พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น ชมโบราณวัตถุล้ำค่า ศึกษานิทรรศการก่อนประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น ตั้งอยู่ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ ตำบลในเมือง จัดแสดงเรื่องราวท้องถิ่นอีสานเหนือ ในทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยา

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีโบราณวัตถุล้ำค่าของภาคอีสานตอนบนหลายสมัย เช่น สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี หรือข้าวของเครื่องใช้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ฯลฯ ทั้งหมดจัดแสดงโดยแบ่งเป็นยุคสมัยต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ในอาคารทรงไทยประยุกต์สองชั้น ซึ่งเชื่อมต่อกับอาคารจัดแสดงใบเสมากลางแจ้งและอาคารชั้นเดียว ด้านหลัง

อาคารพิพิธภัณฑ์ มีสองชั้น โดยจัดแสดงดังนี้

  • ชั้นล่างด้านขวา แสดงนิทรรศการสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ของภาคอีสานตอนบน บอกเล่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก ตั้งแต่ 280 ล้านปีก่อน ผ่านยุคไดโนเสาร์ซึ่งมีการค้นพบฟอสซิลอายุ 160 ล้านปีที่ภูเวียง กระทั่งถึงมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และจัดแสดงโบราณวัตถุที่น่าสนใจ เช่น เครื่องมือหินกะเทาะสมัยสังคม ล่าสัตว์อายุ 1 หมื่นปี ภาชนะดินเผาอายุ 5,600 ปี ขวานสำริดอายุ 4,000 ปี กำไลงาช้างอายุ 4,000 ปี เครื่องประดับทำจากเปลือกหอยทะเลอายุ 2,500 ปี ฯลฯ
  • ชั้นล่างด้านซ้าย จัดแสดงใบเสมาและชิ้นส่วนศิลปกรรมสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมาหินทรายกว้าง 68 ซม. สูง 190 ซม. สลักภาพพุทธประวัติตอนพิมพาพิลาป อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จ. กาฬสินธุ์ และใบเสมาหินทรายสลักลายสวยงามอีกหลายชิ้น
  • ชั้นบน เป็นห้องโถงโหญ่จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญมาก มาย เช่น พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ของไทยและลาว พระพิมพ์ปางแสดงธรรมสมัยทวารวดี พระแผ่นเงินดุนสมัยทวารวดี พระพุทธรูปนาคปรกศิลปะลพบุรี ฯลฯ
  • อาคารจัดแสดงใบเสมากลางแจ้ง อยู่ด้านตะวันตกของ อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารโล่งไม่มีผนัง จัดแสดงใบเสมาหิน ทรายแกะสลักลวดลายสวยงามมากมาย บริเวณสนามหญ้าภาย นอกอาคารมีใบเสมาโบราณตั้งกระจายอยู่ทั่ว เป็นใบเสมาที่พบในเมืองฟ้าแดดสูงยาง จ. กาฬสินธุ์ และแถบอีสานตอนบน

นิทรรศการภายในอาคารชั้นเดียวด้านหลัง จัดแสดงในห้องด้านซ้ายและขวา

  • ห้องด้านซ้าย จัดแสดงโบราณวัตถุและเครื่องใช้ของบุคคล สำคัญคู่เมืองขอนแก่น เช่น ง้าวโบราณของอดีตเจ้าเมือง ตู้พระธรรมลายรดน้ำและธรรมาสน์ทรงปราสาทแกะสลักลงรักปิดทองศิลปะพื้นบ้านอันสวยงาม เป็นต้น
  • ห้องด้านขวา จัดแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน มีเรือนอีสานจำลองแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานดั้งเดิม ลานบ้านมีเกวียน ใต้ถุนบ้านมีเครื่องมือเกษตร เครื่องมือจับปลา เครื่องจักสาน มีแคร่สำหรับนั่งทอผ้า บนเรือนมีเครื่องเรือนเครื่องใช้แบบพื้นบ้านจัดไว้อย่างน่าชม

[adsense-2]

สิ่งน่าสนใจภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ได้แก่

1. ภาชนะดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 5,600 – 4,500 ปีมาแล้ว ทำจากดินเผา สูง 21 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางปากภาชนะ 26.5 ซม. พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านธาตุ ต. บ้านธาตุ อ. เพ็ญ จ. อุดรธานี

2. ขวานสำริดมีบ้อง สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว

3. กำไลงาช้าง สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 4,000 – 3,000 ปีมาแล้ว ทำจากงาช้าง เส้นผ่าศูนย์กลาง 11 ซม. พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโพนสูง ต. โพนสูง อ. บ้านตุง จ. อุดรธานี

4. ลูกปัดและต่างหูเปลือกหอย สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,500 – 1,800 ปีมาแล้ว ทำจากเปลือกหอย แหล่งโบราณคดีบ้านโนนชัย อ. เมือง จ. ขอนแก่น

5. กระดิ่งสำริด สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 2,500 – 1,800 ปีมาแล้ว ทำจากสำริด สูง 11 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 8.5 ซม.

6. ใบเสมาสลักภาพพุทธประวัติ ตอน “พิมพาพิลาป” ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 15 ทำจากหินทราย สูง 190 ซม. กว้าง 68 ซม.  พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง อ. กมลาไสย จ. กาฬสินธุ์

7. พระพิมพ์ปางแสดงธรรม ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 ทำจากดินเผา สูง 14 ซม. กว้าง 9 ซม.  พบที่เมืองนครจำปาศรี อ. นาดูน จ. มหาสารคาม

8. พระพิมพ์ปางสมาธิ ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 ทำจากดินเผา สูง 22.5 ซม. กว้าง 14 ซม. พบที่โบราณสถานอุ่มญาดู เมืองกันทรวิชัย อ. กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม

9. พระพุทธรูปปางทรงแสดงธรรม (วิตรรกะ) ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 ทำจากสำริด สูง 9.5 ซม. กว้าง 3 ซม. พบที่เมืองชัยวาน กิ่งอ. โคกโพธิ์ไชย จ. ขอนแก่น

10. พระศิวะ หรือ ทวารบาล (นนทิเกศวร) ศิลปะลพบุรี แบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ทำจากหินทราย สูง 175 ซม. พบจากการขุดแต่งกู่น้อย อ. นาดูน จ. มหาสารคาม

11. พระวิษณุ (พระนารายณ์) ศิลปะลพบุรี แบบบาปวน ปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ทำจากหินทราย สูง 61 ซม.พบจากการขุดแต่งกู่น้อย อ. นาดูน จ. มหาสารคาม

12. แผ่นเงินดุน ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 16 ขนาดประมาณ 10×5 ซม. พบที่โบราณสถานอุ่นญาดู เมืองกันทรวิชัย อ. กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม

13. ศิลาจารึกศาลานางขาว อักษรขอม ภาษาเขมร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 ทำจากหินทราย สูง 21 ซม. กว้าง 9 ซม.พบจากการขุดแต่งโบราณสถานศาลานางขาว อ. นาดูน จ. มหาสารคาม

14. ศิลาจารึกกู่แก้ว (อโรคยศาล) อักษรขอม ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 18 ทำจากหินทราย สูง 38 ซม. กว้าง 22.5 – 24.5 ซม. พบจากการขุดแต่งกู่แก้ว อ. เมือง จ. ขอนแก่น

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น.

อัตราค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ถนนหลังศูนย์ราชการ ตำบลในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
โทร. 0-4324-6170  e-mail : [email protected]

 

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น