เขาอกทะลุ

เขาอกทะลุ เมื่อเดินทางมายังจังหวัดพัทลุง ระหว่างเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองพัทลุง จะสังเกตุเห็นภูเขาลูกหนึ่งซึ่งตั้งอยู่สูงเด่นเป็นตระหง่านมาแต่ไกล มีลักษณะเป็นเขาที่มีช่องทะลุอยู่บริเวณตรงกลาง มีชื่อว่า “ภูเขาอกทะลุ” หรืออีกชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆ ว่า “เขาอกลุ” ภูเขาอกทะลุตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางเมืองพัทลุง ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลปรางค์หมู่ ตำบลคูหาสวรรค์ และตำบลพญาขัน ชาวพัทลุงเปรียบภูเขาอกทะลุเปรียบประดุจเสาหลักและตราประจำจังหวัดพัทลุง นอกจากนี้ภูเขาออกทะลุแห่งนี้ยังปรากฏอยู่ในคำขวัญของจังหวัดพัทลุงอีกด้วย “เมืองหนังโนร์รา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาปงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน”

เขาอกทะลุมีลักษณะเป็นเขาหินปูน บริเวณตรงกลางมีช่องขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร สามารถมองทะลุไปยังอีกด้านหนึ่ง จุดนี้แหละครับที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและหวาดเสียวไม่น้อย ซึ่งจะเห็นบรรยากาศของเมืองพัทลุงได้อย่างชัดเจน ด้วยความพิเศษในส่วนที่เป็นช่องทะลุของเขาแห่งนี้ จึงทำให้มีความแตกต่างจากภูเขาทั่วไป นอกจากนี้ภูเขาทั่วๆ ไป ที่เราพบเห็นมักจะมีลักษณะเป็นเทือกเขา แต่เขาอกทะลุแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มอยู่ใจกลางเมืองพัทลุง และด้วยความสูงประมาณ 250 เมตร ทำให้สามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพของเมืองพัทลุงจากเขาอกทะลุแห่งนี้

สำหรับการเดินทางขึ้นเขาอกทะลุคงต้องใช้ความอดทนพอสมควร เนื่องด้วยต้องเดินทางขึ้นบันไดกว่า 1,066 ขั้น เรียกได้ว่าเป็นออกกำลังกายท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ หากรู้สึกเหน็ดเหนื่อยก็สามารถหยุดพักเหนื่อยระหว่างเส้นทางเดินบริเวณจุดชมวิว ซึ่งจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถมองเห็นเขาหัวแตกและเขาชัยบุรีที่อยู่บริเวณใกล้ แม้การเดินทางครั้งนี้จะแลกมาด้วยความเหน็ตเหนื่อยแต่ถือได้ว่าคุ้มค่ากับการได้ชมบรรยากาศทิวทัศน์ของท้องทุ่งนาเขียวขจีที่อยู่เบื้องล่าง ช่วยให้หายเหนื่อยได้เป็นปลิดทิ้ง หลักจากพักเหนื่อยก็เดินทางต่อเพื่อขึ้นไปยังบริเวณยอดเขาอกทะลุต่อไป หลังจากที่ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที ก็จะถึงบริเวณอกทะลุ ซึ่งในส่วนนี้อากาศเย็นสบายมากครับ เพราะมีลมพัดตลอดเวลา สามารถนั่งพักและชมทัศนีภาพรอบๆ หรือจะเลือกถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก เพื่อบันทึกว่าครั้งหนึ่งเคยเดินทางมายังสถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองพัทลุงอย่าง “เขาอกทะลุ”

สิ่งที่น่าสนใจ

1. ถ้ำพิมพ์หรือถ้ำเขาอกทะลุ เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของเขาอกทะลุ ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก กว้างประมาณ 5 เมตร ลึกประมาณ 20 เมตร ภายในถ้ำแสงส่องสว่างเข้าไปจนถึงตอนบนมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก กรุพระพิมพ์และสภาพพื้นที่ทั่วไปภายในถ้ำถูกขุดทำลายจากการขุดขี้ค้างคาวของชาวบ้าน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เคยเสด็จไปขุดพระพิมพ์ดินดิบที่ถ้ำแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ.2445 และทรงได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือ จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.121ความตอนหนึ่งว่า

“…เวลาเที่ยง 45  ขึ้นช้างไปประมาณ 2 เส้น ก็ถึงเขา เลี้ยวเข้าไปตามทุ่งนาอีกประมาณ 5 เส้น ถึงเชิงเขาปีนขึ้นไป 4 ฤา 5 วา ถึงถ้ำมีรูปพระประกัปฝังดินอยู่มากกว่ามากขุดอยู่จนบ่าย 2.35 จึงกลับขึ้นช้างไป ได้พระพิมพ์มามาก แต่ยังไม่รู้ว่ารูปอะไรต่ออะไร เพราะเปียกชำรุดดูไม่ได้…”

