วัดบูรพามหาพุทธาราม

วัดบูรพามหาพุทธาราม หรือ วัดเขียนบูรพาราม ตั้งอยู่ที่ บ้านพราน ม. 4 ต.ห้วยเหนือ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีพระอุโบสถเก่าแก่ลักษณะเป็นสิมอีสาน ภายในประดิษฐานพระประธาน คือ หลวงพ่อโต เล่ากันว่า 200 กว่าปีก่อน พระยาไกรภักดีศรีลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ 2 อพยพชาวบ้านมาสร้างเมืองใหม่ ณ บริเวณวัดเขียนบูรพารามปัจจุบัน ช่วยกันถากถางป่าพบหินสีแดงมีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปโผล่ขึ้นบนจอมปลวก จึงสั่งบัญชาการให้ชาวบ้านตกแต่งทั่วบริเวณแล้วสร้างเสริมเป็นฐานพระ จากนั้นสร้างองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ขึ้นครอบองค์พระ ต่อมามีผู้ศรัทธาบูรณะองค์พระก่ออิฐถือปูนหุ้มหลวงพ่อโตให้ใหญ่ขึ้นอีก พระพุทธรูปศิลปะผสมผสานระหว่างล้านช้างและอยุธยาตอนปลาย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.50 เมตร สูง 6.80 เมตร

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  • เจดีย์ธาตุโบราณ 4 องค์ อยู่ทั้ง 4 มุมของพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ สี่เหลี่ยมย่อมุมก่อด้วยอิฐสูงประมาณ 7 เมตร ยอดเจดีย์ทำเป็นชั้นซ้อนกันถึง 3 ชั้น ปัจจุบันเหลือเพียง 2 องค์ด้านหน้าพระอุโบสถเท่านั้นที่สมบูรณ์ ส่วน 2 องค์ด้านหลังพระอุโสถพังทลายเหลือเพียงเศษซาก ข้างอุโบสถมีเสมาหินชนิดหินทราย ศิลปะทวารวดี สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 16
  • สิมโบราณ (อุโบสถ) เป็นสิมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ปัจจุบันกรมศิลปากรจดทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยประกาศ ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2532 และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 107 ตอนที่ 16 วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2533
  • หลวงพ่อโต ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถ(สิมโบราณ)วัดเขียนฯ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3.50 เมตร สูง 6.80 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่โตและศักดิ์สิทธิ์มากองค์หนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวขุขันธ์ที่สืบทอดเป็นมรดกมาหลายร้อยปีในตำนานเมืองศรีสะเกษเล่าว่า มีการค้นพบหลวงพ่อโตในสมัยสร้างเมืองใหม่ ที่ “ดงไฮสามขา” หลวงพ่อโตที่พบมีสภาพเป็นตุ๊กตาหิน ขนาดเท่าแขน แต่พอไปวัดโดยการโอบด้วยแขนกลับขยายใหญ่ขึ้นจนโอบไม่หุ้ม ดังตำนานเล่าว่า “ที่ตั้งวัดพระโต มีป่าเครือมะยางร่มครื้มหนาแน่น ในขณะที่ถางป่านั้นได้พบตุ๊กตาหินรูปหนึ่ง มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูป เล่ากันว่า ตุ๊กตาหินองค์นี้มีอภินิหารเป็นพิเศษ คือเมื่อมองดูจะเห็นเป็นรูปเล็ก ๆ เท่าแขนคนธรรมดา แต่พอเข้าไปกอดเข้ากลับโอบไม่รอบ พวกราษฎรพากันฉงนยิ่งนัก จึงไปบอกอาจารย์ศรีธรรมาผู้เป็นใหญ่ เมื่อรู้ว่าเป็นจริงก็เลยทำพิธีสมโภชกันขนานใหญ่ และขนานนามตุ๊กตาหินองค์นี้ว่า “พระโต” ซึ่งต่อมาได้นำอิฐหรือปูนสร้างเสริมให้ใหญ่จริงๆ ดังที่เห็นกันในปัจจุบันแต่ตำนานที่ค่อนข้างสอดคล้องกับประวัติศาสตร์เมืองศรีสะเกษ จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางเล่ากันว่า หลวงพ่อโตองค์จริงนั้น ถูกหุ้มอยู่ข้างใน เป็นพระพุทธรูปหินดำเกลี้ยง (บางแห่งว่าหินเขียว บางแห่งว่าหินแดง) ปางมารวิชัย (ปางสะดุ้งมาร) เดิมมีหน้าตักกว้างยาว 2.50 เมตร ต่อมากลัวว่าพวกมิจฉาชีพจะทำให้เสียหาย จึงมีผู้ศรัทธาหุ้มเสริมองค์จริงเข้าไปหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ มีขนาดหน้าตัก 3.50 เมตร ความสูงตั้งแต่พระเกศาลงมา 6.85 เมตร เมื่อพุทธศักราช 2509 ได้มีการสร้างวิหารใหญ่ครอบซึ่งมีความกว้าง 14 เมตร ยาว 40 เมตร ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

[adsense-2]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบ จ.สุรินทร์,จ.บุรีรัมย์,จ.ศรีสะเกษ) (044) 514447
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ (045) 611840
สอบถามข้อมูลท่องเที่ยว 1672
ตำรวจท่องเที่ยว 1155
ตำรวจทางหลวง 1193
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ (045) 612545
สถานีรถไฟศรีสะเกษ (045) 611525
ตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ (045) 611555
โรงพยาบาลศรีสะเกษ (045) 611434
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร (045) 818021

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
จากจังหวัดศรีสะเกษ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมาเลข 220 (ถนนศรีสะเกษ – ขุขันธ์) ผ่านอำเภอวังหิน ถึงแยกขุขันธ์ (แยกศาลหลักเมืองขุขันธ์) ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบทหมายเลข ศก.5050 เป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร ก็จะพบวัดซึ่งอยู่บริเวณสามแยกนั่นเอง

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น