วัดท่าแขก

วัดท่าแขก ตั้งอยู่ที่ บ้านน้อย ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ทางเข้าวัดเป็นถนนเส้นเดียวกันกับทางเข้า แก่งคุดคู้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย ชื่อเดิมของวัดในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านในท้องถิ่นจะเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดท่าแข่ คำว่า แข่ ในภาษาอีสานแปลว่า จระเข้ ที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกวัดนี้ว่าวัดท่าแข่เพราะว่า ที่บริเวณท่าลานหินข้างวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง สมัยนั้นจะมีจระเข้อาศัยอยู่อย่างชุกชุม พวกจระเข้มักจะพากันมานอนผึ่งแดดอยู่ที่ท่าลานหินของวัด เมื่อสร้างวัดนี้ขึ้นมาชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อวัดว่า วัดท่าแข่ พอปัจจุบันมีการเรียกชื่อวัดแห่งนี้ผิดเพี้ยนไปจากชื่อเดิมเป็นอย่างมาก จากเดิมเรียกว่า วัดท่าแข้ ปัจจุบันได้เพี้ยนไปเป็นชื่อ วัดท่าแขก

วัดท่าแขกเป็นวัดโบราณเก่าแก่ของจังหวัดเลย ตามหลักศิลาจารึกที่ถูกค้นพบภายในพระอุโบสถหลังเก่าของวัดท่าแขก ตัวหนังสือเขียนจารึกด้วยอักษรภาษาลาวโบราณ นักโบราณคดีของกรมศิลปากรได้แปลภาษาลาวจากหลักศิลาจารึกเป็นภาษาไทยว่า วัดท่าแขก สร้างเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย พุทธศักราช 2209 จุลศักราช 1028 ตรงกับรัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่ง กรุงศรีอโยธยา ( กรุงศรีอยุธยา ) วัดท่าแขกสร้างโดย ท้าวสุวรรณแผ้วพ่าย ซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์ผู้ครองนครล้านช้างหลวงพระบาง

ท้าวสุวรรณแผ้วพ่ายสร้างวัดท่าแขกถวายไว้ในพระบวรพุทธศาสนา เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญให้กับพระมเหสี และพระราชธิดาของพระองค์ ที่ได้สวรรคตพร้อมกันเนื่องจากเรือล่มในแม่น้ำโขงเขตเมืองเชียงคาน ในคราวที่ท้าวสุวรรณแผ้วพ่ายพาพระมเหสีและพระราชธิดาเสด็จทางเรือไปยังเมืองสีสัตนานาคคนหุต ( เมืองเวียงจันทร์ )

พุทธศักราช 2469 หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และพระภิกษุสามเณรจำนวนหนึ่ง ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านมาทางเชียงคาน หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นได้พาคณะศิษย์ที่ติดตามมาพักภาวนาที่วัดท่าแขก ซึ่งในตอนนั้นวัดท่าแขกยังเป็นวัดร้างอยู่ คณะของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นพักภาวนาอยู่ที่วัดท่าแขกได้ระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นท่านทั้งสองจึงพาคณะศิษย์เดินทางไปเที่ยววิเวกยังสถานที่แห่งอื่น

พุทธศักราช 2470 หลวงปู่เสาร์ กัตสีโล หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่คำหล้า ขันติธโ และคณะทั้งหมด 5 รูป ได้เดินทางมาพักภาวนาอยู่ที่วัดร้างท่าแขก หลวงปู่เสาร์ท่านพาหลวงปู่ชอบและพระเณรร่วมกับชาวบ้านเชียงคาน ทำการบูรณะซากปรักหักพังของอิฐดินหินปูนที่พังทับถมกัน ท่านได้จัดเรียงขึ้นมาใหม่ หลวงปู่เสาร์ท่านเอาเศษอิฐเศษหินมาก่อเป็นแท่นเพื่อใช้เป็นฐานที่ตั้งชั่วคราวของพระพุทธรูปโบราณ 3 องค์ ที่ท่านพบอยู่ภายในอุโบสถวัดท่าแขก หลวงปู่เสาร์และพักอยู่ที่วัดท่าแขกประมาณ 14 วัน จากนั้นท่านเดินทางไปเที่ยววิเวกไปทาง เมืองแก่นท้าว ประเทศลาว

จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2519 พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านมีดำหริที่จะฟื้นฟูวัดร้างท่าแขกแห่งนี้ขึ้นมา ท่านจึงมอบหมายภาระนี้ให้กับลูกศิษย์ของท่านสององค์คือ พระราชสีลสังวร ( ท่านเจ้าคุณนาซ่าว ) และ หลวงพ่อบัวคำ มหาวีโร ร่วมกับพระอีก 3 รูปคือ หลวงพ่อก้อนทอง ปิยธัมโม หลวงพ่อบุญเรือง พระพัง เข้ามาบูรณะวัดท่าแขกขึ้นใหม่อีกครั้ง

