วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม

วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ตั้งอยู่บริเวณเขาสีเสียดอ้า หมู่บ้านกลางดง ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง แยกจากทางหลวงหมายเลข 2 (นครราชสีมา-สระบุรี) หลักกิโลเมตรที่ 150  ซึ่งนักเดินทางบนถนนมิตรภาพสามารถมองเห็นองค์พระพุทธรูปสีขาวตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนไหล่เขา เมื่อเดินทางมาถึงตรงหลักกิโลเมตรที่ 150 มีทางแยกเข้าไปอิก 2 กิโลเมตร มีถนนราดยางเข้าไปถึงวัด ซึ่งเมื่อเข้าไปถึงบริเวณภายในวัดสามารถสัมผัสกับความรู้สึกที่สงบ ร่มเย็น เหมาะสำหรับการเข้าไปหยุดสักการะ เปรียบเสมือนหนึ่ง ขอพรในนาทีแรกที่ย่างก้าวสู่ประตูอีสาน

วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม เกิดขึ้นจากดำริของ พระอาจารย์ท่านพ่อลี (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) ที่จะสร้างวัดขึ้น ณ เชิงเขาสีเสียดอ้าไปพร้อมๆ กับ การสร้างพระพุทธรูปไว้บนเนินเขา

สำหรับผู้ที่เป็นผู้นำสำคัญในการก่อสร้าง วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม พร้อมกับพระพุทธรูปองค์นี้ คือ พลเอกพงษ์ ปุณณกัณต์ ซึ่งได้เริ่มสร้างตั้งแต่ครองยศเป็นพลโท และตามจารึกปณิธานวัจนะ ซึ่งบรรจุอยู่ภายในองค์พระพุทธรูปบอกไว้ว่า เนื่องจากผู้สร้างได้รำลึกถึงโอวาทของพระอาจารย์ท่านพ่อลี การก่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งได้ลงมือสร้างเป็นปฐม เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2510 และ ได้สำเร็จเป็นองค์พระบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2512

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

1. พระพุทธสกลสีมามงคล  เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” หรือ “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบทนั่งปางประทานพรสีขาวขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 27 เมตร สูง 45 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก โดดเด่นอยู่บนยอดเขาสูงจากระดับพื้นดิน 112 เมตรหรือ 56 วา หมายถึง พระพุทธคุณ 56 ประการ ส่วนความสูงขององค์พระ 45 เมตร หมายถึง พระพุทธองค์โปรดเวไนยสัตว์อยู่ 45 พรรษา หรือเรียกว่าทรงทำพุทธกิจอยู่ 45 พรรษา หลังจากที่ตรัสรู้แล้วทางขึ้นไปนมัสการองค์พระเป็นบันไดแยกออกสองข้าง เป็นรูปโค้งเว้าเหมือนขอบใบโพธิ์ นับรวมทั้งด้านซ้ายและขวาทั้งหมด 1,250 ขั้นซึ่งหมายถึง จำนวนพระอรหันต์ที่ไปชุมนุมกัน โดยมิได้นัดหมายในวันมาฆบูชา

พระพุทธสกลสีมามงคล สร้างขึ้น เพื่อเป็นการน้อมเกล้าฯ ถวายโดยพระราชกุศล เป็นพระบรมราชานุสรณ์พิเศษ และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระนามจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทั้งขอพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อของ 2 พระองค์ อัญเชิญประดิษฐานที่ฐานพระพุทธรูป และทรงพระราชทานพระนามว่า “พระพุทธสกลสีมามงคล” แต่ผู้คนทั่วไปมักเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” บ้าง “หลวงพ่อใหญ่” บ้าง

[adsense-2]

2. ถ้ำเมตตา และถ้ำหมี ณ ที่ประดิษฐานพระพุทธสกลสีมามงคล ท่านจะเห็นทางเดินป่าเล็กๆ ทอดยาวขึ้นไปบนเขา เส้นทางสายนี้จะนำท่านไปสู่ถ้ำเมตตา และถ้ำหมี และ ณ ถ้ำหมี นี้เอง เป็นถ้ำที่ หลวงปู่เมตตาหลวง (พระญาณสิทธาจารย์ ) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ใช้ในการบำเพ็ญภาวนาอยู่บ่อยครั้ง แต่ฉันไม่ได้เดินขึ้นไปดู การเดินขึ้นลงบันไดกว่าพันขั้น ทำให้ไม่มีแรงเดินต่อค่ะ

3. มณฑปพระพุทธรูป บนมณฑปนี้มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์แล้วยังมีแท่นกราบพระ ข้างมณฑปนี้มีต้นสาละอินเดียที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานให้วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม วันที่ 4 กรกฎาคม 2548

ณ ลานที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว มีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ พร้อมแท่นวางธูปเทียนให้ผู้ที่ศรัทธาได้กราบไหว้ บูชา อธิษฐานจิต

ตามทางขึ้นและลงบันไดร่มรื่นด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่ ที่ผลิดอก ออกผล และแผ่กิ่งก้านออกมาเป็นร่มเงา ให้ผู้ขึ้นมาแสวงบุญได้คลายร้อน มีพระพุทธรูปเรียงรายอยู่เป็นระยะๆ บางช่วงมีสุภาษิต คำพังเพย และคำสอนทางพระพุทธศาสนา และคำสอนพื้นบ้าน ให้คนที่ได้อ่านรำลึก และมีสติในการดำเนินชีวิต

บริเวณด้านล่างมีไก่หลายสายพันธุ์เดินจิกเมล็ดข้าว เมล็ดแห้งของผัก อยู่ขวักไขว่บางครั้งก็เห็นผู้ที่มีเมตตานำอาหารมาโปรยให้แก่ฝูงไก่เหล่านี้

นกยูงท่าทางสง่างามเดินเยื้องกรายอยู่ในลานวัด นกยูงเหล่านี้ดูเชื่องและเป็นมิตรมากค่ะ เคล็ดลับที่จะทำให้นกยูงตัวผู้รำแพนคือ เราต้องต้อนนกยูงตัวเมียให้มาอยู่ข้างหน้านกยูงตัวผู้ค่ะ แล้วเจ้าตัวผู้ก็จะทำสวยอวดตัวเมีย ถ้าไปถึงวัดลองทำดูนะคะแล้วจะได้ถ่ายรูปนกยูงตัวผู้รำแพนขนสวยๆค่ะ

ลานสำหรับกราบพระ บริเวณนี้เป็นบริเวณห้ามให้อาหารไก่ ประชาชนสามารถเดินขึ้นไปกราบพระบนชั้นไม้ที่ยกระดับขึ้น

บริเวณวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม นอกจากพระพุทธสกลสีมามงคล พระประธานองค์สำคัญของวัด ในบริเวณวัดก็ยังมีพระพุทธรูปและวิหารต่างๆ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
บ้านกลางดง ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30320 โทรศัพท์ (044) 361-667-8

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ตั้งอยู่บริเวณเขาสีเสียดอ้า หมู่บ้านกลางดง ทางฝั่งขวาของทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 150 มีทางแยกเข้าไปอิก 2 กิโลเมตร มีถนนราดยางเข้าไปถึงวัด

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น