วัดสี่ร้อย

วัดสี่ร้อย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ชื่อตำบลสี่ร้อยและชื่อวัดเป็นชื่อที่สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ขุนรองปลัดชู และชาวบ้านวิเศษชัยชาญ 400 คน ที่เสียชีวิตในสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองกุย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ 2302 วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ นามว่า “หลวงพ่อโต” หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อร้องไห้” เมื่อปี พ.ศ 2530 มีข่าวใหญ่ว่าหลวงพ่อวัดสี่ร้อยมีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปทั้งชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงต่างหาโอกาสมานมัสการ “หลวงพ่อร้องไห้” นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถวัดนี้เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยา ที่มีความงดงามมาก ปัจจุบันภาพลบเลือนไปหมดแล้ว

ประวัติท่านขุนรองปลัดชู กองอาทมาต และวัดสี่ร้อย

วัดสี่ร้อย ในอดีต ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า ได้ให้มังระละมังฆ้อนนรธาราชบุตร ยกทัพมาตี เมืองมะริดของไทย ซึ่งอยู่ในความปกครองของกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้นขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ซึ่งเป็นผู้ทรงวิทยาคม แก่กล้า ชำนาญในการรบด้วยดาบสองมือ มีลูกศิษย์มากมาย จึงได้รวบรวมชาววิเศษไชยชาญ จำนวน 400 คน เข้าสมทบกับ กองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ โดยใช้ชื่อว่า “ กองอาทมาต ”

พระยารัตนาธิเบศร์ ยกกองทัพไปตั้งที่เมืองกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้สั่งให้ขุนรองปลัดชูคุมกองอาทมาต ไปตั้ง สกัดกองทัพพม่าที่อ่าวหว้าขาว ตั้งอยู่เหนือที่ว่าการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบันนี้

พอกองทัพพม่ายกทัพผ่านมา ขุนรองปลัดชูจึงคุม ทหารเข้าโจมตีรบด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอน ถึงแม้ทหารของไทยจะน้อยกว่า แต่ก็ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก การต่อสู้ผ่านไป 1 คืน ถึงเที่ยงวัน รุ่งขึ้นก็ยังไม่สามารถเอาชนะพม่าได้ เพราะพม่ายกทัพหนุนเข้ามาช่วยอีก

ด้วยกำลังที่น้อยกว่าจึงเหนื่อยอ่อนแรง ในที่สุดก็ถูกพม่ารุกไล่โจมตีแตกพ่ายยับเยิน แต่ทหารกองอาทมาต มีวิชาอาคมแก่กล้า ฟันแทงไม่เข้า ทหารพม่าจึงไสช้างเข้าเหยียบย่ำทหารกองอาทมาตตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือก็ถูกไล่ลงทะเลจมน้ำตายไปก็มาก ในที่สุด ขุนรองปลัดชู พร้อมด้วยทหารกองอาทมาตแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จำนวน 400 คน ก็เสียชีวิตด้วย ฝีมือของพม่า

ชาววิเศษไชยชาญ เมื่อทราบข่าวก็โศรกเศร้าเสียใจ จึงได้แต่ภาวนาขอบุญกุศล ที่ได้สร้างสมไว้จงเป็นปัจจัยส่งผลให้ดวง วิญญาณของทหารกล้าได้ไปสู่สุคติ ความเงียบเหงาวังเวงเกิดขึ้น หมดกำลัง ใจในการทำมาหากิน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการร่วมกันสร้างสิ่งต่างๆ ไว้เป็นที่ระลึกถึงผู้พลีชีพด้วย การสร้างวัดสี่ร้อย ในปี พ.ศ.2313 ใช้ชื่อสี่ร้อย ตามจำนวนกองอาทมาตสี่ร้อยคน ที่ไม่ได้กลับมา เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อนุชน รุ่นหลังของชาวเมืองวิเศษไชยชาญ เพื่อเป็นการย้ำเตือนความทรงจำให้ระลึกถึง บรรพบุรุษที่พลีชีพ เพื่อปกป้องปฐพีถึงกับเสียชีวิต โดยชื่อว่า วัดสี่ร้อย ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนทั่วไป

เจ้าอาวาสในขณะนั้นก็ได้ สร้างเจดีย์ ไว้เป็นที่รวบรวมดวงวิญญาณของ ชาวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ที่เสียชีวิตจำนวน 400 คน

หลังจากพม่าผ่านอ่าวหว้าขาวไปได้ ก็ไม่มีเมืองใดขัดขวางพม่า พากันยอมแพ้ทั้งหมด พม่าถึงกรุงศรีอยุธยาโดยง่าย การรบที่อยุธยาทำให้พม่าเสียหายหนัก เกิดปืนใหญ่ระเบิดใส่พระเจ้าอลองพญาบาดเจ็บสาหัส ต้องเลิกทัพ เดินทางกลับพม่า โดยพระเจ้าอลองพญาสวรรคตบริเวณด่านแม่ละเมาในเขตแดนไทย (ปัจจุบันเป็นบริเวณอุทยานแห่งชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก)