พระราชสีลสังวรและหลวงพ่อบัวคำ พาพระและชาวบ้านน้อยเชียงคานรื้อซากปรักหักพังของพระอุโบสถ และซากเจดีย์เก่าของวัดท่าแขก เพื่อทำการจัดเรียงขึ้นมาใหม่ สร้างศาลาชั่วคราวมุงด้วยสังกะสีเพื่อเอาไว้ครอบพระพุทธรูปโบราณทั้ง 3 องค์ ก่อนจะเข้าพรรษาในปีนั้น หลวงปู่ชอบท่านได้เดินทางมาพักค้างคืนที่วัดท่าแขก 2 คืน พอใกล้จะถึงวันปวารณาเข้าพรรษา ท่านจึงกลับมาจำพรรษาที่ วัดป่าสัมมานุสรณ์ ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

หลวงปู่ชอบได้มอบหมายให้ลูกศิษย์ของท่าน 3 องค์คือ หลวงพ่อบัวคำ มหาวีโร หลวงพ่อก้อนทอง ปิยะธัมโม หลวงพ่อสอน ให้มาจำพรรษาที่วัดท่าแขก เพื่อปลูกฝังศรัทธาของพระศาสนาแก่พุทธบริษัทในท้องถิ่นแถบนี้ จากนั้นเป็นต้นมาวัดท่าแขกจึงมีพระภิกษุสามเณรที่เป็นลูกศิษย์สายของ พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เดินทางแวะเวียนเข้ามาพัก และจำพรรษาอยู่เสมอมิเคยขาดจนตราบเท่าปัจจุบัน

พุทธศักราช 2524 พระอาจารย์แดง จันทวังโส ท่านได้มาจำพรรษาที่วัดท่าแขก หลวงปู่ชอบท่านจึงมอบหมายให้พระอาจารย์แดง เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแขก โดยหลวงปู่ชอบท่านเมตตารับวัดท่าแขกไว้ในความอุปถัมภ์ วัดท่าแขกจึงอยู่ในความเมตตาอุปถัมภ์ของ พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม มาโดยตลอดจนตราบเท่าทุกวันนี้

[adsense-2]

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  • พระพุทธรูปสลักหิน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สององค์ซึ่งสกัดจากหินทั้งก้อน คาดว่าเป็นหินจากแม่น้ำโขง องค์หนึ่งเป็นปางสมาธิ กว้าง 0.70 ม. สูง 1.20 ม. อีกองค์เป็นปางนาคปรก กว้าง 0.65 ม. สูง 1.20 ม. พระพุทธรูปทั้งสององค์ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์หลังใหม่ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมล้านช้า
  • พระพุทธรูปสามพี่น้อง ที่ได้รับเคารพสักการะอย่างมากจากชาวเชียงคานและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป สภาพของพระพุทธรูปได้รับการอนุรักษ์รักษาเป็นอย่างดี และทางวัดก็ได้ติดตั้งป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดและพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์
  • จารึกวัดท่าแขก ซึ่งเป็นโบราณวัตถุสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ถูกวางแอบอยู่ที่พื้นภายในอุโบสถ จารึกชิ้นนี้สามารถนำมาจัดแสดงหรือเล่าเรื่องราวของวัดได้เป็นอย่างดี
  • โรงเรียนมูลมังหลวงปู่ชอบฐานสโม และรูปปั้นเหมือนหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงวัดท่าแขก เป็นพระอาจารย์สายกรรมฐานที่มีศิษยานุศิษย์มาก และท่านเป็นประธานองค์อุปถัมภ์การบูรณะและฟื้นฟูวัดท่าแขก อีกทั้งท่านมีดำริอยากสร้างโรงพยาบาล และสร้างโรงเรียนการกุศลเพื่อสงเคราะห์เด็กยากจน คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม จึงได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนมูลมังหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2547 และเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนใน พ.ศ.2548

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลา 6.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากตัวอำเภอเชียงคาน หรือจากโรงพยาบาลเชียงคาน ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 (ถ.ศรีเชียงคาน) มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกหรือมุ่งหน้าแก่งคุดคู้ ประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบถนนเข้าสู่วัดท่าแขกอยู่ทางซ้ายมือ (ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย) ไปตามถนนประมาณ 200 เมตร จะพบวัดท่าแขกอยู่ทางซ้ายมือ

รถประจำทาง ขึ้นรถสายรอบเมืองจากตลาดเชียงคาน

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น