วัดแค

วัดแค เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดี เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ไปทางเหนือ ห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 10 เมตร เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามจากต้นมะขามต้นนี้ ให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากท่านอาจารย์คงไว้โจมตีข้าศึก นอกจากนี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” ไว้ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้อีกด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสวัดแคเมื่อ พ.ศ. 2447

วัดนี้มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย ทำด้วยทองเหลืองกว้าง 1.40 เมตร ยาว 2.80 เมตร สร้างซ้อนกันไว้ในรอยใหญ่ นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบศิลปรัตนโกสินทร์ จีวรและอังสะเป็นลายดอกพิกุลงดงามมาก ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าพระประธาน สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ระฆังทองเหลือง หม้อต้มกรักทองเหลือง ตู้ใส่หนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายเมื่อปี พ.ศ. 2412

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

มณฑปบูรพาจริยานุสรณ์ เป็นอาคารทรงไทยโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ส่วนหน้าของวัดแค ลานจอดรถของวัดแคอยู่หน้ามณฑปบูรพาจริยานุสรณ์แห่งนี้ เป็นลานกว้างขวางมาก ลักษณะที่เราเห็นในวัดเราก็รู้ได้ว่าเป็นวัดที่มีประชาชนเดินทางมาไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำบุญกันมากวัดหนึ่ง

ศาลาพระพุทธบาทสี่รอยวัดแค ศาลาหลังนี้สร้างอยู่ด้านข้างของมณฑปบูรพาจริยานุสรณ์ เป็นแบบทรงไทยที่กลมกลืนกัน

พระพุทธบาทสี่รอยวัดแค เป็นรอยพระพุทธบาทยุคต้นรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยสำริดฝีมือปราณีตมาก ภายในมีรอยพระพุทธบาทซ้อนกัน 4 ชั้น มีรูปภาพต่างๆ ภายใน เช่น พระในซุ้มเรือนแก้ว เต่า หงส์ ฯลฯ คล้ายแสดงเรื่องราวพระพุทธเจ้าสิบชาติ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วถวายไว้ที่วัดแคแห่งนี้ จึงถือได้ว่าเป็นสมบัติเก่าแก่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ด้วยเหตุธรรมจักรกลางรอยพระพุทธบาทถูกโจรกรรมหายไป ทางวัดโดยท่านเจ้าอาวาสมีดำริที่จะสร้างธรรมจักรมาทดแทนของที่สูญหายไป

อาคารเอนกประสงค์ อยู่ใกล้ๆ กับพระพุทธบาทสี่รอย สุดลานจอดรถ เป็นสถานที่สำหรับประชาชนเข้ามากราบไหว้สักการะพระพุทธรูปและรูปเหมือนหลวงปู่คง อดีตเจ้าอาวาสวัดแค ผู้เป็นพระอาจารย์ของสามเณรแก้ว รูปเหมือนพระครูวิมลสังวร (สังวร สุมโน) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 12 รูปจำลองขุนแผน และกุมารทอง ด้านหน้ามีดอกไม้ธูปเทียนให้บูชาก่อนเข้าไปสักการะ เป็นสถานที่บูชาวัตถุมงคลของวัดแคอีกด้วย

พระพุทธชยสิทธิเตชาภินิหาร พระพุทธรูปในอาคารเอนกประสงค์ ประดิษฐานอยู่ตรงกลางระหว่างรูปเหมือนหลวงปู่คงและพระครูวิมลสังวร ชาวบ้านจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหลวงพ่อสำเร็จ เชื่อกันว่าผู้ใดมาขอพรพระพุทธรูปองค์นี้มักจะประสบความสำเร็จสมปรารถนา

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอาคารเอนกประสงค์ นอกเหนือจากพระพุทธชยสิทธิเตชาภินิหารแล้ว ในอาคารเอนกประสงค์ยังมี
รูปเหมือนหลวงปู่คง อดีตเจ้าอาวาสวัดแค ผู้เป็นพระอาจารย์ของสามเณรแก้ว หรือขุนแผน เมื่อครั้งที่สามเณรแก้วมาอยู่ที่วัดแคหลวงปู่คงได้ถ่ายทอดวิชาคาถาอาคมให้กับขุนแผน ตั่งเสภาขุนช้างขุนแผนที่ว่า
สะกดทัพจับพลทั้งปลุกผี ผูกพยนต์ฤทธีกำแหงหาญ
ปัถมังกำบังตนทนทาน สะเดาะดาลโซ่กุญแจประจักษ์ใจ
ทั้งพิชัยสงครามทั้งความรู้ อาจจะปราบศัตรูสู้ไม่ได้
ฤกษ์ผานาทีทุกสิ่งไป ทั้งเสกใบมะขามเป็นต่อแตนฯ

รูปเหมือนพระครูวิมลสังวร (สังวร สุมโน) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 12 อดีตเจ้าคณะตำบลรั้วใหญ่ เขต 2

