สะพานมอญ

สะพานมอญ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์​ ตั้งอยู่ที่อ.สังขละบุรี จ.กาญจบุรี เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปยังหมู่บ้านมอญ เชื่อมการสัญจร มอญ-สังขละ ให้ถึงกัน สะพานมอญ ยังเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณ์ และแสงยามเช้าที่สวยงาม พร้อมสัมผัสวิถีชาวบ้านกลางสายหมอก สะพานแห่งนี้ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีความยาวถึง 850 เมตร และมีความยาวเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า สะพานมอญนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี เป็นสะพานแห่งศรัทธา ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรี ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญในแถบนี้ สิ่งที่ห้ามพลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กับสะพานที่เสมือนเป็นสายใยวัฒนธรรมของชาวมอญและไทยในดินแดนสุดขอบประเทศแห่งนี้

สะพานมอญแห่งนี้ มีหลวงพ่ออุตตมะ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินการสร้างสะพานไม้นี้ขึ้น จากความร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญที่มีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่ออุตตมะโดยใช้ท่อนไม้ต้นไม้ที่ยืนต้นตายอยู่ใต้เขื่อนเขาแหลมมาเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้าง ซึ่งสะพานมอญเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2528 จนมาแล้วเสร็จในปี 2530 และมีการซ่อมแซมปรับปรุงครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2554 และเป็นแลนด์มาร์คที่ใครมาสังขละบุรีก็ต้องแวะมาถ่ายรูป มาสัมผัสภาพชีวิตที่เดินข้ามฝั่งไปมา ภาพเด็กๆ กระโดดเล่นน้ำ หรือแม้แต่ภาพวิถีชาวแพในแม่น้ำ

การเที่ยวชมสะพานมอญ ควรแวะเดินชมตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะช่วงเวลา 6.00 – 7.00 น. เป็นช่วงที่ได้เห็นวิถีชีวิตชาวมอญ ใส่บาตรพระทุกเช้า หากนักท่องเที่ยวต้องการใส่บาตร ก็มีอาหารขายบริเวณหมู่บ้านมอญ สายๆ หากเดินข้ามฝั่งไปยังหมู่บ้านมอญ ก็สามารถเที่ยวชมบ้านเรือนในแบบชาวมอญ ซื้อของที่ระลึก หรือจะแวะชิมขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย ที่เป็นอาหารพื้นบ้านชาวมอญก็ได้

ก่อนที่จะมีการสร้างสะพานมอญ ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย ใช้สะพานที่เรียกว่า “สะพานบาทเดียว” โดยใช้ไม้ไผ่ต่อเป็นแพ แล้วมีคนคอยลากให้มาเชื่อมต่อกันไปมา โดยเก็บเงินข้ามฟากครั้งละ 1 บาท ต่อมาหลวงพ่ออุตตมะได้ริเริ่มสร้างสะพานไม้นี้ขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านเดินทางข้ามแม่น้ำได้สะดวกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย วิธีการสร้าง และขั้นตอนการสร้าง ไม่ได้ใช้เครื่องจักรใดๆ ใช้เพียงอุปกรณ์พื้นบ้าน และแรงงานชาวบ้านที่ศรัทธาต่อหลวงพ่อสมัครใจมาช่วยกันลำเลียงวัสดุ ผูกยึด ตอไม้ เสา และกระดานไม้ น่าอัศจรรย์นะคะที่สะพานมีความแข็งแรงได้ขนาดนี้

วัสดุทั้งหมดล้วนทำด้วยไม้ ส่วนใหญ่จะใช้ไม้เนื้อแข็ง พวกไม้แดง เพราะมีความทนทาน ไม้ที่ได้ ส่วนหนึ่งนำมาจากต้นไม้ที่ยืนต้นจมอยู่เหนือเขื่อน ราวสะพาน และพื้นสะพาน ใช้ไม้กระดานที่ตัดเป็นท่อนๆ ขนาดหน้ากว้างไม่มาก นำมาต่อกัน ตัวสะพานใช้เสา 60 ต้น ตรงช่วงกลาง เสาห่าง 10 ศอก เพื่อให้เรือสัญจรไปมาได้ สะพานที่สร้างเสร็จเชื่อมต่อหมู่ 2 กับหมู่ 3 ของตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี สะพานไม้นี้จึงมีความหมายกับคนมอญเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่สะพานเชื่อมหมู่บ้านสองฝั่งแม่น้ำ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพลังศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะ เป็นสะพานมิตรภาพ ความสมานฉันท์ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันทั้งชาวไทยและชาวมอญในสังขละบุรี

[adsense-2]

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สำนักงานการท่องเที่ยวกาญจนบุรี (034) 511 200
สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี โทร. (034) 511 778, (031) 512 399
ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี โทร. (034) 512 410, (034) 514 756
สำนักงานเทศบาลเมืองกาญจนบุรี โทร. (034) 511 502-2
ที่ว่าการอำเภอเมืองกาญจนบุรี โทร. (034) 511 040, (034) 622 952
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกาญจนบุรี โทร. (034) 621 040-2
โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา โทร. (034) 622 999, (034) 511 233
บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. (034) 511 387
สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรี โทร. (034) 511 182
สถานีรถไฟกาญจนบุรี โทร. (034) 511 285
ตำรวจทางหลวง โทร. 1193
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่าน จังหวัดนครปฐม ประมาณ 9 กิโลเมตร จะพบสะพานข้ามไปจังหวัดกาญจนบุรี วิ่งตามทางหลวงหมายเลข 323 ประมาณ 7 กิโลเมตร จะพบสี่แยก ให้เลี้ยวขวาเพื่อเข้าเมืองกาญจนบุรี จากนั้นมุ่งหน้าสู่สี่แยกแก่งเสี้ยน ใช้เส้นทางอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งจะผ่านไทรโยคน้อยและไทรโยคใหญ่ (หลักกิโลเมตรที่ 125 ทางหลวง หมายเลข 323) จะเจอสามแยก ให้เลี้ยวขวาไป สังขละบุรี ผ่านน้ำตกเกริงกะเวีย น้ำตกไดช่องถ่อง ผ่านอุทยานแห่งชาติเขื่อนเขาแหลม เมื่อไปถึงแยกด่านเจดีย์สามองค์ ให้ตรงไปอีก 7 กิโลเมตร จะเจอแยก เลี้ยซ้ายไป สะพานอุตตมานุสรณ์ อีกประมาณ 300 เมตร ก็จะพบ สะพานอุตตมานุสรณ์ หากต้องการไปเที่ยว วัดวังก์วิเวการาม จากแยกด่านเจดี่ย์สามองค์ไม่ต้องเลี้ยวขวา ให้ขับตรงไป ประมาณ 7.4 กม.จะเห็นแยกขวา วัดวังก์วิเวการาม และแยกซ้ายไป เจดีย์พุทธคยา จำลอง

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น