สงคราม ครั้งเสียกรุงครั้งที่สอง เป็นสงครามคนละครั้งกับครั้งนี้ โดยปี 2308 พม่ายกทัพมาใหม่ และสามารถพิชิตอยุธยาสำเร็จเมื่อ พ.ศ.2310 เกิดวีรกรรมชาวบ้านค่ายบางระจันในศึกครั้งนี้ โดยมีชาวบ้านจากวิเศษชัยชาญไปร่วมรบเช่นกัน ถึงกับมีผู้กล่าวว่า “ถ้าไม่มีวีรกรรมขุนรองปลัดชู ก็คงไม่มีวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน”

ต่อ มาถึงสมัยหลวงพ่อบุญ เป็นเจ้าอาวาสวัดสี่ร้อย ได้นับถือหลวงพ่อปั้นเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาก เมื่อหลวงพ่อปั้นได้มาเยี่ยมชาวสี่ร้อย และปฏิบัติกิจนิมนต์เป็นประจำ หลวงพ่อปั้นเป็นพระภิกษุที่มี ความเมตตาสูง เป็นที่เคารพรักของชาวสี่ร้อยเป็นอย่างมาก ได้เห็นว่าชาวสี่ร้อยมีความเคารพรักท่าน ตลอดจนชาวสี่ร้อยเลื่อมใสใน บวรพุทธศาสนา

หลวงพ่อปั้นจึงได้ชวนหลวงพ่อบุญ และชาวสี่ร้อยสร้างพระพุทธรูปเพื่อไว้เป็น ที่สักการะบูชาแทนพระเจดีย์ ในขณะนั้นชาวสี่ร้อยมีความเลื่อมใสจึงพากัน ไปนมัสการหลวงพ่อใหญ่วัดป่าเลไลยก์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประจำ เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลาและลำบากในการเดินทางไปนมัสการ จึงได้ตกลงกันสร้างหลวงพ่อใหญ่ขึ้น โดยจำลองแบบมาจาก ปางป่าเลไลยก์ วัดป่าเลย์ไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรีมาประดิษฐาน ณ วัดสี่ร้อย

นับว่าเป็น พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น โดยมีนายวาด นิลมงคล ในสมัยนั้นดำรงตำแหน่งรับราชการเป็นเสมียนตรา เป็นผู้บริหาร จัดการ การก่อสร้าง บอกบุญผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันสละทรัพย์ แก้ว แหวน เงินทอง มีคณะช่างก่อสร้างชื่อนายมาตร สุขมนัส นายผล รัตนเสถียร ใช้เวลาก่อสร้างถึง 16 ปี

ทำการพุทธาภิเษกยกรัศมีเบิกพระเนตร ติดอุณาโลม ในปี พ.ศ. 2475 พร้อม บรรจุวัตถุมงคล หลวงพ่อบุญ มอบให้พระยงค์ เพิ่มพูนและพระใน นำวัตถุมงคลไปบรรจุโดยใช้เชือกผูกหย่อนลงทางพระเศียร พระศอ และยกรัศมีทั้งสามปิด

งานประจำปีของวัดสี่ร้อย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 12 ประชาชนทั่วสารทิศจะมานมัสการหลวงพ่อใหญ่ ขอโชคลาภต่างๆนานา ใครมีทุกข์ร้อนประการใดก็มาบอกเล่าหลวงพ่อใหญ่ และมักมีการแก้บนด้วยพลุและละคร ปัจจุบันนี้วัดสี่ร้อยเป็นหนึ่งในแหล่ง ท่องเที่ยวของจังหวัดอ่างทอง

[adsense-2]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สำนักงานจังหวัดอ่างทอง โทร. (035) 611 235 , (035) 620 130
ประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง โทร. (035) 620 071 , (035) 613 003
สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอ่างทอง โทร. (035) 851 015 โทรสาร (035) 851 079
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง โทร. (035) 615 819 , (035) 613 905
เทศบาลเมืองอ่างทอง โทร. (035) 611 714-5
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทอง โทร. (035) 611 143
โรงพยาบาลอ่างทอง โทร. (035) 611 520 , (035) 615 111
บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. (035) 611 025 , (035) 611 344
สถานีขนส่งจังหวัดอ่างทอง โทร. (035) 611 344
สถานีตำรวจภูธรเมืองอ่างทอง โทร. (035) 611 000 , (035) 613 503
ตำรวจทางหลวง โทร. (035) 611 350 , 1193
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว วัดสี่ร้อยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลสี่ร้อย บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา – ท่าเรือ หรืออ่างทอง – วิเศษชัยชาญ ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12.5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนนคันคลองชลประทานอีก 5 กิโลเมตร

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น