วัดวังก์วิเวการาม (วัดหลวงพ่ออุตตมะ)

วัดวังก์วิเวการาม หรือ วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่ที่บ้านวังกะล่าง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นวัดที่หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2496 ก่อสร้างด้วยศิลปะแบบพม่า วัดแห่งนี้อยู่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ในระยะแรกวัดแห่งนี้มีเพียงกุฏิและศาลา มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ 3 สาย คือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ไหลมาบรรจบกัน ในปี พ.ศ. 2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อว่า วัดวังก์วิเวการาม ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอเดิม คืออำเภอวังกะ-สังขละบุรี ซึ่งต่อมาถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอ ก่อนที่จะยกฐานะเป็น อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ. 2508

เมื่อ พ.ศ. 2527 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ซึ่งเมื่อกักเก็บน้ำแล้ว น้ำในเขื่อนเขาแหลมจะท่วมตัวอำเภอเก่ารวมทั้งบริเวณหมู่บ้านชาวมอญทั้งหมด ทางวัดจึงได้ย้ายมาอยู่บนเนินเขาในที่ปัจจุบัน หลวงพ่ออุตตมะได้จัดสรรที่ดินของวัดวังก์วิเวการามให้ชาวบ้านครอบครัวละ 30 ตารางวา ปัจจุบันหมู่บ้านชาวมอญมีพื้นที่ราว 1,000 ไร่เศษ มีผู้อาศัยราว 1,000 หลังคาเรือน ชาวบ้านเกือบทั้งหมดจัดเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าซึ่งไม่มีบัตรประชาชน หาเลี้ยงชีพโดยการปลูกพืชผักสวนครัวตามชายน้ำ ทำประมงชายฝั่ง คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งนิยมเป็นลูกจ้างในโรงงานเย็บเสื้อที่อยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้าน

ส่วนบริเวณวัดหลวงพ่ออุตตมะเดิม ปัจจุบันพระอุโบสถหลังเก่าจมอยู่ใต้น้ำ และมีชื่อเสียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว Unseen Thailand เป็นที่รู้จักในชื่อว่า วัดใต้น้ำ สังขละบุรี

วัดวังก์วิเวการาม นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรีแล้ว ยังเป็นวัดที่ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับคนพื้นถิ่น และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในอำเภอสังขละบุรี ทั้งชาวไทย และกะเหรี่ยง โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่เปรียบหลวงพ่ออุตตมะเป็น “เทพเจ้าแห่งชาวมอญ” วัดวังก์วิเวการาม จึงเกิดจากพลังศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อ และเป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของ “หลวงพ่ออุตตมะ” วัดจึงเป็นเสมือนตัวแทนหลวงพ่อ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมอญ ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของมอญ และจัดงานอื่นๆ เช่นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานคล้ายวันเกิดของหลวงพ่ออุตตมะ มีงานกิจกรรมต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนา งานแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นการรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และมีการแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ

ประวัติหลวงพ่ออุตตมะ
หลวงพ่ออุตตมะ หรือ พระมหาอุตตมะรัมโภภิกขุ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ปฏิบัติธุดงค์กรรมฐาน เผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นพระนักพัฒนา ที่มีบทบาทสำคัญต่อชาวกะเหรี่ยง และเป็นที่พึ่งของชาวมอญ ท่านส่งเสริมการสร้างถนน สะพาน อนามัย และโรงเรียนหลายแห่ง ท่านช่วยเหลือในการขอสัญชาติไทยให้ชาวมอญได้มีบัตรประชาชน ท่านจึงเป็นเสมือนศูนย์รวมแรงศรัทธาของคนในพื้นที่ ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง

หลวงพ่อุตตมะ เดิมท่านชื่อ “เอหม่อง” เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2453 ในหมู่บ้านโมกกะเนียง ตำบลเกลาสะ อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง ประเทศพม่า เมื่ออายุได้ 19 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเกลาสะ ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมโท หลังจากนั้นได้ออกมาดูแลบิดามารดา และกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 ได้รับฉายานามว่า “อุตตมรัมโภ” แปลว่า ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด ซึ่งเป็นความตั้งใจของท่านที่จะบวชไม่สึกตลอดชีวิต

ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า และได้ศึกษาวิปัสนากรรมฐาน วิชาไสยศาสตร์ และพุทธาคม (ศาสตร์แห่งการใช่สมาธิแนวประยุกต์ เช่นการใช้คาถา ลงอักขระ เป็นต้น) จากนั้นท่านจึงออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ในประเทศพม่า เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกทางจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2486 จนกระทัั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2492 ท่านได้ธุดงค์เข้ามาในประเทศไทย ทางหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ หลังจากนั้นได้เดินทางไปพบกับชาวไทยเชื้อสายมอญที่อยู่ในประเทศไทยในหลายจังหวัด

ปีพ.ศ. 2494 ท่านได้ไปแวะกลับไปเยี่ยมคนมอญจากบ้านเกิดของท่านที่อพยพมาอาศัยอยู่ในเขตสังขละบุรี และในปี พ.ศ.2499 หลวงพ่ออุตตมะ ชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญในบริเวณบ้านวังกะล่าง ได้ร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ เพื่อให้หลวงพ่อพำนักอยู่ แรกเริ่มมีเพียงกุฏิและศาลา แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “วัดหลวงพ่ออุตตมะ” โดยสร้างอยู่บนเนินสูงริมแม่น้ำบริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ” ซึ่งเป็นจุดที่มีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี

ในปี พ.ศ. 2505 สำนักสงฆ์ได้รับอนุญาติจากกรมการศาสนาให้ขึ้นทะเบียนเป็นวัด โดยให้ชื่อว่า “วัดวังก์วิเวการาม” ตามชื่อของอำเภอเก่า (อำเภอวังกะ) หลังจากนั้นมีการสร้างโบสถ์ ที่ก่อสร้างด้วยศิลปะพม่า วิหารพระพุทธรูปหินอ่อน “หลวงพ่อขาว” สร้างเจดีย์จำลองพุทธคยา และยังริเริ่มสร้างสะพานมอญ ข้ามแม่น้ำซองกาเลีย ที่ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของสังขละด้วย

ปี พ.ศ. 2512 หลวงพ่ออุตตมะ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูอุดมสิทธาจารย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้เป็นพระราชาคณะ และในปีพ.ศ. 2534 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชอุดมมงคล
หลวงพ่ออุตตมะได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 รวมอายุได้ 97 ปี

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

ปราสาทเก้ายอด คือโลงบรรจุสังขารของหลวงพ่ออุตตมะ มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมของชนชาติมอญ ลวดลายมีความประณีต งดงาม ปราสาทเก้ายอดนี้ เป็นฝีมือสกุลช่างจากทางเชียงใหม่ใช้ลวดลายประมาณ 20 – 30 ลวดลาย ตัวโลงเจาะช่องใส่กระจกให้มองเห็นภายในได้ เรียกว่า “ลายขุนแผนเปิดม่าน” ด้านบนตกแต่งเป็นด้วยลวดลายสวยงาม ส่วนบนสุดทำเป็นยอดถึง 9 ยอด การทำปราสาทมอญเป็นความเชื่อดั้งเดิมว่า เป็นการส่งวิญญาณให้ไปสถิตยังสรวงสวรรค์ ด้านหน้าปราสาทเก้ายอด มีหุ่นขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปหลวงพ่ออุตตมะในท่านั่ง ถัดมามีตู้ทรงมอญ​ ลักษณะคล้ายบุษบก ข้างในใส่รูปหลวงพ่อ

