พุทธมณฑล

พุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อยู่ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. 2500มีพระพุทธรูปปางลีลาประจำพุทธมณฑล เรียกว่า พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีพระพุทธรูปนี้มีความโดดเด่นทางผ้าจีวรที่พลิ้วเหมือนจริง (พระพุทธรูปนี้สร้างเสร็จและฉลอง เมื่อ พ.ศ. 2525 คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี)

พุทธมณฑลในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและจัดประเพณีกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปพักผ่อนได้อีกด้วยค่ะ

สิ่งที่น่าสนใจภายในพุทธมณฑล

พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศานา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยสองชั้น มีลักษณะเป็นวงกลมสองระดับ คือวงกลมใน และวงกลมนอก ขนาด 13,240 ตารางเมตร รูปวงกลมวงแหวนด้านนอกด้านล่างเป็นบริเวณจัดแสดง ส่วนบนเป็นที่เก็บของ ชั้นลอยสำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ทำงาน ผนังวงแหวนด้านนอกไม่มีหน้าต่าง เพื่อสะดวกในการรักษาความปลอดภัยในการจัดแสดง ในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
1.ส่วนการแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งแต่ละแผนกผู้เข้าชมสามารถเดินทะลุถึงกันได้
2. ส่วนจัดนิทรรศการการบรรยาย
3. ส่วนบริการห้องน้ำห้องสุขา ฯลฯ
เปิดเวลา 09.00 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ องค์พระพุทธรูปที่เป็นสัญลักษณ์ของพุทธมณฑล มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่าองค์พระประธาน อยู่บริเวณตรงกลางของพุทธมณฑล ค่อนไปด้านหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณใต้ฐานองค์พระประธานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฯ เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พระศรีศากยะทศพลญาณ เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริดหนัก 17,543 กิโลกรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม 137 ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อ และปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสูง 15.875 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปลีลา หล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยประยุกต์พุทธลักษณะ มาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียดเท่ากับ 1/4 นิ้ว) ดังนั้นพระศรีศากยะทศพลญาณฯ ในปัจจุบัน จึงมีความสูงถึง 15.875 เมตร ใหญ่กว่าขนาดต้นแบบ 7.5 เท่า
ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ไม้ปาริฉัตตกะ ณ ดาวดึงส์เทวปโลก เมื่อออกพรรษามหาปวารณาแล้ว จึงเสด็จลงจากเทวโลก ในการเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “เทโวโรหณสมาคม”

เวียนเทียนรอบพระประธาน พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พระประธานในพุทธมณฑล นับเป็นสถานที่หนึ่งที่ประชาชนนิยมมาเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา เป็นประจำทุกปี ประชาชนหลายคนที่เดินทางมาเวียนเทียนที่นี่มักจะแต่งกายในชุดสีขาว ทั้งในช่วงเวลากลางวัน ช่วงเย็นไปจนถึงเวลากลางคืนก็มีประชาชนมาเวียนเทียนกันไม่ขาดสาย

พระวิหารพุทธมณฑล เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิราช ผนังวิหารทำเป็น 2 ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่าง เลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลวดลายภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป 8 องค์ และพระโพธิสัตว์ 2 องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 25 พุทธศตวรรษขนาด 2,500 มม. ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2518 พระวิหารแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปยืน ปางพุทธลีลา จัดสร้างขึ้นโดยสำนักธรรมพานิช ใช้ทองสัมฤทธิ์หล่อทั้งองค์ สูง 2.50 เมตร พระพุทธรูปองค์นี้กระทำพุทธาภิเษกแล้ว จึงมีความศักดิ์สิทธิ์กอปรด้วยพระพุทธคุณเป็นเอนกประการ