รูปขุนแผน  ขุนแผนเป็นผู้มีเสน่ห์เป็นอย่างมาก ใครเห็นใครก็รัก อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความสามารถหลายๆ ด้าน ขุนแผนเมื่อครั้งบวชเป็นสามเณรเคยมาอยู่ที่วัดแคแห่งนี้ สำเร็จวิชาต่างๆ จากหลวงปู่คง

กุมารทอง  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเชื่อกันมาช้านาน สำหรับกุมารทองวัดแคนั้นมีข้อมูลดังนี้ ตามวรรณคดีกุมารทองเป็นลูกของขุนแผนกับนางบัวคลี่ ดังนั้นกุมารทองจึงถือว่าเป็นหนึ่งในของวิเศษของขุนแผนเอาไว้ช่ายในยามที่ขุนแผนตกอยู่ในที่นั่งลำบาก กุมารทองคำองค์นี้สร้างจากนิมิตของพระครูปลัดธรรมวงศานุวัตรเจ้าอาวาสวัดแค และมีที่มาที่ไปถูกต้องตามวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยได้รับศรัทธาจาก อ.ลักษณ์ เรขานิเทศ (โหรฟันธง) รับเป็นเจ้าภาพในการเททองหล่อที่วัดแค หน้าวิหารมหาอุตม์ อีกทั้งทุกๆ ปีที่ทางวัดแคจัดให้มีการบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ดวงวิญญาณของเด็กทารกที่เสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด จะได้มีการบวงสรวงประกาศให้ดวงวิญญาณที่ยังไม่ถึงเวลาไปเกิด ให้มาสถิตอยู่ที่รูปกุมารทองคำนี้

ต้นมะขามยักษ์วัดแค ความเป็นมาของต้นมะขามยักษ์ขนาดใหญ่ที่มีรั้วรอบโคนต้น (เพื่อป้องกันการเข้าไปทำร้ายต้นมะขามเข่นการขูดหาหวย) มีดังต่อไปนี้
จารึกของตำนานที่ย้อนรอยของวรรณคดีไทย เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนหนึ่งกล่าวถึงขุนแผน เมื่อครั้งเป็นสามเณรแก้วได้เรียนวิชาเสกใบมะขามจากต้นมะขามต้นนี้ให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากท่านอาจารย์คง ไว้โจมตีข้าศึกที่มารุกรานแผ่นดินสยาม หลักฐานสำคัญในอดีตซึ่งยังคงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน โดยต้นมะขามใหญ่นี้วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 9.50 เมตร อายุประมาณ 1,000 ปี

ศาลพระอาจารย์คง ถัดจากต้นมะขามยักษ์มาทางด้านแม่น้ำ จะเห็นต้นไม้ใหญ่มีศาลเพียงตาเรียงกันอยู่หลายหลัง ซึ่งมีศาลพระอาจารย์คง และศาลพ่อขุนแผน อยู่ในนั้นด้วย

คุ้มขุนแผนวัดแค เดินเข้ามาเพียงไม่กี่สิบเมตร จะมาถึงบ้านทรงไทยหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้สร้างตามแบบไทยดั้งเดิม ประกอบไปด้วยเรือนใหญ่ตรงกลาง และมีเรือนลูกเชื่อมกันอยู่ด้านข้าง คุ้มขุนแผนนี้เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2525 จากงบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเงิน 1,319,000 บาท มีชาวบ้านร่วมบริจาคสมทบทุนอีก 330,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นอุทยานวรรณคดี เป็นการอนุรักษ์ศิลปะทางวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน การก่อสร้างเสร็จสิ้นลงในวันที่ 30 กันยายน 2527 ภายในคุ้มขุนแผน ลักษณะมีมุกยื่นออกมาด้านหน้าค่อนข้างกว้าง สร้างบันไดทางขึ้นกว้างเท่ากับมุกด้านหน้า เดินขึ้นไปต้องถอดรองเท้าด้วยนะครับ ส่วนตรงกลางเป็นโถงกว้างๆ ด้านซ้ายและด้านขวาเป็นเรือนลูกเชื่อมต่อออกไป ด้านหลังมีเรือนครัวซึ่งจำลองห้องครัวในอดีตมีหม้อดินและเตาฟืน

พระพุทธรูปวิหารมหาอุตม์ จุดเด่นอย่างหนึ่งของวัดแค นอกเหนือจากคุ้มขุนแผน หลวงปู่คงนั่งพญาต่อ เดินมาอีกหน่อยจะเห็นวิหารหลังเล็กๆ มีประตูทางเข้า-ออกช่องเดียว มีหน้าต่าง 2 ด้าน ลักษณะการสร้างอุโบสถหรือวิหารที่มีช่องเข้า-ออกทางเดียวนี้เรียกกันว่า มหาอุตม์ ถ้าเป็นโบสถ์ก็เรียกว่าโบสถ์มหาอุตม์ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่วัดในประเทศไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธมงคล เป็นพระประธาน พระพุทธมงคล เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 109 นิ้ว สร้างมาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ตามความเชื่อของชาวบ้านละแวกใกล้เคียง สมัยนั้นการเดินทางต้องใช้แม่น้ำท่าจีน พ่อค้าแม่ค้า หากผ่านหน้าวิหารหลวงพ่อให้อธิษฐานน้ำในแม่น้ำ มาประพรมสินค้าที่จะนำไปขาย เมื่อถึงตลาดของจะขายดีเป็นเทน้ำ เทท่า หรือหากใครมาทำมิดีมิร้าย หรือลบหลู่ บ้างจะเห็นองค์หลวงพ่อโยกซ้ายโยกขวาให้เห็น เป็นต้องเผ่นหนี