พระพุทธรูปหินอ่อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว” ตั้งอยู่ในวิหารพระหินอ่อน อยู่ทางขวามือติดกับทางเข้า อาคารสร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีทางเดินเชื่อมต่ออาคาร มีหลังคาคลุมตลอด พระพุทธรูปหินอ่อน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก หนัก 9 ตัน เป็นพระพุทธรูปที่หลวงพ่ออุตตมะสั่งทำขึ้นที่พม่า โดยส่งรูปพระพุทธชินราชไปให้ช่างที่มัณฑเลย์ แกะจากหินอ่อนสีขาวก้อนเดียว ว่าจ้างด้วยทองคำแทนเงิน หลวงพ่อสั่งทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จ่ายเป็นจำนวนสามงวด เป็นทองหนัก 10 บาท 5 บาท และ 10 บาท (ในสมัยที่ราคาทองคำบาทละ 450 บาท) สร้างเสร็จเมื่อกลางปี พ.ศ. 2515 แต่ยังไม่สามารถนำเข้าสู่ประเทศไทยได้ ต้องทำเรื่องขออนุญาติกรมการศาสนาของพม่าจนแล้วเสร็จในช่วงปลายปี จากนั้นทำการขนย้าย ด้วยระยะทางที่ไกล และเป็นพระพุทธรูปที่มีน้ำหนักมาก ต้องผ่านเส้นทางที่เป็นป่าและหมู่บ้านชายแดน ทำให้มีความล่าช้า จนมาถึงด่านเจดีย์สามองค์เมื่อ แรม 9 ค่ำ เดือน 4 ปีพ.ศ. 2517

พระอุโบสถของวัด มีความงดงาม มีซุ้มทางเข้าอุโบสถเป็นซุ้้มหลังคาทรงยอดปราสาท ส่วนตัวโบสถ์ เป็นหลังคาทรงสูง หลังคาโบสถ์ทำเป็นหน้าจั่วซ้อนชั้น และมียอดปราสาทอยู่ชั้นบนสุด หน้าบันประดับด้วยลายกนกสวยงาม เสาโบสถ์เป็นเสาขัดมันวาว

[adsense-2]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สำนักงานการท่องเที่ยวกาญจนบุรี (034) 511 200
สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี โทร. (034) 511 778, (031) 512 399
ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี โทร. (034) 512 410, (034) 514 756
สำนักงานเทศบาลเมืองกาญจนบุรี โทร. (034) 511 502-2
ที่ว่าการอำเภอเมืองกาญจนบุรี โทร. (034) 511 040, (034) 622 952
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี โทร. (034) 621 040-2
โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา โทร. (034) 622 999, (034) 511 233
บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. (034) 511 387
สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรี โทร. (034) 511 182
สถานีรถไฟกาญจนบุรี โทร. (034) 511 285
ตำรวจทางหลวง โทร. 1193
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่าน จ.นครปฐม ขับมาประมาณ 9 กม. จะพบสะพานลอยข้ามไปทาง จ.กาญจนบุรี ขับไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ขับมาประมาณ 7 กม. ท่านจะพบสี่แยก ให้เลี้ยวขวา ( แยกซ้ายไปบ้านโป่ง ตรงไปคือถ้ำค้างคาว) เพื่อไปยัง อ.เมืองกาญจนบุรี จากนั้นมุ่งหน้าสู่สี่แยกแก่งเสี้ยน ให้ขับไปทาง อ. ทองผาภูมิ ซึ่งจะผ่านทั้งไทรโยคน้อย และไทรโยคใหญ่ ( หลักกิโลเมตรที่ 125 ทางหลวงหมายเลข 323 ) จะพบสามแยก ( ตรงไปไปอำเภอทองผาภูมิ + เขื่อนเขาแหลม ถ้าเลี้ยวขวาไปอำเภอสังขละบุรี ) ให้เลี้ยวขวามือไป สังขละบุรี ซึ่งจะผ่าน น้ำตกเกริงกะเวีย+น้ำตกไดช่องถ่อง ผ่านอช.เขื่อนเขาแหลม เมื่อไปถึงแยกด่านเจดีย์สามองค์ ไม่ต้องเลี้ยวขวา ให้ขับตรงไป ประมาณ 7.4 กม. จะเห็น แยกขวาวัดวังก์วิเวการาม และแยกซ้ายไป เจดีย์พุทธคยา จำลอง ให้เลี้ยวขวาไปทางวัดวังก์วิเวกการาม

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น