อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยโบราณสถานสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม นั่นคือ“ปราสาทหินพิมาย” แหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร ชื่อ “พิมาย” น่าจะมาจากคำว่า “วิมาย” หรือ “วิมายปุระ” ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทหินพิมาย และยังปรากฏชื่อในจารึกอื่นอีกหลายแห่ง อาจจะเป็นคำที่ใช้เรียกรูปเคารพหรือศาสนสถาน ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ต่างจากปราสาทหินอื่นที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองโศธรปุระเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรซึ่งเข้าสู่เมืองพิมายทางด้านทิศใต้

จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะการก่อสร้าง บ่งบอกว่าปราสาทหินพิมายเริ่มสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 รูปแบบทางศิลปกรรมของตัวปราสาทเป็นแบบปาปวนซึ่งเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น โดยมีลักษณะของศิลปะแบบนครวัดซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยต่อมาปนอยู่บ้าง และมาต่อเติมอีกครั้งในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งครั้งนั้นเมืองพิมายเป็นเมืองซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมร ปราสาทหินแห่งนี้สร้างเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานมาโดยตลอด เนื่องจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย

ในปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2532 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยาน

สิ่งที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

  1. พลับพลา ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกกันว่า “คลังเงิน” จากตำแหน่งที่ตั้งสันนิษฐานว่าคงเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่างๆ จากการขุดแต่งบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับ และเหรียญสำริด เป็นเหตุให้เรียกกันว่า “คลังเงิน”
  2. สะพานนาคราช เป็นทางที่ทอดนำไปสู่ตัวปรางค์มีนาคทอดตัวยาวเป็นราวบันได ชูเศียรทั้งเจ็ดแผ่พังพานเปล่งรัศมีอย่างสวยงาม นาคเป็นสัตว์มงคลที่พบตามโบราณสถาน ที่ได้รับอิทธิพลจากคติของศาสนาฮินดู หรือพราหมณ์ซึ่งเชื่อว่านาคทอดร่างเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ ที่เชิงบันไดนาคทั้งสองข้างมีสิงห์จำหลักจากหินประดับอยู่ข้างละตัว สิงห์มีท่าทางองอาจเสมือนเป็นผู้พิทักษ์โบราณสถานลักษณะทางศิลปกรรมของสิงห์และนาคนี้ คล้ายศิลปะที่นครวัดที่สร้างในช่วงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656-1688)
  3. ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว ซุ้มประตูหรือโคปุระ มีทั้งหมดสี่ด้านตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว อยู่ในแนวตรงกันหมดทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ-ใต้ อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพง ทิศตะวันออก-ตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท มีฐานกว้างสามคูหามีเสาศิลา ช่องลมประดับข้างละสองช่อง เคยพบทับหลังชิ้นหนึ่งที่โคปุระทิศตะวันตก สลักเป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกประดิษฐานบนคานหาม ทับหลังชิ้นนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนของโลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า
  4. ชาลาทางเดิน ก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน โดยทำทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้
  5. ซุ้มประตูและระเบียงคด เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ระเบียงคดมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ปรากฏหลักฐานสำคัญที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ บริเวณกรอบประตูพบจารึกภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1651-1655 กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ การสร้างเมือง ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูง และพระนางมหากษัตริย์คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1
  6. ปราสาทประธาน มีขนาดใหญ่ที่สุด สร้างขึ้นช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 หันหน้าไปทางทิศใต้ต่างจากปราสาทขอมแห่งอื่นๆ สันนิษฐานว่าหันไปทางเมืองพระนคร สลักลวดลายต่างๆ เช่น ลายกลีบบัว ลายประจำยาม ก่อด้วยหินทรายสีขาวทำเป็นชั้นซ้อนขึ้นไปห้าชั้น ส่วนยอดสลักเป็นรูปครุฑแบกทั้งสี่ทิศ เหนือขึ้นไปสลักเป็นรูปเทพประจำทิศต่างๆและรูปดอกบัว ทับหล้งและหน้าบันที่ประดับองค์ปรางค์ประธานส่วนใหญ่เล่าเรื่องรามายณะ และคติความเชื่อในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ เช่นหน้าบันทิศใต้ หรือด้านหน้าก่อนเดินเข้าในองค์ปรางค์เป็นภาพศิวนาฏราชหรือพระศิวะฟ้อนรำ 108 ท่าในศาสนาฮินดูเชื่อว่า เมื่อใดที่พระศิวะฟ้อนรำผิดจังหวะ เมื่อนั้นโลกจะเกิดกลียุค นอกจากนี้ยังมีทับหลังที่จำหลักภาพอันเป็นหลักฐานสำคัญว่าปราสาทหินพิมาย เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา คือภาพพุทธประวัติตอน ” มารวิชัย” และพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
