วัดประเดิม

วัดประเดิม ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลตากแดด อำเภอชุมพร จังหวัดชุมพร  เนื่องจากมีการพบแท่งศิลา ซึ่งแรกเข้าใจว่าเป็นเสาหลักเมือง แต่ต่อมาพบว่าเป็นพระพุทธรูปหินทรายที่ผุกร่อน ชาวบ้านเรียกว่าพระข่อย จึงเชื่อกันว่า เป็นเมืองเดิมของจังหวัดชุมพร อยู่แถบวัดประเดิมฝั่งซ้ายของแม่น้ำชุมพร ต่อมาย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลท่ายาง และที่ตำบลท่าตะเภาตามลำดับ เหตุที่ย้ายเมืองบ่อยครั้งอาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำท่าตะเภา และแม่น้ำชุมพร หรือ อาจเป็นเพราะเมืองชุมพรเป็นเมืองหน้าด่านในการทำศึกสงคราม จึงไม่สามารถสร้างบ้านเมืองถาวรได้ สำหรับชื่อ วัดประเดิม นั้น เล่ากันว่า น่าจะมาจากการเป็นวัดแรกในบริเวณนี้ และเป็นวัดประจำเมืองชุมพรเก่า เชื่อกันว่าพระปรางค์เดิมมีรูปแบบศิลปะแบบศรีวิชัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันที่แน่นอน ในสมัยก่อนน่าจะมีโบราณวัตถุชนิดต่างๆ อยู่ในวัดมากพอสมควร แต่ได้ชำรุดหักพังไปตามกาลเวลาและจากภัยสงคราม ในปัจจุบันยังปรากฏโบราณวัตถุที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ เช่น ใบเสมาหินทราย เศียรพระพุทธรูปหินทราย และเศียรพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะสมัยอยุธยา ประมาณ 20 เศียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังขุดพบฐานรากของเจดีย์และแนวกำแพงวัดโบราณจำนวนมาก แสดงถึงการเป็นชุมชนในสมัยโบราณ

รูปแบบศิลปกรรม พระปรางค์วัดประเดิมก่อนบูรณะ ยังมีผู้จดจำได้ว่าเดิมองค์ปรางค์ตั้งอยู่บนพื้นเรียบไม่ได้ยกพื้นสูง โดยรอบองค์พระปรางค์ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันทุกอย่างเป็นของที่เพิ่งสร้างใหม่ พระปรางค์ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้มีลักษณะรูปแบบศิลปกรรม เป็นปรางค์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสทำเป็นฐานบัวลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ รูปทรงสูงชลูด เรือนธาตุมีขนาดเล็กทรงสูงรับกับทุกส่วนขององค์ปรางค์ซึ่งมีลักษณะเป็นฐานซ้อนกันขึ้นไป รอบพระปรางค์มีระเบียงคตล้อมรอบ ระหว่างระเบียงคตกับพระปรางค์เป็นลานประทักษิณ ในบริเวณวัดมีเจดีย์รายขนาดเล็ก 1 องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สภาพทรุดโทรมมีผู้เล่าว่าเดิมเจดีย์รายรอบวัดมีหลายองค์ แต่ปัจจุบันเหลือองค์เดียว

[adsense-2]

สิ่งสำคัญภายในวัด

1. พระปรางค์ (บูรณะแล้ว) ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำฐานเป็นบัวลดหลั่นกันขึ้นไป รูปทรงชลูด เรือนธาตุมีขนาดเล็ก มีระเบียงคตล้อมรอบพระปรางค์ ระหว่างระเบียงคตกับพระปรางค์เป็นลานประทักษิณ รูปแบบศิลปกรรมดั้งเดิมของพระปรางค์องค์นี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นแบบใด แต่จากรูปแบบโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในวัด เช่น เศียรพระพุทธรูปหินทราย และใบเสมาหินทราย อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา

2. เจดีย์รายขนาดเล็ก 1 องค์ เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สภาพทรุดโทรม มีผู้เล่าว่าเดิมเจดีย์รายรอบวัดมีหลายองค์แต่ปัจจุบันเหลือเพียงองค์เดียวเท่านั้น

3.อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่น สร้างขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ.2473-2480 เป็นอาคารไม้แบบเรือนปั้นหยา ยอดจั่ว ชายคาตกแต่งด้วยไม้ฉลุ และกลึงลวดลายแบบพื้นเมือง อาคารนี้แบ่งเป็น ๒ ห้อง โดยมีชานเป็นส่วนเชื่อมต่อ ระเบียงจะอยู่ลดระดับต่ำจากชานประมาณ 30 เซนติเมตร ปัจจุบันส่วนระเบียงมีการซ่อมแซมโดยทำเป็นพื้นคอนกรีต และเสาคอนกรีตที่ยกพื้นทำให้อาคารนี้เป็นเรือนใต้ถุนโปร่ง (ตัวอย่างของอาคารสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบนี้ ปัจจุบันพบน้อยมาก เนื่องจากได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ เมื่อ ปี พ.ศ.2532)

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ททท. สำนักงานชุมพร(เยื้องสถานีบริการน้ำมัน ปตท.) ห่างจากสถานีรถไฟ 200 ม. เลขที่ 111/11-12 ถ.ทวีสินค้า ต.ท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร 86000
โทรศัพท์. 0-7750-1831-2 , 0-7750-2775-6
โทรสาร. 0-7750-1832 อีเมล: [email protected]
กองกำกับการตำรวจภูธร: โทร 0-7750-1039
โรงพยาบาลจังหวัดชุมพร: โทร 0-7750-3672
สถานีขนส่งจังหวัด: โทร 0-7757-6803
สถานีรถไฟชุมพร: โทร 0-7750-1103
ตำรวจท่องเที่ยว: โทร 1155
ตำรวจทางหลวง: โทร 1193,0-7753-4200-1
ศูนย์กู้ชีพ นเรนทร ชุมพร: โทร 1669

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

จากสี่แยกปฐมพร ขับรถไปประมาณ ประมาณ 6 กิโลเมตร ลอดใต้สะพานข้ามทางรถไฟ เข้าซอยเมืองชุมพร 15 (ซอยวัดประเดิม) ประมาณ 2 กิโลเมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น