ตลาดเก้าห้องร้อยปี

ตลาดเก้าห้องร้อยปี ตั้งอยู่ ในเขตเทศบาลตำบล บางปลาม้า หมู่ที่ 2 ตำบลบางปลาม้า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นตลาดห้องแถวเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน อายุประมาณ 100 ปี สร้างประมาณต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากเอกสารที่มีผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติตลาดเก้าห้อง และจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ คำว่า “ตลาดเก้าห้อง” น่าจะนำมาจากชื่อของบ้านเก้าห้อง ซึ่งเป็นบ้านโบราณมีประวัติสืบทอดมายาวนาน ตลาดเก้าห้องเล่ากันว่าสร้างขึ้นโดยชาวจีนคนหนึ่งชื่อ “นายฮง“ อพยพมาจากกรุงเทพฯ มาทำมา ค้าขายอยู่บริเวณละแวกบ้านเก้าห้อง กิจการค้ารุ่งเรืองดี ในราว พ.ศ. 2424 ได้แต่งงานกับ “นางแพ” ซึ่งเป็นหลานสาวของขุนกำแหงฤทธิ์แห่งบ้านเก้าห้อง และได้ประกอบอาชีพค้าขายที่แพซึ่งสร้างขึ้นไว้ 1 หลัง จอดอยู่ริมน้ำหน้าบ้านเก้าห้อง ซึ่งในสมัยก่อนเป็นย่านค้าขายที่มีเรือนแพขายของสองฝั่งแม่น้ำ นายฮง หรือที่ชาวบ้านมักนิยมเรียกว่า “เจ๊ก-รอด” ทำการค้าขายสินค้าทุกประเภทโดยเฉพาะเครื่องบวช เครื่องมืออุปกรณ์ทำนาและเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลายจนร่ำรวยและรู้จักกันในนามต่อมาว่า“นายบุญรอด เหลียงพานิช”

ในปี พ.ศ. 2467 โจรได้ปล้นแพของนายบุญรอด และได้ทำการประทุษร้ายนางแพจนถึงแก่กรรม หลังจากนั้นไม่นานนายบุญรอดได้สมรสกับ นางส้มจีน นายบุญรอดเริ่มวางแผนผังและสร้างตลาดบริเวณฝั่งตรงข้ามบ้านเก้าห้อง โดยโยกย้ายแพทั้งหลายขึ้นไปค้าขายบนบกคือในตลาด เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำในบริเวณนั้น และเปิดการค้าทางบกมากขึ้นและนำชื่อบ้านเก้าห้องมาเป็นชื่อตลาด คือ “ตลาดเก้าห้อง”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 นายบุญรอดได้สร้างป้อม ซึ่งกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 4 เมตร มี 5 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า แต่ละชั้น บริเวณฝาผนังของทุกด้านมีรูกลมโต ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว โดยมีพระยารามราชภักดี เจ้าเมืองสุพรรณบุรีในสมัยนั้นมาเป็นผู้ทำพิธีเปิด เหตุที่สร้างป้อมขึ้นมาเพราะในระยะนั้นพวกโจรหรือที่เรียกว่า “เสือ” หลายคนออกปล้นฆ่าตามริมน้ำท่าจีนเสมอ จึงได้สร้างป้อมไว้สังเกตการณ์และมีการเตรียมการป้องกันการปล้นสะดมของเสือทั้งหลายด้วย ถ้าเสือมาคนจะขึ้นไปประจำอยู่ในป้อมตามชั้นต่างๆ เอาปืนส่องยิงตามรูทั้ง 4 ด้านของป้อม เพื่อต่อสู่กับเสือที่มาปล้น และในสมัยสงครามโลก เวลากลางคืนจะมียามขึ้นไปคอยสังเกตการณ์บนป้อม ถ้ามีเครื่องบินบินมาก็จะส่งสัญญาณให้คนในตลาดหรี่หรือดับตะเกียงเพื่อไม่ให้เครื่องบินมองเห็นไป จะได้ไม่ทิ้งระเบิดลงมา