  7. ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่ด้านขวาของปรางค์ประธาน ก่อด้วยหินทรายสีแดง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยพระเจ้าวรมันที่ 2 ซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายและ ได้พบศิวลึงค์ในหอพราหมณ์ซึ่งตั้งอยู่ติดกับปรางค์หินแดงถึงเจ็ดองค์ จึงสันนิษฐานว่าจะเป็นสถานที่ที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ บรรณาลัย เป็นอาคารก่อด้วยหินทราย สีแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ตั้งอยู่ใกล้ซุ้มประตูทิศตะวันตก นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นที่เก็บรักษาตำราทางศาสนา หรืออาจจะเป็นที่ประทับของกษัตริย์ที่เสด็จมาทรงประกอบพิธีกรรม
  8. หอพราหมณ์ เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับบปรางค์หินแดง ในปี พ.ศ. 2493 ได้ค้นพบศิวลึงค์ สลักด้วยหินทรายจำนวน 7 ชิ้นอยู่ภายในหอพราหมณ์ เชื่อกันว่าอาคารหลังนี้คงเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ แต่จากรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้งเดิมคงเป็นที่ตั้งของบรรณาลัยมากกว่า
  9. ปรางค์พรหมทัต ก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1761) เมื่อคราวที่พระองค์ทรงบูรณะปราสาทหินพิมาย ภายในปรางค์พบประติมากรรมศิลารูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งขัดสมาธิ ชาวบ้านเรียกกันว่าท้าวพรหมทัต แต่นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นพระบรมรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพบผู้หญิงนั่งคุกเข่าที่ชาวบ้านเรียกว่า นางอรพิมพ์ ในตำนานอรพิมพ์ ปาจิตต ซึ่งเป็นเรื่องเล่าในท้องถิ่น จนกลายเป็นชื่อบ้านนามเมืองในย่านพิมาย เช่นคำว่า”พี่ชายมา”ในเรื่องที่จะเล่าต่อไปก็เชื่อกันว่าเป็นที่มาของชื่อ “พิมาย” นางอรพิมพ์ เป็นลูกสาวชาวบ้านหน้าตาสะสวย เมื่ออายุได้ 16 ปีได้อยู่กินกับปาจิตต แห่งเมืองพรหมพันธุ์นคร ระหว่างที่สามีไม่อยู่ พรหมทัตกุมารกษัตริย์เมืองแห่งหนึ่ง ได้เสด็จประพาสป่ามา พบนางอรพิมพ์โดยบังเอิญ จึงได้เอานางไปอยู่ด้วย แต่เมื่อพรหมทัตกุมารเข้าใกล้นางจะร้อนเป็นไฟ เมื่อปาจิตตกุมารกลับมาได้ออกตามหาและได้ใช้อุบายว่า เป็นพี่ชายมาพบน้องสาว นางอรพิมพ์จึงบอกกับพรหมทัตกุมารว่า” พี่ชายมา”และสามารถปลิดชีวิตพรหมทัตกุมารได้สำเร็จแล้วพากันหนีออกมาได้ จึงเป็นเรื่องเล่าขานกันสืบมา
  10. บรรณาลัย ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด ด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 หลังขนาดเดียวกัน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว พบร่องรอยหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจตุรัส เดิมคงเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าบรรณาลัยคือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
  11. พระระเบียง เมื่อมาถึงระเบียงก็ถือว่าเข้าสู่เขตชั้นในของปราสาทหินแล้ว พระระเบียงแต่ละด้านมีซุ้มประตูหรือโคปุระชั้นในอยู่กึ่งกลางที่น่าสนใจ คือกรอบประตูด้านทิศใต้ที่มีจารึกบนแผ่นหินเป็นอักษรเขมรโบราณกล่าวถึงการสร้างเมืองพิมายและการสร้างรูปเคาพร จากพระระเบียงจะเข้าสู่ชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปราสาทพิมาย มีปรางค์สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน คือปรางค์ประธานปรางค์พรหมทัต และปรางค์หินแดง
  12. สระน้ำหรือบาราย โบราณสถานเขมรมักมีสระน้ำหรือภาษาเขมรเรียกว่า บาราย เป็นสระที่ขุดขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค บางคนก็เชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมบริเวณเมืองพิมายมีบารายอยู่หลายแห่ง ที่อยู่ในกำแพงเมืองคือ สระแก้ว สระพรุ่ง และสระขวัญ นอกกำแพงเมืองคือ สระเพลง อยู่ทางทิศตะวันออก สระโบสถ์ อยู่ทางทิศตะวันตก
  13. ประตูชัย เป็นหนึ่งในประตูเมืองซึ่งมีอยู่ทางสี่ทิศ ประตูชัยอยู่ทางด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมายรับกับถนนโบราณที่ทอดมาจากเมืองพระนครในเขมร มีแผนผังการก่อสร้างเหมือนกันทุกประตู คือเจาะเป็นช่องสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลงด้านข้างทั้งสองด้านของประตูมีห้องอยู่สามห้อง เทคนิคการสร้างอยู่ในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และสันนิษฐานว่าคงได้รับการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
  14. กุฏิฤาษี บริเวณที่ตั้งกุฏิฤาษีเป็นจุดสิ้นสุดของถนนโบราณที่มีต้นทางจากเมืองพระนครในเขมร แต่ไม่เหลือร่องรอยถนนไว้ให้เห็นเพราะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน กุฏิฤาษีเชื่อว่าเป็นอโรคยาศาลสร้างขึ้นช่วงรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองแห่งอาณาจักรขอม พระองค์โปรดเกล้าให้สร้างอโรคยาศาลตามเส้นทางโบราณไว้จำนวนมาก ปัจจุบันเหลือเพียงซากกำแพงศิลาแลงกับปราสาทเท่านั้น
  15. ท่านางสระผม เป็นโบราณสถานนอกกำแพงเมือง ตั้งอยู่ริมลำน้ำเค็มทางทิศใต้ของเมือง เดิมทีเป็นเพียงเนินดินใหญ่ที่มีเศษภาชนะดินเผาและเศษกระเบื้อง กระทั่งได้รับการขุดแต่งใน พ.ศ.2531จึงพอเห็นรูปรอยว่าเป็นอาคารทรงกากบาทก่อด้วยศิลาแลงมีฐานเป็นชั้นๆ และพบร่องรอยหลุมขนาดเล็กอยู่ที่มุมอาคารทุกจุดนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคงเป็น ศาลาจัตุรมุขซึ่งเป็นท่ารับเสด็จเจ้านายทางฝั่งพิมาย เพราะเป็นท่าน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในแนวถนนโบราณ ห่างจากท่านางสระผมไปเล็กน้อยมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 200 ม. ยาว 400 ม.เรียกว่าสระช่องแมว แต่ไม่ปรากฏเรื่องราวว่ามีความสำคัญใด