พระพิมพ์ดินดิบที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงขุดได้ในครั้งนั้นจำนวนหนึ่ง ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี พระพุทธเจ้าอมิตาภะ พระศรีศากยะมุนีและสถูป

2. ถ้ำคุรำ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำพิมพ์ห่างกันประมาณ 1.5 กิโลเมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก กว้างประมาณ 20 เมตร ลึกประมาณ ๒๐เมตร ภายในมีถ้ำมีกรุพระพิมพ์ดินดิบ สมัยศรีวิชัยจำนวนมาก ปัจจุบันสภาพถ้ำถูกทำลายจากการขุดขี้ค้างคาวและการย่อยหิน

3. ถ้ำตลับ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของถ้ำคุรำห่างกันประมาณ 50เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตกเป็นถ้ำขนาดใหญ่มาก มีหินงอกหินย้อยและแอ่งน้ำสวยงามมาก ภายในถ้ำมีกรุพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ปัจจุบันถ้ำตลับและถ้ำคุรำเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ถ้ำตลับ มีการพัฒนาบริเวณหน้าถ้ำสร้างกุฏิที่พักสงฆ์และเจดีย์ประดับกระเบื้องโมเสก 1 องค์

4. เจดีย์ยอดเขาจัง ตั้งอยู่บนยอดเขาจัง ซึ่งเป็นยอดเขาหนึ่งในภูเขาอกทะลุด้านทิศเหนือ มีความสูงประมาณ 240เมตร สภาพปัจจุบันทรุดโทรมมาก เหลือเพียงซากฐานเจดีย์สี่เหลี่ยม ซึ่งเคยมีการลักลอบขุดค้น ได้พบแหวนหัวงูและเงินเป็นจำนวนมาก

5. เจดีย์ยอดเขาอกทะลุ เล่ากันว่าพ่อหลวงนุ้ยเจ้าอาวาสวัดโคกคีรีกับท่านรักษ์ วัดเดียวกันได้ชักชวนชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2453 การสร้างครั้งนี้พ่อนุ้ยได้นำเอาสำเภาเงินสำเภาทองบรรจุไว้ในเจดีย์ด้วย ได้ทำสระน้ำเล็กๆ ไว้กลางกองเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้มีการสมโภชเจดีย์ มีหนังตะลุงโนราแสดง 3 วัน 3 คืน ต่อมาไม่นานฟ้าได้ผ่าองค์เจดีย์เหลือแต่ฐาน ฝ่ายหลวงพ่อนุ้ยกับหลวงพ่อรักษ์ก็ปรึกษากันชักชวนชาวบ้านขึ้นไปก่อเจดีย์ใหม่ เมื่อเสร็จแล้วฟ้าก็ผ่าเจดีย์ลงมาอีก เพราะเนื่องจากการสร้างเจดีย์ทั้ง ๒ครั้งไม่ได้ติดสายล่อฟ้า จนกระทั่ง พ.ศ.2458หลวงพ่อนุ้ยมรณภาพ การคิดสร้างเจดีย์บนเขาอกทะลุก็ชะงักไปช่วงหนึ่ง ต่อมาเมื่อย้ายเมืองพัทลุงตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.2467 ทางคณะพ่อค้าในตลาดพัทลุงได้ร่วมกันคิดที่จะสร้างเจดีย์บนเขาอกทะลุอีก โดยติดสายล่อฟ้าไว้ด้วย แต่ขาดพระสงฆ์ที่จะเป็นผู้นำ จึงทำการสร้างไม่สำเร็จ เจดีย์เขาอกทะลุจึงถูกทิ้งร้างตราบเท่าปัจจุบัน

เจดีย์บนยอดเขาอกทะลุก่ออิฐถือปูนมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 4.50 x 4.50 เมตร รากฐานที่เหลือสูงประมาณ 1.50 เมตร ทางทิศเหนือของเจดีย์มีแนวบันไดขึ้นสู่ฐานทักษิณ กว้างประมาณ ๒เมตร ฐานทักษิณเดิมปรุด้วยกระเบื้องแต่หักไปหมดแล้ว ส่วนองค์เจดีย์มีรูปแบบอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่บางท่านกล่าวว่าคล้ายเจดีย์วัดควนกรวด กล่าวคือเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ฐานทักษิณปรุด้วยกระเบื้องสีเขียว

[adsense-2]

