วัดไชยศรี

วัดไชยศรี เที่ยววัดเก่า ชมโบสถ์ร้อยปี ดูฮูปแต้ม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใต้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่มีโบสถ์ (ชาวอีสานเรียกสิม) ที่ก่าแก่มาก อายุกว่าร้อยปีเศษ โดยสิมนี้เดิมหลังคามุงด้วยแผ่นไม้ (เรียกแป้นเกล็ด ทำด้วยไม้เป็นแผ่น ๆ คล้ายกระเบื้องในปัจจุบัน) และมีเอกลักษณ์ คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรม อีสานดั้งเดิม แต่พอถึงปี พ.ศ. 2525 หลังคาได้ทรุดโทรมมาก หน้าฝนน้ำฝนรั่วลงภายในโบสถ์ ชาวบ้านจึงทำการรื้อและทำหลังคาใหม่ ด้วยความเข้าใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นตน จึงทำหลังคา เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นมาก ส่วนฝาผนัง ทั้งด้านนอกและด้านใน ยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง (อีสานเรียก ฮูปแต้ม) ยังเห็นอย่าง เด่นชัดมาก แม้จะผ่านมากกว่าร้อยปีแล้วก็ตามที
ประวัติความเป็นมา

วัดไชยศรี มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 8 ไร่เศษ ตามหลักฐานทราบว่าตั้งวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2408 ส่วนโบสถ์หรือสิมนี้ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่คงสร้างประมาณ ปีพ.ศ. 2443 ได้รับ วิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยมีหลวงปู่อ่อนสา เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ เป็นผู้ออกแบบและพาญาติโยมสร้างขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

1. โบสถ์ร้อยปี วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบสถ์หรือสิม ที่มีอายุกว่าร้อยปีเศษ เดิมมุงหลังคาด้วยแผ่นไม้ ซึ่งมีเอกลักษณ์คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 หลังคาทรุดโทรมจึงมีการรื้อและทำหลังคาขึ้นใหม่ เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ส่วนฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

สำหรับลักษณะของโบสถ์นี้ ฐานส่วนล่างและผนังเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน ช่วงบนเดิมเป็นแบบไม้ทั้งหมด รวามทั้งหลังคาด้วย บานประตูและหน้าต่างแกะสลัก ส่วนภาพฝาผนังเป็นฝีมือช่างเขียนภาพพื้นบ้านชื่อ นายทอง ทิพย์ชา เป็นคนชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยการเขียนภาพนี้ เขียนตามที่หลวงปู่อ่อนสา ท่านกำหนด ให้ผนังด้านในส่วนมาก เป็นภาพอดีตพุทธะมหาเวสสันดร สังข์สินไชย ภาพเทพและภาพสัตว์ต่าง ๆ ผนังด้านนอกเป็นภาพนรก 8 ขุม (หลุม) และวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ลักษณะเด่นคือ เป็นการเขียนแบบช่างพื้นบ้านและเขียนด้วยสีฝุ่นซึ่งหามาจากธรรมชาติ

[adsense-2]

2. ฮูปแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนังของวัดไชยศรี (ด้านในโบสถ์) เป็นการเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้า เรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) ภาพเทพ บุคคลและสัตว์ต่างๆ ซึ่งด้านในห้ามสุภาพสตรีเข้า ส่วนผนังด้านนอกเป็นการเขียนภาพนรกเจ็ดขุม เรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ และภาพทหารยืนเฝ้าประตู ถึงแม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม และแม้จะมีบางส่วนเลือนหายไปตามกาลเวลาบ้าง แต่ถือว่าฮูปแต้มของที่นี่ยังคงมีความชัดเจนและสวยงามอยู่มาก

ความเพลิดเพลินของการไปชมสิมคือ ได้ชมฮูปแต้มที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านภาพวาด ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือเรื่องเล่าต่างๆ เช่นเรื่องราวของ “สินไซ”

