วัดป่าสาละวัน

วัดป่าสาละวัน ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อยู่หลังสถานีรถไฟนครราชสีมา เป็นวัดหนึ่งที่ได้เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุของเกจิอาจารย์ที่เป็นที่เคารพบูชาของศาสนิกชนโดยทั่วไป คือ อาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น รวมทั้งอัฐิของอาจารย์สิงห์ อดีตเจ้าอาวาสที่ได้บุกเบิกสร้างวัดแห่งนี้ ตามประวัติของวัดป่าสาลวันมีอยู่ว่า เดิมเป็นวัดประเภทอรัญญวาสี ตามประวัติได้เริ่มสร้างเป็นสำนักสงฆ์เมื่อปี พ.ศ.2474 หลวงชาญนิคม(ทอง จันทรศร) เป็นผู้ถวายที่ดินเริ่มแรก เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) ขณะดำรงสมณศักดิ์พระพรหมมุนี เป็นผู้ตั้งนามให้ตามสถานที่ว่า “วัดป่าสาลวัน” เนื่องจากเห็นว่าบริเวณที่สร้างวัดเป็นป่าไม้เต็งรัง เพราะคำว่า สาละ แปลว่า ต้นรัง วนะ แปลว่า ป่า

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

อนุสรณ์สถานบูรพาจารย์เจดีย์ เป็นเจดีย์แห่งพระกัมมัฏฐาน ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอัฐิธาตุบูรพาจารย์ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ภายในมีรูปแหมือน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อพุธ ฐานิโย หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล หลวงปู่สิงห์ ขนตยาคโม และพระอาจารย์พร พระอริยสงฆ์ของประเทศ เป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างถวายครูบาอาจารย์ เป็นถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาที่จะทำให้ระลึกถึง หลวงพ่อพุธ ฐานิโย พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทางวิปัสสนากิมมัฏฐานเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิริมงคลของเมืองนครราชสีมาอีกแห่งหนึ่ง

การสร้างอนุสรณ์สถานบูรพาจารย์เจดีย์ มีวัตถุประสงฆ์เพื่อเป็นปูชนียสถานที่พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณธรรม คุณงามความดีของหลวงพ่อพุธ ฐานิโยและบูรพาจารย์ โดยเจดีย์บูรพาจารย์ประกอบด้วย พระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุครูอาจารย์ของหลวงพ่อและอัฐิของหลวงพ่อพุธ บูรพาจารย์เจดีย์เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2543 ณ เมรุชั่วคราวที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อพุธ ตกแต่งภายในและภายนอกแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547

ความสวยงามของบูรพาจารย์เจดีย์แห่งนี้สวยงามทั้งการมองจากระยะไกลและระยะใกล้ เจดีย์จตุรมุขนี้มีผู้ออกแบบคืออาจารย์วิชิต คงประกายวุฒิ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล การออกแบบเป็นการนำเอาลักษณะที่ดีที่สุดจากงานจำนวน 6 แบบที่ส่งเข้าประกวดมาออกแบบใหม่ งานชิ้นนี้มีผศ.ดร.สงวน วงษ์ชวลิตกุล เป็นวิศวกรที่ปรึกษา อาจารย์สุชาติ ปัตถา เป็นวิศวกรก่อสร้าง มีฐานกว้าง 41.16 เมตร สูง 25.43 เมตร

โดยรอบเจดีย์มีภาพแกะสลักภาพนูนต่ำบนหินทรายเป็นรูปหลวงพ่อพุธ บูรพาจารย์ และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ประตูแต่ละด้านเป็นไม้แกะสลักด้วยลวดลายวิจิตรเป็นรูปเทวดา วัสดุที่ปูพื้นและผนังดูสวยงาม มีทั้งหินทราย หินแกรนิตและหินอ่อน ความสวยงามทางสถาปัตยกรรมโดยรวมเห็นได้จากภาพถ่ายมุมสูง รอบนอกทำเป็นกรอบวงกลม ถัดเข้ามาเป็นบันไดทางขึ้นสี่ด้านเป็นสองระดับ ระเบียงชั้นนอกกับระเบียงชั้นในเป็นรูปแปดเหลี่ยมเหมือนกับตัวเจดีย์ บริเวณชั้นล่างของเจดีย์ทำเป็นห้องโถง ผนังทำด้วยกระจก