ทุ่งทานตะวันพุทธมณฑล หลังจากที่ได้เกิดมหาวิกฤติอุทกภัยขึ้นในปี 2554 น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่พุทธมณฑลสร้างความเสียหายให้กับต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่ ยืนต้นตายไปเป็นจำนวนมาก ในวาระวันมาฆบูชา 2555 ซึ่งเป็นวาระพุทธชยันตี ครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประชาชนและองค์กรหน่วยงานต่างๆ ได้มาทำกิจกรรมฟื้นฟูพุทธมณฑล ปลูกต้นไม้ใหม่ โดยเลือกปลูกทานตะวันจำนวนมากบริเวณด้านหน้าพระวิหารพุทธมณฑล ดอกทานตะวันเหล่านี้บานในช่วงวันมาฆบูชาพอดี เป็นภาพที่สวยงามอย่างยิ่ง

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรงปลูก เป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ทางด้านขวาขององค์พระประธาน เด่นตระหง่านอยู่กลางลานกว้าง ล้อมรอบไปด้วยร่มเงาของจามจุรี เป็นที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไป ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรงปลูกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นผู้แทนพระองค์ในการรับหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากสังเวชนียสถาน พุทธคยา ประเทศอินเดีย ที่นางลีลา กฤษณา มุรติ โปนัปปา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดีย ประจำประเทศไทย ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 25 กันยายน พระพุทธศักราช 2545 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จากนั้นจึงทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อันเปรียบประดุจการประดิษฐานโพธิปัญญา พระราชทานลงในดวงจิตของปวงชนชาวไทย เพื่อความสถาะรแห่งความรู้แจ้ง ในทางพ้นทุกข์ทั้งปวง ตามพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า สืบไป

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ธรรมจักรขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางเนินเตี้ยๆ มีพื้นที่บริเวณโดยรอบค่อนข้างกว้างนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ของพุทธมณฑล อันประกอบด้วย ตำบลประสูติ ตำบลตรัสรู้ ตำบลปฐมเทศนา ตำบลปรินิพพาน สังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล เรียงรอบพื้นที่ด้านหลังองค์พระประธานพุทธมณฑล ในลักษณะของวงกลม และมีสวนลัฏฐิวัน (สวนตาล) เป็นส่วนหนึ่งของวงกลมรอบองค์พระ บริเวณที่กล่าวมานี้ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างร่มรื่นด้วยร่มไม้ขนาดใหญ่ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนจำนวนมาก สังเวชนียสถาน และพุทธมณฑล เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงองค์พระพุทธเจ้า เมื่ออยู่ในบริเวณพุทธมณฑล จึงควรสำรวม และไม่ทำในสิ่งที่ไม่สมควร สังเวชนียสถาน มีความสำคัญในพระพุทธศาสนายังไงคงพอรู้กันอยู่บ้าง ผมขอเอาเรื่องสวนลัฏฐิวัน มาให้อ่านเป็นเกร็ดความรู้จะดีกว่า

สวนลัฏฐิวัน หรือสวนตาล อยู่บริเวณสังเวชนียสถานปรินิพพาน ระหว่างทางเข้าไปสู่องค์พระประธานพุทธมณฑล สวนลัฏฐิวันในพระพุทธประวัติ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระนครราชคฤห์ เชิงภูเขาปัพภาระ แคว้นมคธ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิพิสารราชาผู้ครองแคว้นมคธพร้อมด้วยราชบริพาร จำนวน 110,000 คน เสด็จต้อนรับพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสาวกซึ่งเสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวัน บรรดาราชบริพารเหล่านี้ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงตรัสถาม พระอุรุเวลากัสสะปะ ผู้ที่ชาวนครราชคฤห์นับถือมาก ว่าทำไมจึงเลิกบูชาไฟ พระอุรุเวลากัสสะปะกราบทูลประกาศความไม่มีแก่นสารแห่งลัทธิเดิม บรรดาราชบริพารทราบแล้วก็เชื่อถือ จึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์แสดง พระเจ้าพิมพิสารและราชบริพารจำนวนมาก เมื่อสดับพระธรรมเทศนาได้ธรรมจักษุ พระเจ้าพิมพิสารประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ณ ที่นี้

