วัดถ้ำขาม

วัดถ้ำขาม  ไปเดินตามรอยบุญของหลวงปูฝั้นและหลวงปู่เทสก์กันค่ะ  วัดถ้ำขามหรือภูขาม  ตั้งอยู่ที่ อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บนสันเขาภูพาน มีบรรยกาศร่มรื่นงดงาม เดิมเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านอาจารย์ฝั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้จนถึงประมาณ พ.ศ. 2507 ท่านอาพาธจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร ที่แห่งนี้มีเทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์ เป็นสถาปัตยกรรม แบบเจดีย์จตุรัสมุข ตามแนวศิลปกรรมอีสานผสมกับอยุธยา ภายในประดิษฐานรูปหล่อสำริดหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และเก็บอัฐิของพระอาจารย์เทศก์ เทศรังสี ซึ่งมีผู้คนยังมาเดินทางมาสักการะบูชาอยู่เป็นประจำ วัดแห่งนี้พระอาจารย์เทศก์ เทศรังสี ได้มาจำพรรษาจนกระทั่งละสังขาร ณ ที่นี้ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันได้ทำหุ่นเหมือนหลวงปู่เทสก์ หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ในอิริยาบถนั่งเก้าอี้ในกฎิเพื่อจำลองเหตุการณ์ประหนึ่งว่าหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่  และภายในวัดยังมีกุฏิเดิมของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่เคยจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้อีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของวัดถ้ำขาม
ในปี พ.ศ. 2496 พระอาจารย์ฝั้น ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ ติดกับถนนเลี่ยงเมือง ทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และวัดป่าภูธรพิทักษ์ยังติดอยู่กับวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวงซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ในระหว่างตอนกลางพรรษา พระอาจารย์ฝั้น ได้ปรารภกับลูกศิษย์ท่านได้นิมิตเห็นถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพาน ภายในถ้ำนั้นมีแสงสว่างเท่า ๆ กับตะเกียงเจ้าพายุ 2 ดวง อากาศดี สงบ ถ้าได้ไปวิเวกที่ถ้ำแห่งนี้ เหมือนได้อยู่อีกโลกหนึ่งทีเดียว

เมื่อออกพรรษาพระอาจารย์ฝั้นได้เดินทางไปยังถ้ำตามที่ได้นิมิตแต่มิได้ตรงไปยังถ้ำ ท่านได้เดินทางไปกับพระภิกษุและสามเณรเพียง 3 รูปเท่านั้น ท่านไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อพาคณะญาติโยมบำเพ็ญกุศลแก่บุพพาการี เมื่อเสร็จจึงออกเดินทางไปพักที่วัดป่ากลางโนนภู่ (วัดป่าบ้านภู่) เพื่อบำเพ็ญกุศลครบรอบวันฌาปนกิจของพระอาจารย์ภู่ ธัมมทินโน จากนั้นได้เดินทางไปพักที่ป่าช้าข้าง ๆวัดไฮ่ 2 คืน แล้วเดินทางไปยังบ้านคำข่า พอไปถึงญาติโยมได้พาพระอาจารย์ฝั้นไปพักในป่าข้างหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่าดงวัดร้าง พระอาจารย์ฝั้น ได้ถามญาติโยมในหมู่บ้านนี้ว่า ภูเขาแถบนี้มีถ้ำบ้างหรือไม่ พวกญาติโยมบอกว่ามีหลายแห่ง ทั้งถ้ำเล็กและถ้ำใหญ่ ในวันต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้พาญาติโยมขึ้นไปดูถ้ำแต่ไม่ตรงกับในนิมิตสักแห่งเดียว พระอาจารย์ฝั้น จึงได้กลับลงมาพักที่หมู่บ้าน ต่อมาพวกญาติโยมได้บอกกับพระอาจารย์ฝั้นว่ายังมีอีกถ้ำหนึ่งอยู่บนยอดเขา เป็นถ้ำใหญ่มากชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำขาม” เมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะขึ้นไปทำบุญ และสรงน้ำพระบนถ้ำนั้น เป็นประจำทุกปี

ในวันรุ่งขึ้นชาวบ้านได้พาพระอาจารย์ฝั้น เดินทางไปยังถ้ำขาม เป็นเส้นทางที่ลำบากต้องปีนไต่ไปตามไหล่เขาเต็มไปด้วยขวากนาม เมื่อขึ้นไปถึงถ้ำขาม “พระอาจารย์ฝั้น ได้เดินสำรวจดูรอบบริเวณ แล้วท่านได้เอ่ยปากว่าถ้ำนี้แหละที่ได้นิมิตเห็น ท่านจึงให้ญาติโยมทำแคร่นอนขึ้นในถ้ำเพื่อจะได้พักค้างคืนที่นี่แต่ความไม่พร้อมจึงได้ลงมาพักที่หมู่บ้านที่เดิม และพร้อมให้ญาติโยมทำทางลงมาด้วยจะได้ขึ้นได้สะดวกในวันหลัง

