได้แก่ ถ้ำลายมือ ถ้ำโนนสาวเอ้ ถ้ำคน ถ้ำวัวแดง (ซึ่งถ้ำเหล่านี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหิน และมนุษย์เหล่านั้นได้เขียนรูปต่างๆ ไว้ เช่น รูปคน รูปมือ รูปสัตว์ และรูปรายเลขาคณิต) นอกจากนั้นยังมีลานหินที่สวยงาม คือ ลานหินโนนสาวเอ้ ธรรมชาติได้สร้างเพิงหินต่างๆ ไว้ ทำให้มนุษย์รุ่นหลังๆ ได้จินตนาการผูกเป็นเรื่องตำนานพื้นบ้าน คือ เรื่อง “นางอุสา-ท้าวบารส” เพิงหินที่สวยงามเหล่านี้ ได้แก่ คอกม้าท้าวบารส หอนางอุสา บ่อน้ำนางอุสา นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนหลักเสมาและหินทรายจำหลัก พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหิน วัดพ่อตาและเพิงหินวัดลูกเขย
  • พระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่บนเนินเขาในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอันเก่าแก่และมีการขุดค้นพบใบเสมาที่ทำด้วยหินเป็นจำนวนมาก ใบเสมาเหล่านี้สลักเป็นรูปบุคคลศิลปะทวาราวดี
  • หอนางอุสา ถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นโขดหินคล้ายรูปเห็ดอยู่บนลาน เดิมเกิดจากการกระทำตามธรรมชาติ ต่อมาคนได้ดัดแปลงโดยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน มีใบเสมาหินขนาดกลางและขนาดใหญ่ปักล้อมรอบโขดหิน แสดงว่า บริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลแล้ว
  • ถ้ำพระ เดิมคงเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ ที่เกิดจากก้อนหินขนาดใหญ่วางทับซ้อนกันตามธรรมชาติ ต่อมา คนได้สกัดหินก้อนล่าง ออกจนกลายเป็นห้องขนาดใหญ่ รวมไปถึงสลักรูปพระพุทธปฏิมาเอาไว้ในห้องอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยของหลุมเสาด้านนอกเพิงหินเรียงอยู่เป็นแนวในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงสันนิษฐานว่า เดิมอาจมีการต่อหลังคาเครื่องไม้ออกมาด้านนอก ทำ ให้หลังคาเพิงหินก้อนบนทรุดตัวพังทลาย และส่วนหนึ่งได้ล้มทับพระพุทธปฏิมาจนชำรุดเสียหายไปด้วย
  • ถ้ำวัว – ถ้ำคน มีลักษณะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่วางทับซ้อนกัน ทำให้เกิดเป็นชะง่อนหิน ที่สามารถใช้หลบแดดหลบฝนอยู่ทางด้านล่างของเพิง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของเพิงหิน พบภาพเขียนรูปสัตว์และรูปคน จึงเรียกว่า “ถ้ำวัว – ถ้ำคน”
  • แหล่งภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ แหล่งภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระพุทธบาทบัวบก บริเวณนี้พบแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนผนังเพิงหินอยู่ 2 จุด จุดแรกได้แก่ “โนนสาวเอ้ 1” ซึ่งเป็นโขดหินขนาดใหญ่อยู่กลางลานหิน ภาพเขียนสีบนผนังเขียนด้วยสีแดงคล้ำ เป็นลายเส้นรูปต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีลายเส้นเขียนด้วยสีขาว เป็นภาพช้าง หงส์ และม้า ซึ่งจากฝีมือที่ปรากฏสันนิษฐานว่า เป็นงานที่เขียนขึ้นในสมัยหลัง ถัดจากโนนสาวเอ้ 1 ออกไปประมาณ 5 เมตร เป็นที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสี “โนนสาวเอ้ 2” ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน บนผนังเพิงหินด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ภาพเขียนสีที่พบได้แก่ ภาพลายเส้นคู่ขนานต่อกันเป็นรูปหลายเหลี่ยม ภาพวงกลมคล้ายลายก้านขด ภาพลายเส้นคล้ายสัตว์ที่มี 4 ขา

[adsense-2]

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.

อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โทร. (042) 251 350-2
ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี โทร. (042) 223 708
สำนักงานจังหวัดอุดรธานี โทร. (042) 223 304
สถานีตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี โทร. (042) 222 285, (042) 328 515-9
ตำรวจท่องเที่ยวอุดรธานี โทร.(042) 221 1219, (042) 321 189, 1155
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท. สำนักงานอุดรธานี โทร.(042) 325 406-7
สถานีรถไฟอุดรธานี โทร.(042) 222 061
สถานีขนส่งอุดรธานี โทร. (042) 222 916
โรงพยาบาลอุดรธานี โทร. (042) 248 586, (042) 348 888
โรงพยาบาลหมอไพโรจน์ โทร. (042) 248 101-5, (042) 246 706-7
โรงพยาบาลวัฒนา โทร. (042) 241 031-2
โรงพยาบาลปัญญาเวชอินเตอร์ โทร. (042) 343 111
โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม โทร. (042) 341 710
โรงพยาบาลเอกอุดร โทร. (042) 342 555
โรงพยาบาลชัยเกษม โทร. (042) 243 385-6
โรงพยาบาลรัตนแพทย์ โทร. (042) 247 713

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานีประมาณ 67 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 เส้นอุดรธานี-หนองคาย ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 13 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร แยกขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2348 อีกประมาณ 12 กิโลเมตร มีแยกขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น