ตำนานเขาอกทะลุ

มีตำนานเล่าว่า ชายผู้หนึ่งชื่อ นายเมือง เป็นพ่อค้าช้าง ตะแกมีเมียสองคน เมียหลวงชื่อนางศิลา และมีลูกสาวชื่อนางยี่สุ่น ส่วนเมียน้อยชื่อนางบุปผา และมีลูกชายชื่อนางชังกั้ง ลักษณะนิสัยของนายชังกั้งตรงกับชื่อ คือเป็นคนเกกมะเหรก ดื้อดึง และมุทะลุ ฝ่ายเมียหลวงและเมียน้อยก็ไม่ลงรอยกัน มักทะเลาะด่าทอและตบตีกันเสมอ วันหนึ่งนายเมืองเดินทางไปค้าขายต่างถิ่น นางยี่สุ่นลูกสาวไม่อยู่บ้านเช่นกัน นางมักอาศัยเรือสำเภาเดินทางหนีไปค้าขายถึงต่างแดน ฝ่ายนายชังกั้งนั้นก็ไม่อยู่ติดบ้าน นางบุปผา ผู้เป็นแม่ก็มิได้เป็นห่วง เพราะเอือมระอายากที่จะตักเตือนสั่งสอนลูก ภายในบ้านจึงเหลือแต่เมียหลวงและเมียน้อย ต่างก็ทำงานคนละอย่างคือเมียหลวงนั่งทอผ้าหรือทอหูกอยู่ใต้ถุนบ้าน และเมียน้อยตำข้าวโพดโดยใช้สากตำลงไปในครก ชาวใต้เรียกการตำข้าวว่า “ซ้อมสาร”
ช่วงหนึ่งต่างเกิดปากเสียงกันอย่างรุนแรง ถึงกับบันดาลโทสะออกมาอย่างไม่ยั้งคิด นั่นคือ เมียหลวงใช้กระสวยทอผ้าซึ่งชาวใต้เรียกว่า “ตรน” ฟาดศีรษะเมียน้อยอย่างเต็มแรงจนเป็นแผลแตกเลือดไหลแดนฉาน ฝ่ายเมียน้อยก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ นางจึงใช้สากตำข้าวกระทุ้งหน้าอกเมียหลวงอย่างแรงจนอกทะลุ ในที่สุดทั้งคู่ทนความเจ็บปวดไม่ไหวถึงแก่ความตายและกลายเป็นภูเขา นั้นคือเมียหลวงเป็น “เขาอกทะลุ” ส่วนเมียน้อยเป็น “เขาหัวแตก” ซึ่งทางการเรียกว่า “เขาคูหาสวรรค์” ฝ่ายนายเมืองกลับจากการค้าช้าง เมื่อพบเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเสียใจและตรอมใจ ในที่สุดก็ถึงแก่ความตายกลายเป็น “เขาเมือง หรือ เขาชัยบุรี” ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้างหมอบ ฝ่ายลูกสาวเมื่อขึ้นจากเรือสำเภาและเห็นเหตุการณ์วิปโยคเช่นนั้น นางยิ่งโศกเศร้าเสียใจเลย ถึงแก่ความตายเช่นกัน และกลายเป็น “เขาชัยเสน” ซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ศพสุดท้ายคือนายชังกั้งกลายเป็น “ภูเขาชังกั้ง หรือเขากัง” ปัจจุบันอยู่ในเขตโรงพยาบาลพัทลุง

ติดต่อสอบถาม
ตำรวจทางหลวง ส.ทล.2 กก.7 จ.ตรัง โทร. (075) 218 866
ททท. สำนักงานภาคใต้ เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช โทร. (075) 346 516
เทศบาลเมือง โทร. (074) 613 291
สถานีขนส่งจังหวัด โทร. (074) 612 070
สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง โทร. (074) 611 804
สำนักงานจังหวัด โทร. (074) 613 409
โรงพยาบาลกงหรา โทร. (074) 687 076
โรงพยาบาลเขาชัยสน โทร. (074) 691 031
โรงพยาบาลควนขนุน โทร. (074) 681 198
โรงพยาบาลตะโหมด โทร. (074) 695 140
โรงพยาบาลบางแก้ว โทร. (074) 697 111
โรงพยาบาลปากพะยูน โทร. (074) 699 023
โรงพยาบาลป่าบอน โทร. (074) 611 651
โรงพยาบาลพัทลุง โทร. (074) 613 282, (074) 613 095
โรงพยาบาลศรีบรรพต โทร. (074) 689 106

การเดินทาง 

รถยนต์ส่วนตัว จากศาลากลางจังหวัดพัทลุง ไปทางทิศตะวันออกตามถนนราเมศวร์ ข้ามทางรถไฟแล้วเลี้ยวซ้ายตามถนนลาดยาง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบภูเขาอกทะลุ

 

ความเห็น

ความเห็น