หออะม็อก

“หออะม็อก” เป็นภาษาม่าน (พม่า) แปลว่า “หอปืน” เป็นป้อมปืนใหญ่โบราณ ตั้งอยู่บนถนนศรีเกิด บ้านศรีเกิด (ชุมชนศรีเกิด) ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง นครลำปาง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2351 ในรัชสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 3 แห่งทิพย์จักรวงศ์สัตตราชา เจื้อเจ้าอันเป็นเค้าอยู่หนเหนือ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนนครลำปาง สกุลปงยางคก-ป่าหนาดคำ (บ้านเอื้อม) (ทรงครองนครตั้งแต่ปี พ.ศ.2337 – พ.ศ.2367 รวมเวลา 31 ปี) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงเป็นราชบุตรของเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ราชธานี ผู้ราชบุตรองค์ที่ 3 ของ “พ่อเจ้าทิพย์ช้าง” พญาสุลวะฤๅชัยสงคราม ปฐมกษัตริย์แห่งทิพย์จักรวงศ์ ต้นราชสกุล ณ ลำปาง, ณ ลำพูน, ณ เชียงใหม่ เชื้อเจ้าเจ็ดตน แห่งเชียงรายและเชียงแสน เจ้าผู้ครองนคร หัวเมืองฝ่ายเหนือแห่งราชอาณาจักรลานนา

พระเจ้าหอคำดวงทิพย์ได้รับพระราชทาน สุพรรณบัฏเป็นเจ้าประเทศราช มีฐานะเทียบเท่า กษัตริย์เป็นใหญ่แก่ลานนาทั้งมวล พระเดชรนุภาพ กว้างไกลถึงแคว้นเชียงตุง

“หออะม็อก” เป็นอาคารขนาดใหญ่ รูปแปดเหลี่ยมเกือกม้าวงรี ก่อด้วยอิฐสอดินดิบ เป็นป้อมปืนใหญ่ ป้องกันข้าศึกศัตรู และเป็นหอสังเกตการณ์ ตรวจความเรียบร้อยทั้งโดยรอบบริเวณ และภายในกำแพงนคร พื้นที่ภายในป้อมกว้างประมาณ 13 เมตร ยาวประมาณ 17 เมตร สูงประมาณ 10.25 เมตร ฐานของกำแพงจะลดหลั่นขึ้นไปเป็นตอนๆ ยอดกำแพงป้อมหน้าประมาณ 1.50 เมตร ส่วนยอดสุดของกำแพงป้อมเป็นรูปใบเสมา กว้าง 1.50 เมตร หนา 1 เมตร มีช่องทางเข้า-ออก ด้านตะวันตกด้านเดียว ซึ่งเป็นด้านในของ กำแพงเวียง ด้านซ้าย-ขวาของช่องทางนี้ เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ 2 กระบอก ดูน่าเกรงขาม (โดยอาจารย์สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย นำมาติดตั้งภายหลัง) ภายในป้อมป้อมปืนเป็นนั่งร้านไม้ 3 ชั้น ชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 เป็นนั่งร้านไม้มีช่องสำหรับลำเลียงกระสุนปืนใหญ่ดินปืนอยู่ตรงกลางนั่งร้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ จากช่องสามเหลี่ยมรอบๆ ป้อมปืน หันปากกระบอกปืนไปด้านนอกป้อมปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยของโครงสร้างนั่งร้านไม้บางส่วนที่เหลือจากการเสื่อมสลายไปตามกาลเวลากว่า 200 ปี

พระเจ้าหอคำดวงทิพย์ ทรงมีดำริให้ขุดคูเมือง ด้านนอกชิดขนานกำแพงเมืองตลอดแนว ตั้งแต่ประตูหัวเวียง ตำบลหัวเวียง เขตชุมชนศรีเกิด เรียบขนานถนนรอบเวียง (แนวกำแพงเมืองเดิม) ไปจรดแม่น้ำวัง ณ ที่ทำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (เดิม) ตำบลสวนดอก เป็นคูเมือง ยุทธศาสตร์ ป้องกันมิให้ข้าศึกศัตรูเข้ามาประชิดกำแพงเมืองได้โดยสะดวก และเป็นทางระบายน้ำที่ไหลหลากลงมาจากดอยพระบาทลงสู่แม่น้ำวัง นอกจากนั้นเป็นเส้นทางนำสายน้ำแม่คะติ๊บ จากดอยเขางาม (ที่ตั้งวัดม่อนพญาแช่) เข้ามาหล่อเลี้ยงผู้คน ในกำแพงเวียงนครลำปางใหม่นี้

“หออะม็อก” เป็นที่ตั้งศาลและที่สถิตของเจ้าพอหมอกมุ่งเมือง ยอดนักรบทหารเอกของพระเจ้าหอคำดวงทิพย์เดิมท่านชื่อ “หนานหมอกมุงเมือง” ยศทางทหารชั้นหมื่นพันทอง บวชเรียนเป็นพระภิกษุ ณ วัดจอมสะหลี นครเชียงตุง (ปัจจุบันอยู่ทางทิศเหนือของประเทศพม่า) ขณะนั้น นครเชียงตุงเป็นทองแผ่นเดียวกันกับนครลำปาง โดยเจ้าหญิงสุวรรณเกี๋ยงคำ แห่งนครเชียงตุงเป็นชายาของ พระเจ้าหอคำดวงทิพย์