[adsense-2]

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.

อัตราค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 100 บาท มีบริการยุวมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนพิมายวิทยานำชมสถานที่ฟรี

 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

บริการยุวมัคคุเทศก์ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย โทร. 0-4447-1568
ททท. สำนักงานนครราชสีมา (นครราชสีมา ชัยภูมิ) อ.เมือง นครราชสีมา โทร. (044) 213-666, (044) 213-030
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. (044) 251-818
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155, (044) 341-777-9
ท่าอากาศยานนครราชสีมา โทร. (044) 259-524
บมจ. การบินไทย (สนามบิน) โทร. (044) 255-425
โรงพยาบาลมหาราช โทร. (044) 254-990-1
สถานีขนส่งแห่งที่ 1 โทร. (044) 242-889
สถานีขนส่งแห่งที่ 2 โทร. (044) 256-006-9
สถานีตำรวจภูธร โทร. (044) 242-010
สถานีรถไฟ โทร. (044) 242-044
สำนักงานจังหวัด โทร. (044) 243-798

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองโคราชใช้ถนนมิตรภาพ หรือทางหลวงหมายเลข 2โคราช-ขอนแก่น ประมาณ 50 กม.พบทางแยกตลาดแคให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 206 อีก 10 กม.จะถึงปราสาทหินพิมายซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองพิมาย
รถประจำทาง ขึ้นรถโดยสารโคราช-พิมาย ที่สถานีขนส่งแห่งที่ 2 ในตัวเมืองโคราชมีทั้งรถปรับอากากาศและรถธรรมดา รถจอดหน้าปราสาทหินพิมาย

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น