เรื่องราวในวรรณกรรมเรื่อง “สินไซ” มีอยู่ว่า ณ เมืองเปงจาล มีพระยากุศราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครอง มีมเหสีชื่อว่านางจันทาเทวี และมีน้องสาวชื่อนางสุมณฑา ต่อมามียักษ์ชื่อกุมภัณฑ์ มาลักลอบฉุดนางสุมณฑาไปเป็นมเหสี พระยากุศราชรู้ดังนั้นก็เสียใจจึงตัดสินใจออกบวชเพื่อตามหาน้องสาว จนได้พบกับลูกสาวทั้งเจ็ดของเศรษฐีเมืองจำปา เกิดชอบพอกันจึงลาสิกขา และกลับมาสู่ขอเป็นมเหสีรองทั้งเจ็ดคน

ต่อมานางจันทามเหสีเอก ได้คลอดลูกเป็นคชสีห์ เป็นราชสีห์เฉพาะลำตัว แต่มีส่วนหัวเหมือนช้างชื่อว่า สีโห และนางลุนธิดา ลูกสาวคนสุดท้องของเศรษฐีได้ลูกแฝด คนหนึ่งชื่อ “สินไซ” เพราะมีธนูและดาบออกมาด้วย ส่วนอีกคนมีรูปร่างเป็นหอยสังข์ จึงได้ชื่อว่า สังข์หรือสังข์ทอง ส่วนมเหสีอีก 6 คนคลอดเป็นเช่นคนปกติทั่วไป เรียกว่า กุมาร หรือท้าวทั้งหก ต่อมาเกิดการชิงดีชิงเด่นกัน นางจันทา นางลุน ท้าวสีโห ท้าวสินไซ และท้าวสังข์ ถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนที่ไม่ดีต่อบ้านเมือง จึงถูกเนรเทศออกจากเมืองไปอยู่ป่า

เมื่อทั้งหมดโตเป็นหนุ่ม ท้าวซึ่งเป็นพระโอรสของ 6 มเหสีได้ออกตามนางสุมณฑา ท้าวทั้งหกพบกับสินไซกลางป่าเห็นว่ามีฤทธิ์กล้าหาญ จึงออกอุบายให้สินไซไปตามหานางสุมณฑา สินไซเชื่อจึงออกตามหาพร้อมด้วยสีโหและสังข์ ทั้งสามพี่น้องต้องฝ่าฟันอุปสรรค ต่อสู้กับทั้งยักษ์ นาค ครุฑ งูซวง จนรบชนะและฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ตาย สุดท้ายก็ได้นำนางสุมณฑากลับคืนมา แต่พอเดินทางกลับมาสมทบกับท้าวทั้งหก กลับถูกผลักตกเหว สินไซเกือบสิ้นชีวิต แต่พระอินทร์ลงมาช่วยไว้

ต่อมาความจริงถูกเปิดเผย ทำให้ท้าวกุศราชสั่งเนรเทศมเหสีและโอรสทั้งหกออกจากเมือง แล้วไปรับนางจันทา นางลุน สินไซ สีโหและสังข์กลับเมืองเปงจาล แล้วมอบเมืองเปงจาลให้สินไซขึ้นปกครองแทน ต่อมายักษ์กุมภัณฑ์ได้รับการชุบชีวิตจากพระยาเวสสุวรรณเจ้าแห่งยักษ์ ให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง จึงมาลักลอบนำนางสุมณทากลับเมืองอโนราช และจับสินไซไปเป็นตัวประกัน ทำให้สีโหและสังข์ตามไปช่วย จนเกิดสงครามใหญ่อีกครั้ง พระอินทร์จึงมาไกล่เกลี่ย พร้อมเสนอทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ สุดท้ายทุกฝ่ายได้กลับไปสู่บ้านเมืองดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดขอนแก่น
(Khon Kaen Provincial Office of Tourism and Sports)
สนามกีฬาจังหวัดขอนแก่น ถนนเหล่านาดี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
โทรศัพท์ : 0-4322-1050 โทรสาร : 0-4322-1050
e-mail: [email protected]

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
ไปตามถนนมะลิวัลย์สายขอนแก่น-ชุมแพ ถึงกิโลเมตรที่ 14 แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหมู่บ้านสาวะถี ผ่านบ้านม่วงรวมระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าจะไปโดยทางลาดยางตลอดต้องอ้อมเล็กน้อยผ่านบ้านม่วง บ้านโคกล่าม บ้านหนองตาไก้ บ้านม่วงโป้ บ้านโนนกู่และเข้าสู่บ้านสาวะถี

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น