เมื่อทางได้ลาสิกขาบทออกมาแล้ว ได้เข้ามารับราชการทหารในกองทหารนครลำปาง ท่านแต่งงานมีครอบครัวกับสาวชาวบ้านลำปางหลวง อำเภอเกาะคา หนานหมอกมุงเมืองมี กิตติศัพท์เลื่องลือว่า ยามเดินไปแห่งใดจะเกิดอัศจรรย์มีหมอกปกคลุมไปทั่ว อันเป็นที่มาของชื่อท่าน พระเจ้าหอคำดวงทิพย์ทรงโปรดแต่งตั้งให้เป็นนายทหารคนสำคัญ ออกราชการสงครามในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เมื่อท่านสิ้นชีพลง ชาวบ้านศรีเกิดและชาวนครลำปางสำนึกในบุญคุณ ยกย่องนับถือท่านเป็นเจ้าปกปักรักษาบ้านเมืองตราบถึงทุกวันนี้ ด้วยความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ชาวบ้านศรีเกิดร่วมใจกันสร้างหอศาลและรูปปั้นของท่าน โดยฝีมือของสล่าพื้นบ้านชาวเกาะคา ในราวเดือน 6 เหนือ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนมีนาคม) ชาวบ้านศรีเกิดและผู้เคารพนับถือท่านจะร่วมจัดประเพณีฟ้อนผีเป็นการบวงสรวงสักการะดวงวิญญาณของท่านและบริวารเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน ผู้ที่เป็นคนบ้านศรีเกิด และผู้คนถิ่นอื่นที่โยกย้ายเข้ามาพักอาศัยหาเลี้ยงชีพในที่แห่งนี้ รวมไปถึงลูก หลาน เหลน ม้าขี่บริวารจากบ้านใกล้-บ้านไกล ถือเป็นการทำนุบำรุงสืบสอดจารีตประเพณี มิให้เลือนหายไปจากแบบแผนปฏิบัติแต่ดั้งเดิม จนถึงชั่วลูกชั่วหลาน

เจ้าพ่อหมอกมุงเมือง เป็นต้นตระกูล “ไชยนิลพันธ์” สืบทอดเชื้อสายมาจวบถึงปัจจุบัน ดาบคู่มือของท่านได้เก็บรักษาไว้ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

[adsense-2]

“หออะม็อก” ได้รับการคุ้มครองขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2475 (เล่มเดียวกันและวันเดียวกันกับกำแพงเมืองและคูเมืองเขลางค์) และประกาศขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา ภายหลังในเล่มที่98 ตอนที่ 177 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2524

“หออะม็อก” ป้อมปืนโบราณบ้านศรีเกิด สถาปัตยกรรมทางยุทธศาสตร์แห่งสำคัญของราชอาณาจักรลานนา เจ้าผู้สร้างน้ององค์ 4 ร่วมเจ้าพี่เจ้าน้องเชื้อสายมหาบุรุษพ่อเจ้าทิพย์ช้าง สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินและราชวงศ์จักรี นำกองทัพสยามใต้ ขึ้นร่วมปลดปล่อยเอกราชไทยเหนือลานนาจากอิทธิพลพม่า

ในปี พ.ศ.2337 พระเจ้ากาวิละได้เรียกพระอนุชาทั้ง 6 เข้าเฝ้า แล้วมีโอวาทคำสอน โดยมุ่งให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ ตั้งแต่เจ้าเราทั้งหลายไปภายหน้าสืบไปถึงชั่วลูก ชั่วหลาน เหลน หลีด หลี้ ตราบสิ้นราชตระกูลแห่งเราทั้งหลาย แม้นว่า ลูก หลาน เหลน หลีด หลี้ บุคคลใดยังมีใจใครกบฏ คิดสู้รบกับพระมหากษัตริย์เจ้าแห่งราชวงศ์จักรีแล้วเอาตัวและบ้านเมืองไปพึ่งเป็นข้าม่าน ข้าฮ่อ ข้ากูลา ข้าแก๋ว ข้าญวน ขอผู้นั้นให้วินาศฉิบหาย ตายวายพลัน ฉิบหายเหมือนกอกล้วย พลันม้วยเหมือนกอเลา กอคา ตายไปแล้ว ก็ขอให้ตกนรกแสนมหากัป อย่าได้เกิดได้งอก .. ผู้ใดยังอยู่ตามโอวาทคำสอนแห่งเรา อันเป็นเจ้าที่ ก็ขอให้อยู่สุข วุฒิจำเริญ ขอให้มีเดชะฤทธี อานุภาพปราบชนะศัตรู มีฑีฆา อายุมั่นยืนยาว”

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

จากห้าแยกหอนาฬิกา ใช้ ถ.รอบเวียงตรงไปจนถึงสี่แยกบริเวณศาลจังหวัด เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.ไปรษณีย์ ขับไปจนถึงอีกสี่แยกหนึ่ง ให้เลี้ยวขวาเข้า ถ.บุญวาทย์ จะผ่านที่ว่าการ อ.เมือง เมื่อถึงสี่แยกให้เลี้ยวขวา ผ่านวัดหัวเวียงไปไม่ไกลหออะม็อกจะอยู่ทางซ้ายมือ ลักษณะเป็นกำแพงอิฐสูง ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะขับรถเลย

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น