แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท

แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท หมู่ที่ 7 ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีอายุราว 3,000 ปี เป็นที่รู้จักเพราะ นักค้าของเก่าลักลอบนำโบราณวัตถุในบริเวณหมู่บ้านไปขาย กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการจับกุมพร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาแหล่ง โบราณคดีนี้ในปี 2526 พบโครงกระดูกโบราณถึง 60 โครง พร้อมกับภาชนะดินเผาแบบต่างๆและเครื่องประดับทั้งที่ทำจากเปลือกหอยและสำริดจำนวนมาก กรมศิลปากรได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจาก ททท.ภายใต้โครงการอีสานเขียวพัฒนาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จึงจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ของภาคอีสานหลังจากเปิดพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีมาก่อนหน้านี้

แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ถือเป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 1 ชั้น มีลำธารปราสาทไหลผ่านด้านเหนือ มีมนุษย์มาตั้งชุมชนครั้งแรกราว 3,000 ปีมาแล้ว รู้จักการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ มีการใช้สำริดบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ทำภาชนะดินเผาทรงปากแตรสีแดงขัดมันและมีการนำภาชนะดังกล่าวฝังร่วมกับศพด้วย ต่อมาในราว 2,200 ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสูงขึ้น โดยผลิตภาชนะดินเผาแบบพิมายดำขึ้นแทน มีการนำเหล็ก สำริด หินสีต่าง ๆ เช่น หินคาร์นีเลียน หินอเกต มาทำเครื่องใช้เครื่องประดับ จนราวพุทธศตวรรษที่ 16 จึงเริ่มรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรเข้ามา แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ชุมชนนี้จะสิ้นสุดไป

บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500-3,000 ปีมาแล้ว

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าบริเวณบ้านปราสาทใต้เป็นที่ตั้งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี ดังปรากฎหลักฐานที่กู่ธารปราสาท ซึ่งเป็นศาสนสถานสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 13 ต่อจากนั้นบ้านปราสาทใต้ก็ได้รับอิทธิพลขอมที่แผ่เข้ามาในภูมิภาคนี้ ได้พบโบราณวัตถุศิลปะเขมรในบริเวณหมูบ้านด้วย บ้านปราสาทได้มีพัฒนาการไม่ต่างจากไม่ต่างจากชุมชนโบราณอื่นๆในแอ่งอารยธรรมโคราช โดยเฉพาะยุคประวัติศาสตร์ซึ่งได้พบโบราณวัตถุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

มีหลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชม มีทั้งหมด 3 หลุม คือ

หลุมขุดค้นที่ 1 มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปีหันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย ในช่วงสามระยะแรกนี้เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค 1,500ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง

หลุมขุดค้นที่ 2 ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13-16 เรียกกันว่า “กู่ธารปราสาท” และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท

หลุมขุดค้นที่ 3 พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 500 เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี

[adsense-2]

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา เวลา 08.00-16.00 น. มีชาวบ้านนำชม

อัตราค่าเข้าชม เข้าชมฟรี แต่มีกล่องรับบริจาคบำรุงสถานที่

สิ่งอำนวยความสะดวก/ที่พัก

  • มีร้านเครื่องดื่มและร้านขายของฝาก
  • มีที่พักแบบโฮมเสตย์ 40 หลังคาเรือนพักได้ 3คน/หลังราคา 300 บาท/หลัง/คืน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โบราณคดี หมู่ 7บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังนครราชสีมา 30240 โทร.0-4436-7075
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปราสาทตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา 30160 โทรศัพท์/โทรสาร 0-4476-1811
โรงเรียนบ้านธารปราสาท โทร.0-4436-7062
ททท. สำนักงานนครราชสีมา (นครราชสีมา ชัยภูมิ) อ.เมือง นครราชสีมา โทร. (044) 213-666, (044) 213-030
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. (044) 251-818
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155, (044) 341-777-9
ท่าอากาศยานนครราชสีมา โทร. (044) 259-524
บมจ. การบินไทย (สนามบิน) โทร. (044) 255-425
โรงพยาบาลมหาราช โทร. (044) 254-990-1
สถานีขนส่งแห่งที่ 1 โทร. (044) 242-889
สถานีขนส่งแห่งที่ 2 โทร. (044) 256-006-9
สถานีตำรวจภูธร โทร. (044) 242-010
สถานีรถไฟ โทร. (044) 242-044
สำนักงานจังหวัด โทร. (044) 243-798

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองโคราชใช้ทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ(โคราช-ขอนแก่น) ถึงหลัก กม.44 จะมีทางแยกซ้ายมือเห็นป้ายบอกชัดเจน ปากทางเข้ามีศาลาที่พักและคิวรถมอเตอร์ไซค์ เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนลาดยางประมาณ 2 กม.
รถประจำทาง นั่งรถสายโคราช-พิมาย ลงตรงปากทางเข้าแล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 30 บาท (ไป-กลับ) โดยคนขับจะนำชมหลุมขุดค้นทั้งสามแห่งด้วย

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น