ด้วยความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อหลวงพ่อพุธ ในแต่ละวันเราจะเห็นผู้คนเข้ามากราบไหว้ไม่ขาดสาย บริเวณด้านในของเจดีย์สิ่งที่โดดเด่นคือพระพุทธรูปองค์ประธาน ใกล้กันมีรูปปั้นของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย และบูรพาจารย์อันได้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์พร สุมโน

บริเวณผนังสองด้านภายในเจดีย์มีข้าวของเครื่องใช้และสิ่งที่บอกเล่าเกี่ยวกับหลวงพ่อพุธ ได้แก่ บาตร ตาลปัตร ภาพถ่ายสำคัญ หนังสือ ของใช้ส่วนตัวต่างๆ

[adsense-2]

ประวัติหลวงพ่อพุธ

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ได้เข้ามาปฏิบัติธรรมและจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดป่าสาลวันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 ระยะกว่า 30 ปีท่านได้พัฒนาวัดทั้งด้านสถานที่ได้แก่ การปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ รวมไปถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคให้มีความสะดวกสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่เข้ามาถวายตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อพุธท่านได้อบรมสั่งสอนทั้งพระสงฆ์และฆารวาส เป็นจำนวนมากนับแสนคน ได้แก่ ครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา นักวิชาการ พลเรือน ตำรวจทหาร เป็นต้น

ในการให้ความสำคัญกับการฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน หลวงพ่อพุธได้ร่วมกับญาติโยมสร้างและขยายศูนย์การฝึกทางวิปัสสนาไปหลายพื้นที่ได้แก่ ศูนย์ฝึกวิปัสสนาวัดป่าวะภูแก้ว ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา วัดป่าชินรังสี ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดหนองปลิง ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย มรณภาพเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2543

ก่อนหน้านี้อันเนื่องมาจากการบำเพ็ญบารมีของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ดังกล่าว ความได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้น สามัญ พระชินวาศาจารย์ ในปี พ.ศ.2511 และพระภาวนาพิศาลเถระ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2535 เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพมหานคร เมื่อ 1 เมษายน 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรมชั่วคราวที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และสนทนาธรรมกับหลวงพ่อฯ ที่วัดป่าสาลวันในตอนบ่ายวันที่ 2 เมษายน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแก่หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และวัดป่าสาลวัน ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วสารทิศมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

วัดป่าสาละวัน  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา รหัสไปรษณีย์ 30000
โทร.044-254-402, 081-967-1435, 081-955-2125
ททท. สำนักงานนครราชสีมา (นครราชสีมา ชัยภูมิ) อ.เมือง นครราชสีมา โทร. (044) 213-666, (044) 213-030
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. (044) 251-818
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155, (044) 341-777-9
ท่าอากาศยานนครราชสีมา โทร. (044) 259-524
บมจ. การบินไทย (สนามบิน) โทร. (044) 255-425
โรงพยาบาลมหาราช โทร. (044) 254-990-1
สถานีขนส่งแห่งที่ 1 โทร. (044) 242-889
สถานีขนส่งแห่งที่ 2 โทร. (044) 256-006-9
สถานีตำรวจภูธร โทร. (044) 242-010
สถานีรถไฟ โทร. (044) 242-044
สำนักงานจังหวัด โทร. (044) 243-798

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว วัดป่าสาลวัน ตั้งอยู่ที่ตัวอำเภอเมือง จ.นครราชสีมา อยู่ในตัวเมืองหลังสถานีรถไฟนครราชสีมา

รถประจำทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยใช้รถประจำทางสาย นครราชสีมา-ด่านขุนทด จากสถานีขนส่งแห่งที่ 1 รถออกทุง 30 นาที ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. แล้วต่อรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างเข้าไปถึงวัด

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น