คุ้มเจ้าหลวง

คุ้มเจ้าหลวง ตั้งอยู่ในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ถนนคุ้มเดิม จ.แพร่ สร้างในสมัยพระเจ้าวิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย ประมาณปี พ.ศ. 2435 เพื่อเป็นที่พำนักของท่าน และเป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 คุ้มเจ้าหลวงได้ใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกว่า จวนผู้ว่า คุ้มเจ้าหลวงได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร และต่อมาได้มอบให้อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ซึ่งมีนโยบายที่จะดูแลปรับปรุงภูมิทัศน์คุ้มเจ้าหลวงให้มีความร่มรื่น สวยงาม เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว จัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้เยาชนศึกษาประวัติศาสตร์ของแพร่

คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ยังเคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวมาเสด็จมาบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรจังหวัดแพร่ ในปี พ.ศ.2501 อาคารหลังนี้ยังได้รับพระราชทานรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประปี พ.ศ.2536 และสถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ. 2550 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี อาคารหลังนี้จึงนับได้ว่าเป็นโบราณสถานที่ทรงไว้ซึ่งคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาวแพร่ตราบนานเท่านาน

พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง” เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 รูปทรงอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรปหรือที่เรียกว่า แบบขนมปังขิง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่แพร่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นการประดับตกแต่งลวดลายฉลุที่สวยงามเหมือนขนมปังขิง ที่มีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งเหมือนขิง ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูน มี 2 ชั้น มีความหรูหรา สง่า และโอ่โถงมาก มีประตู 72 บาน ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ และภาพถ่ายที่หายากของเมืองแพร่ รอบตัวอาคารประดับด้วยไม้ฉลุ และแกะสลักลวดลายอย่างประณีตบรรจง สวยงาม เป็นฝีมือช่างชาวจีนและช่างพื้นบ้าน
ห้องปีกขวาชั้นบนเป็นห้องประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้สักการะบูชา ห้องโถงกลางชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของเจ้าหลวง

[adsense-2]

ห้องปีกซ้ายชั้นบนสันนิษฐานว่าเคยเป็นห้องนอนของเจ้าหลวง ห้องปีกซ้ายชั้นล่างเป็นห้องแสดงของใช้ในสมัยโบราณ ห้องโถงกลางชั้นล่างมีอาวุธโบราณให้ชม ห้องปีกขวาช่างล่าง ที่พื้นล่างมีช่องที่สันนิษฐานว่าใช้ดูและให้อาหารข้าทาสบริวารที่ถูกขังอยู่ข้างล่าง

ที่ใต้ถุนอาคารมี 3 ห้อง ใช้สำหรับควบคุมข้าทาสบริวารของคุ้มที่กระทำความผิด ห้องกลางเป็นห้องมืด แสงสว่างสาดส่องเข้าไปไม่ได้เลย ใช้เป็นที่คุมขังข้าทาสบริวารที่กระทำความผิดร้ายแรง ส่วนอีก 2 ห้อง ปีกซ้ายและปีกขวา มีช่องแสง ให้แสงสว่างเข้าไปได้บ้าง

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม

เปิดทุกวัน เวลา 08.30 -16.30 น. เข้าชมฟรี

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่คุ้มเจ้าหลวง
ถ.คุ้มเดิม ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ 54000
โทรศัพท์: 054-524-158
อีเมล์: [email protected]

แผนที่คุ้มเจ้าหลวง

ความเห็น

ความเห็น