พิพิธภัณฑ์อำเภอบ้านกรวด

พิพิธภัณฑ์อำเภอบ้านกรวด ตั้งอยู่ที่ โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บเครื่องเคลือบโบราณในอำเภอบ้านกรวดและจัดแสดงให้นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปได้เข้าชมและเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของอำเภอ เปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าเข้าชม เว้นแต่จะร่วมบริจาคสมทบศูนย์วัฒนธรรมที่ดูแลพิพิธภัณฑ์

บ้านกรวดเป็นชุมชนเขมรดั้งเดิม เรียกว่าเขมรป่าดง บ้านกรวดมีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่อยู่ติดแนวชายแดนไม่มีอะไรนอกจากป่าไม้ดงดิบที่ทึบหนา ประมาณ ปี พ.ศ.2503 ทางการได้ไปจัดนิคมให้ประชาชน ทำให้มีคนจากทุกสารทิศไหล่บ่าเข้าไปจับจองที่ทำมาหากิน มีการขุดโค่นต้นไม้ถางป่า หลังจากนั้นก็มีการขุดพบเครื่องเคลือบคือ จำพวกไห คนโท ฯลฯ

ปัจจุบันถูรวบรวมมาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ขุดพบในเขตอำเภอบ้านกรวด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบที่สำคัญ มีภาชนะดินเผาชนิดเนื้อแกร่งเคลือบสีที่ผลิตโดยใช้แป้นหมุน สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตรวรรษที่ 15-17 เปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าเข้าชม เว้นแต่จะร่วมบริจาคสมทบศูนย์วัฒนธรรมที่ดูแลพิพิธภัณฑ์

ประวัติความเป็นมา

ในอดีตบ้านกรวดเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบที่ใหญ่ที่สุดของอาณาจักรขอมโบราณ ในท้องที่อำเภอบ้านกรวด อำเภอละหานทราย อำเภอประโคนชัย และบางส่วนของอำเภอกาบเชิงรวมกัน พบเตาเผาเครื่องเคลือบประมาณ 300 กว่าเตา แต่ในกัมพูชาเองกลับไม่พบร่องรอยของการเผาหรือเตาเผา ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-19 โดยเตาเผาเหล่านี้ ได้ผลิตเครื่องถ้วยเขมร เพื่อเป็นสินค้าป้อนให้กับเมืองต่างๆ ในกัมพูชา และในภูมิภาคต่างๆ โดยมีการทำอุตสาหกรรมขนาด ใหญ่โต และขยายขอบเขตการผลิตไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

คุณพิมาน บาลโสง เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอบ้านกรวดเล่าว่า หลังจากที่มีการขุดค้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2522 คนทั่วไปเริ่มรู้จักบ้านกรวดมากขึ้น มีการเข้ามาขุดค้นและขายโบราณวัตถุอย่างเป็นล่ำเป็นสัน บรรทุกกันจริง ๆ เป็นคันรถ 10 ล้อ ขนออกไปไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร หลังจากนั้นมาของดี ๆ คนเขาก็เอาไปจำหน่ายกัน ส่วนของที่เหลือ ๆ ไม่มีคนซื้อแล้ว คุณพิมานและภรรยาได้พยายามช่วยกันเก็บอนุรักษ์ไว้ คุณพิมานบอกว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นผู้เริ่มต้นเก็บรวบรวมเมื่อประมาณ พ.ศ. 2526 ปัจจุบันมีทั้งสิ้นประมาณไม่ต่ำกว่า 500 ชิ้น เก็บไว้ที่โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร

การที่ได้เก็บรวบรวมและรักษาเอาไว้นี้ก่อให้เกิดผลตามมาหลายอย่างคือ สยามสมาคมได้นำชาวต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชม ทำให้บ้านกรวดเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะที่บ้านกรวดเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบที่ใหญ่ที่สุดของอาณาจักรขอม ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้นำคณะคณาจารย์แล้วก็คณะนักเรียนนายร้อย จปร. เข้าเยี่ยมชม เป็นความภูมิใจของชาวบ้านที่เกิดขึ้นหลังจากเมื่อครั้งแรกเคยขุดได้ขาย อันไหนขายไม่ได้ เหยียบทิ้งทำลายทิ้งไป เราก็ไปเก็บมาไว้ นาน ๆ เข้า ชาวบ้านเริ่มรู้เห็นคุณค่าของสิ่งของเหล่านี้ ขณะนี้ทุกคนในท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน มีการจัดงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของอำเภอบ้านกรวดนั่นคือ “งานเครื่องเคลือบพันปีประเพณีบ้านกรวด” จัดมา 11 – 12 ปีแล้ว

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรท้องถิ่นสอนทำเครื่องปั้นดินเผาสำหรับนักเรียน โดยอาศัยรูปแบบเดิม ๆ มาปั้นแล้วเผา ขณะนี้ได้ทำเป็นของชำร่วย ของที่ระลึก ในอนาคตหวังว่าจะส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

การปรับปรุงและขยายพิพิธภัณฑ์เริ่มต้นขึ้นในปีพ.ศ.2548 โดยก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ด้วยงบประมาณ CEO ซึ่งนายทวีศักดิ์ คิดบรรจง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เปิดทำการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายก้องเกียรติ อัครประเสริฐกุล พิพิธภัณฑ์ยังทำหน้าที่เช่นเดิมคือเป็นแหล่งเก็บเครื่องเคลือบดินเผาโบราณ จากกลุ่มเตาเผาต่างๆ โดยยังคงตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคารได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จัดสร้างเตาเผาเครื่องเคลือบดินเผา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครและมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้บริจาคเครื่องมือผลิตและแหล่งให้ความรู้โดยมีบุคลากรที่ให้ความรู้คือ นายพิทยา จารุวงษ์เสถียร ตำแหน่งครู คศ.2 ชำนาญการ

[adsense-2]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร อำเภอบ้านกรวด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 044-679-098
ททท.สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่ จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ) อ.เมือง สุรินทร์ โทร. (044) 518-152
ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-957
ท่าอากาศยานจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 614-123
บมจ.การบินไทย โทร. (044) 625-066-7
ไปรษณีย์บุรีรัมย์ โทร. (044) 611-142
โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-262
ตำรวจทางหลวง โทร. (044) 611-992, 1193
สำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-449
สถานีตำรวจจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-234
สถานีขนส่งจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. (044) 611-253

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ไปตามทางหลวงหมายเลข 224 แยกซ้ายที่อำเภอโชคชัย เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย แยกขวาเข้าสู่อำเภอบ้านกรวด รวมระยะทาง 383 กิโลเมตร (อีกเส้นทาง) เส้นทางใหม่ จากจังหวัดนครราชสีมา ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 226 (อำเภอจักราช-ห้วยแถลง-ลำปลายมาศ-บุรีรัมย์) แยกขวาผ่านอำเภอประโคนชัยตรงสู่อำเภอบ้านกรวด รวมระยะทาง 453 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง

จากกรุงเทพ ฯ มีรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิตใหม่) มาต่อรถที่อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ หรือ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วต่อรถสาย อำเภอเมือง-บ้านกรวด-ละหานทราย ระยะทาง 66 กิโลเมตร

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น