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานในวิหารมหาอุตม์ของวัดแค เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย มีเอกลักษณ์โดดเด่นตรงที่จีวรลายดอกพิกุล เป็นสมบัติคู่วัดแคมาช้านาน จากความรู้ที่เราได้เดินทางไปยังวัดต่างๆ หลายแห่งทั่วประเทศ เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปจีวรดอกพิกุลว่า ส่วนจีวรที่นุ่งห่มองค์พระปฏิมากร เมื่อต้องการให้เป็นลายดอกพิกุลอันเป็นงานที่มีรายละเอียดปราณีต จำเป็นต้องใช้เนื้อโลหะที่บางและเหนียวมาก ข่างสมัยก่อนจะใช้ทองคำเป็นส่วนผสมสูง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถทำลายดอกพิกุลที่ละเอียดงดงามดังที่เห็นอยู่บนองค์พระพุทธรูปได้ ในยุคหลังๆ จึงไม่ค่อยได้เห็นการสร้างพระพุทธรูปที่มีลวดลายดอกพิกุลบนองค์พระ นอกจากนี้ยังมีระฆังโบราณที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยหลวงพลสงคราม (ผึ้ง พึ่งฤทธิ์) สร้างถวายวัดแคไว้ ตามความเชื่อระฆังเป็นเครื่องบอกสัญญาณ ใครได้ตี ก็จะมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกล ทำการค้า การขาย คนรู้จักทั่วไป

หลวงพ่อแสนสุข พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบูรพาจริยานุสรณ์ อยู่ทางด้านหน้าทางเข้ามณฑป มีความยาว 2.79 เมตร มีเพียงองค์เดียวในโลกเพราะแกสลักด้วยไม้สัก ลงรักปิดทองคำเปลวทั้งองค์ งดงามมาก ถูกต้องตามพุทธลักษณะทุกประการ
สัทธิการิยะ ปุคคละ บุคคลใดชายก็ดี หญิงก็ตาม สาธุชนทั้งปวงมีโอกาสมาสักการะบูชากราบไหว้หลวงพ่อแสนสุข จักเป็นมงคลแก่ตัว เป็นบุญ เป็นวาสนาบารมี เป็นมหาโชค มหาลาภ อันยิ่งใหญ่ไพศาล สุดจะพรรณนา โดยเฉพาะผู้ที่เกิดวันอังคาร พระปางไสยาสน์นั้นเป็นพระประจำวันเกิดของคนที่เกิดวันอังคารโดยเฉพาะ
ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ต้องกราบขอพร ขอบารมีพระปางไสยาสน์ เพราะวันอาทิตย์กับวันอังคาร เป็นคู่ศัตรูกัน จำเป็นต้องขอบารมีของพระประจำวันอังคาร มาปกปักรักษาคุ้มครองดวงชะตาของผู้นั้น
ผู้ที่เกิดวันพุธกลางคืน (ราหู) ให้กราบหลวงพ่อแสนสุข จะเป็นการเสริมดวง ราหูเปรียบเสมือนปลวก มด มอด ที่คอยมากัด แทะ ทำลายล้าง ตลอดถึงผู้ที่ลูกดื้อ เมียหนี สามีทิ้ง บริวารไม่อยู่ในโอวาท

องค์จตุคาม-รามเทพ อีกหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในมณฑปบูรพาจริยานุสรณ์ของวัดแด ฝากรูปนี้กันเป็นรูปสุดท้ายครับ ตอนนี้เราก็เดินทางมาถึงลานจอดรถและพร้อมที่จะเดินทางไปไหว้พระวัดต่อไป บนเส้นทางมหามงคลไหว้พระ 9 วัดโบราณ สุพรรณบุรี ถนนสมภารคง กันต่อ

[adsense-2]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี โทร.(035) 536 030, (035) 535 789
สำนักงานจังหวัด (035) 535 376
ประชาสัมพันธ์จังหวัด (035) 535 423
เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี (035) 522 974
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี (035) 525 777
ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี (035) 536 030
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี (035) 525 583-4
ตำรวจทางหลวง โทร 1193
แขวงการทางสุพรรณบุรี โทร (035) 522 133
สถานีตำรวจภูธร (035) 525 583-4
บขส.สุพรรณบุรี (035) 522 373
สถานีรถไฟสุพรรณบุรี (035) 511 950

การเดินทาง 

รถยนต์ส่วนตัว วัดแค ตั้งอยู่ที่อ.เมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้เส้นทางเดียวกันกับวัดพระศรีรัตน์มหาธาติ จากปากทางถนนสมภารคง เข้าไป 1.2 กม. วัดจะอยู่ขวามือ

 

ความเห็น

ความเห็น