ตลาดเก้าห้องร้อยปี เป็นตลาดเก่าแก่ซึ่งเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองริมแม่น้ำสุพรรณบุรี หรือแม่น้ำท่าจีนเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ปัจจุบันยังคงเห็นสภาพตลาดริมน้ำแบบอดีตที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ โดยมีหอดูโจร โรงสีเก่า ศาลเจ้า และบ้านเก้าห้อง (ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามตลาด) เป็นสิ่งก่อสร้างในอดีตที่น่าสนใจ มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ตลาดเก้าห้องให้ผู้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ชุมชนแห่งนี้แม้จะเงียบเหงาไปบ้าง แต่ในทุกวันอาทิตย์ชาวบ้านจะนำสินค้าอาหารคาวหวานมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน มีทั้งขนมเปี๊ยะ ขนมจันอับ กระหรี่พัฟ ขนมถ้วยฟู กาแฟโบราณ ห่านพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ราดหน้า ผัดไทย เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจ

หอดูโจร ตั้งอยู่ในตลาดเก้าห้อง เป็นหอที่ก่ออิฐถือปูนกว้าง 3×3 เมตร สูงราว 4 ตึก 4 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477 ชั้นบนเป็นดาดฟ้า แต่ละชั้นฝาผนังเจาะรูโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว เมื่อขึ้นไปบนยอดสุดจะมองเห็นทัศนียภาพ ทั้งทางบกและทางน้ำของตลาดเก้าห้องได้ทั้งหมด เหตุที่สร้างป้อมขึ้นมาเพราะในระยะนั้นพวกโจรหรือที่เรียกว่า “เสือ”หลายคนออกปล้นฆ่าตามริมน้ำท่าจีนเสมอ จึงได้สร้างป้อมไว้สังเกตการณ์และมีการเตรียมการป้องกันการปล้นสะดมของเสือทั้งหลายด้วย ถ้าเสือมาคนจะขึ้นไปประจำอยู่ในป้อมตามชั้นต่างๆเอาปืนส่องยิงตามรูทั้ง 4 ด้านของป้อม เพื่อต่อสู้กับเสือที่มาปล้น

บ้านเก้าห้อง เป็นชื่อของบ้านเรือนหลังหนึ่งซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายหรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนติดกับวัดลานคาทางทิศใต้ คือบ้านเลขที่ 4 หมู่ 3 ตำบลโคกคราม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นบ้านที่ขุนกำแหง (ชื่อเดิมคือ “วันดี”) ผู้นำชุมชนชาวพวนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง เมืองเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้าง หรืออาณาจักรลาวในอดีต (ปัจจุบันชื่อ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2370 เป็นผู้สร้างขึ้นตามคำทำนายของโหรว่าต้องปลูกบ้านเป็น 9 ห้องแทนการปลูกบ้านเป็น 3 ห้อง หรือ 4 ห้องตามแบบเดิมซึ่งได้เกิดเพลิงไหม้เผาผลาญจนหมดสิ้นถึงสามครั้ง ซึ่งขุนกำแหงมีบทบาทสำคัญในการปกครองชุมชนชาวพวนในท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการของประเทศสยามในสมัยนั้น

[adsense-2]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สำนักงานจังหวัด (035) 535 376
ประชาสัมพันธ์จังหวัด (035) 535 423
เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี (035) 522 974
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี (035) 525 777
ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี (035) 536 030
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี (035) 525 583-4
ตำรวจทางหลวง โทร 1193
แขวงการทางสุพรรณบุรี โทร (035) 522 133
สถานีตำรวจภูธร (035) 525 583-4
บขส.สุพรรณบุรี (035) 522 373
สถานีรถไฟสุพรรณบุรี (035) 511 950

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองสุพรรณบุรี ใช้เส้นทางสุพรรณบุรี-บางแม่หม้าย ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าตลาดเก้าห้อง มีลานจอดรถด้านหน้าตลาดฝั่งตรงข้ามโรงเรียนวัดบ้านหมี่

รถประจำทาง จากตัวเมืองสุพรรณบุรีมีรถประจำทางสายสุพรรณฯ-เก้าห้อง มาลงที่ตลาดเก้าห้อง

ความเห็น

ความเห็น