เช้าวันต่อมา เมื่อพระอาจารย์ฝั้นได้ฉันเสร็จเรียบร้อย ได้เดินทางขึ้นถ้ำขามอีกครั้งพร้อมญาติโยมและเสบียงอาหาร เพราะถ้ำขามอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก และการออกบิณฑบาตไม่สะดวก การขึ้นถ้ำขามในครั้งนี้ พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณรได้เตรียมการเป็นที่เรียบร้อย พร้อมที่จะพักอยู่บนถ้ำขามและในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2497 พระอาจารย์ฝั้น ได้จำพรรษาอยู่บนถ้ำขามมีพระภิกษุ 3 รูป เมื่อออกพรรษาพระอาจารย์ฝั้นได้พาญาติโยมชาวบ้านพัฒนาถ้ำขามและมีเส้นทางไปมาหาสู่ระหว่างชาวบ้านกับถ้ำขามสะดวกขึ้น พอถึงหน้าแล้งในปี พ.ศ.2498 พระอาจารย์ฝั้น ได้ชวนชาวบ้านและญาติโยมช่วยกันสร้างศาลาโรงธรรม กุฏี สระน้ำ จนเสร็จเรียบร้อย จนปรากฏเห็นอยู่ทุกวันนี้ และในเวลาต่อมาถนนได้เริ่มต้นสร้างขึ้นถ้ำขามในปี พ.ศ.2507 ทำให้รถยนต์ได้วิ่งขึ้นถ้ำขามได้สะดวกจนถึงทุกวันนี้

[adsense-2]

ในปี พ.ศ. 2499 พระอาจารย์ฝั้น ได้ลงจากถ้ำขามไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เมื่อออกพรรษา พระอาจารย์ฝั้น ได้กลับขึ้นถ้ำขาม พร้อมทั้งพัฒนาถ้ำขามอย่างไม่หยุดยั้ง

ในพรรษาปี พ.ศ. 2500 จนถึง พ.ศ. 2505 มีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์ฝั้นที่ถ้ำขาม เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ.2505 พระอาจารย์ฝั้นได้ลงจากถ้ำขามมาพักอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพรในหน้าแล้งของปี พ.ศ.2505 พระอาจารย์ฝั้นได้พาญาติโยมพัฒนาเส้นทางถนนจากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ไปบ้านหนองโดก อย่างใกล้ชิด 5-6 วัน ทำให้พระอาจารย์อาพาธอย่างหนัก เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดสกลนคร เมื่ออาการดีขึ้นจึงได้มาพักฟื้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์และได้จำพรรษาที่วัดนี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2506 ในพรรษานี้ พระอาจารย์ฝั้น ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะได้รับการขอร้องจากคณะแพทย์และศิษย์กลัวว่าท่านพระอาจารย์จะขึ้นถ้ำขามเพราะต้องออกกำลังกายมาก มีอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและมีญาติโยมไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ตลอดมาทำให้ไม่ค่อยได้พักผ่อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในปี พ.ศ. 2507 พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ได้กลับมาจากทางจังหวัดภูเก็ต เพราะได้เผยแผ่ศาสนาให้กับประชาชนในภาคใต้นานถึง 15 ปี พระอาจารย์เทสก์ ได้กลับมาอีสานและได้มาเยี่ยมพระอาจารย์ฝั้นที่อำเภอพรรณานิคม ในวันหนึ่งพระอาจารยเทสก์ ได้ขึ้นไปถ้ำขาม เมื่อได้เห็นสภาพถ้ำขามจึงชอบมาก จึงได้จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำขาม

ในปี ต่อมา พระอาจารย์ฝั้น ยังคงไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดป่าอุดมสมพรกับวัดป่าภูธรพิทักษ์และถ้ำขาม พระอาจารย์ฝั้น เป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งและเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่ผู้คนทั่วไปเคารพนับถือ พระอาจารย์ฝั้นทำให้ถ้ำขามกลายสภาพเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุ สามเณรและประชาชนโดยทั่วไป

ในปัจจุบันถ้ำขามได้รับการจัดตั้งเป็น “วัด” มีชื่อว่าวัดถ้ำขาม ตั้งอยู่ที่ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และยังเป็นที่ตั้งเทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์ เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หรือพระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ ที่ได้มาละสังขาร ณ วัดถ้ำขาม สมกับดั่งคำที่ได้ยกย่องหลวงปู่เทสก์ท่านว่า “ดวงประทีปแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” มา ณ บัดนี้ ดวงประทีปดวงนี้ได้ลับไปจากขอบฟ้าแม่น้ำโขงไม่หวนกลับมาอีกแล้ว คงเหลือไว้แต่ความทรงจำที่ดีกับหลวงปู่ผู้ได้ทำให้โลกสว่างไสวตลอดไปกับความงดงามของหลวงปู่เทสก์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ททท.สนง.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 4 จ.นครพนม (รับผิดชอบพื้นที่ จ.สกลนครด้วย) โทร. (042) 513490-1
การบินไทย โทร. (042) 712259-60
ตำรวจทางหลวง โทร. (042) 713971
หจก.ภูพานการท่องเที่ยว โทร. (042) 712676
โรงพยาบาลกุดบาก โทร. (042) 784021
โรงพยาบาลกุสุมาลย์ โทร. (042) 769023
โรงพยาบาลคำตากล้า โทร. (042) 796046
โรงพยาบาลโคกศรีสุพรรณ โทร. (042) 713550
โรงพยาบาลเต่างอย โทร. (042) 761021
โรงพยาบาลนิคมน้ำอูน โทร. (042) 789015
โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น โทร. (042) 779105
โรงพยาบาลพังโคน โทร. (042) 771222
โรงพยาบาลวานรนิวาส โทร. (042) 791122
โรงพยาบาลวาริชภูมิ โทร. (042) 781187
โรงพยาบาลสกลนคร โทร. (042) 711722
โรงพยาบาลสว่างแดนดิน โทร. (042) 721111
โรงพยาบาลส่องดาว โทร. (042) 786026
โรงพยาบาลอากาศอำนวย โทร. (042) 799000

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางสายสกลนคร – อุดรธานี ไปประมาณ 22 กม. มีทางแยกซ้ายเข้าทางเดียวกับพระธาตุภูเพ็กไปอีกประมาณ 7 กม. ถึงบ้านนาสาวนานมีทางลูกรังแยกไปอีก 13 กม.

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น