มหาวิหารพระไตรปิฎกหินอ่อน จากด้านหลังขององค์พระประธานพุทธมณฑล มีถนนตรงไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าจะต้องผ่านสังเวชนียสถานเลยไปอีกไกลพอสมควร จะเห็นอาคารหลังหนึ่งที่สร้างคล้ายศาลามีเสาและหลังคาคลุม ส่วนด้านข้างเปิดโล่งทั้งหมด สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุขทั้งสี่ทิศที่เราเห็นนี้ สร้างบนพื้นที่ 9 ไร่ ขนาด 5,824 ตารางเมตร กลางพื้นที่มีพระเจดีย์เก้ายอดประดิษฐานอยู่ เห็นส่วนยอดเลยหลังคาขึ้นมา ภายในอาคารมีแผ่นจารึกพระไตรปิฎกหินอ่อนขนาด 1.10 x 2.00 เมตร จำนวน 1,418 แผ่น ด้านบนเพดานโดยรอบองค์เจดีย์เป็นภาพพุทธประวัติ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก การประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และประวัติความเป็นมาพร้อมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานการจารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิชาการทางพระพุทธศาสนา

เจดีย์เก้ายอด เจดีย์ที่อยู่ตรงกลางของอาคารพระไตรปิฎกหินอ่อนส่วนฐานเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ด้วยความที่อาคารล้อมรอบองค์เจดีย์อันเป็นที่ตั้งของแผ่นจารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน เป็นอาคารขนาดใหญ่มาก จึงเป็นสถานที่ที่ประชาชนจำนวนมากมาอาศัยร่มเงาใต้หลังคาเป็นที่พักผ่อน โดยรอบของมหาวิหารพระไตรปิฎกมีน้ำล้อมรอบ อากาศจึงเย็นกว่าพื้นที่อื่นๆ

[adsense-2]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ฝ่ายประชาสัมพันธ์พุทธมณฑล โทร. (02) 441 9012, (02) 441 9009, (02) 441 9801-2, (02) 441 9440
ตำรวจภูธรภาค 7 โทร. (034) 243 751-2, (034) 241 426
ที่ทำการไปรษณีย์นครปฐม โทร. (034) 251 986, (034) 242 356
เทศบาลเมืองนครปฐม โทร. (034) 253 850-4
โทรศัพท์จังหวัดนครปฐม โทร. (034) 251 070, (034) 242 356
ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม โทร. (034) 340 011-2
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย โทร. (034) 332 061, (034) 332 067, (034) 332 109
โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม โทร. (034) 254 150-4
สถานีเดินรถโดยสารประจำทาง โทร. (034) 251 155, (034) 514 438
สถานีตำรวจภูธร จังหวัดนครปฐม โทร. (034) 242 886, (034) 511 560
สถานีรถไฟจังหวัดนครปฐม โทร. (034) 242 305
สำนักงานขนส่งนครปฐม โทร. (034) 241 378
สำนักงานจังหวัดนครปฐม โทร. (034) 243 811, (034) 258 678
ททท. สำนักงานกาญจนบุรี โทร. (034) 512 500, (034) 623 691
ศูนย์การท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ จังหวัดนครปฐม โทร. (034) 340 065-6
หอการค้าจังหวัดนครปฐม โทร. (034) 254 231, (034) 254 647, (034) 210 230
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155
ตำรวจทางหลวง โทร. 1193

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ ขับรถไปตามถนนเพชรเกษมถึงประมาณกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเดินทางไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี แล้วแยกเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปเล็กน้อย

เส้นทางที่ 2 ใช้ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แยกเข้าสู่ถนนอุทยาน(อักษะ) เพื่อมุ่งเข้าสู่พุทธมณฑลได้ ถนนอุทยาน(อักษะ )เป็นถนนที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยแนวเสาไฟประดับรูปกินรี น้ำพุและไม้ประดับต่างๆ มีทัศนียภาพที่สวยงาม

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น