โบราณสถานเมืองเพนียด

โบราณสถานเมืองเพนียด ไปย้อนอดีต ชมโบราณสถานของเมืองจันทบุรีและชมโบราณวัตถุที่วัดทองทั่วกันค่ะ โบราณสถานเมืองเพนียด ตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขาสระบาปทางด้านทิศตะวันตก อาณาเขตครอบคลุม หมู่บ้านเพนียด หมู่บ้านสระบาป ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

สภาพพื้นที่เป็นที่ลาดเทไปสู่ที่ราบลุ่มต่ำริมลำน้ำจันทบุรี โดยมีลำน้ำคลองนารายณ์ และคลองสระบาป ไหลลงมาจากเขาสระบาป ลงไปเชื่อมกับแม่น้ำจันทบุรี เส้นทางน้ำเหล่านี้คงจะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในอดีตอีกทั้งยังสร้างความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมอย่างมากในการตั้งชุมชนซึ่งน่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ สันนิษฐานจากขนาดของเมืองโบราณ และปริมาณวัตถุที่พบจำนวนมาก และหลายยุคสมัย

โบราณสถานเมืองเพนียดมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 1,000 เมตร ยาวประมาณ 2,000 เมตร แนวกำแพงเมืองโบราณและคูน้ำเกือบทั้งหมดในปัจจุบันถูกเกลี่ยลงจนไม่สามารถสังเกตได้ เท่าที่หลงเหลืออยู่ เป็นแนวคันดินด้านทิศใต้ของเมือง มีความสูงราว 3เมตร มีความยาวราว 50 เมตร ส่วนแนวกำแพงเมืองด้านทิศเหนือเดิมถูกถนนสุขุมวิทตัดผ่านบางส่วน พื้นที่ภายในเมืองโบราณปัจจุบันเป็นบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม โดยด้านทิศตะวันออกของเมืองพื้นที่ส่วนใหญ่มีการขุดยกร่องเพื่อทำสวนผลไม้ ส่วนที่ลุ่มบริเวณด้านทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ทำนา โดยถัดจากแนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกออกมาจะเป็นที่ลุ่มต่ำมากเช่นบริเวณบ้านศาลาแดง ในหน้าน้ำจะมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง

ประวัติความเป็นมา
เพนียด เป็นชุมชนโบราณ ที่พบหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ที่สำคัญจากจารึกภาษาขอม อายุราว พ.ศ. 800-1,000 ได้กล่าวว่า บริเวณที่ตั้งโบราณสถานเพนียดนั้น เดิมเป็นที่ตั้งเมืองจันทบุรีในยุคแรก ซึ่งขอมถือเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชา โดยมีเจ้าผู้ครองนครทำการปกครองอย่างเป็นอิสระ ได้มีการติดต่อกับอินเดียและรับเอาวัฒนธรรมของอินเดียเข้ามาใช้ในวิถีชีวิต เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเรือสำเภาผ่านไปมาค้าขายกับจีน และอินเดีย ดังนั้นชาวพื้นเมืองก็คือชาวชองและชาวขอม

หลักฐานที่พบ

  1. พบจารึกเพนียด 1 ขนาดกว้าง 49 ซม. สูง 47 ซม. หนา 16.5 ซม. ทำด้วยศิลาทราย จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ปัจจุบันอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
  2. โบราณวัตถุ เป็นหินแกะสลัก เป็นรูปและลวดลายต่าง ๆ เช่น ราหูอมจันทร์ เทวรูปหรือรามสูรย์ และเศษถ้วยชามต่าง ๆ ปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดทองทั่ว

ตำนานเมืองเพนียด

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับเมืองเพนียดว่า เมืองเพนียดมีพระเจ้าพรหมทัต เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองนคร พระมเหสีคือ พระนางจงพิพัฒน์ มีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ เจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส ต่อมาพระนางจงพิพัฒน์ทรงสิ้นพระชนม์ลง พระนางกาไวจึงได้ทำเสน่ห์ให้พระเจ้าพรหมทัตหลงใหลและอภิเษกกัน จนพระนางได้ตั้งครรภ์จึงได้อ้อนวอนขอสิ่งที่พระนางปรารถนา พระเจ้าพรหมทัตจึงพลั้งพระโอษฐ์ให้

เมื่อพระนางได้ประสูติพระไวยทัต พระราชโอรส พระนางกาไวก็ได้ทูลขอพระราชสมบุติให้แก่พระไวยทัตตามที่เคยรับปากไว้ จึงทำให้เจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาส ต้องอพยพไปสร้างเมืองใหม่ทางเหนือของเมืองเพนียดในดินแดนเขมร เรียกว่า เมืองสามสิบ

ครั้นต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต พระไวยทัตขึ้นครองราชย์สมบัติโดยมีพระนางกาไวเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เมื่อเจ้าชายบริพงษ์ และเจ้าชายวงศ์สุริยคาสทราบข่าวจึงยกทัพมาตีเพื่อเอาพระนครคืน พระไวยทัตสู้ไม่ไหวจึงถอยทัพร่นกลับแต่ก็ถูกตีแตก พระไวยทัตถูกฟันคอสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ตรงบริเวณเกาะทัพแตก ซึ่งเพียนมาเป็นเกาะตะแบกในปัจจุบัน

เมื่อพระนางกาไวทราบข่าวพระไวยทัตสิ้นพระชนม์ จึงได้ขนทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองออกมาโปรยหว่าน เพื่อล่อให้ข้าศึกเก็บ แต่ครั้นจะหนีก็เห็นว่าไม่มีทางรอด จึงดื่มยาพิษชื่อว่า ยามหาไวย สิ้นพระชนม์ในห้องบรรทม และสถานที่ที่พระนางกาไวหว่านทรัพย์สินเงินทองนั้น เรียกว่า ทองทั่ว และเป็นสถานที่ตั้งของ “วัดทองทั่ว” ในปัจจุบัน

[adsense-2]

วัดทองทั่วแหล่งเรียนรู้โบราณสถาน เมืองเพนียด

สำหรับ “วัดทองทั่ว” ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรื่องมาช้านานพร้อมกับตำนาน และโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีอายุกว่าพันปี ตามประวัติบอกไว้ว่าวัดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดเพนียด บริเวณใกล้วัดยังมีหลักฐานกำแพงเมืองปรากฏอยู่ มีหลักฐานเก่าให้เชื่อว่าเป็นวัดโบราณ อาทิ ใบเสมาของอุโบสถเก่าเป็นแบบใบเสมาคู่ ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย

โดยเชื่อว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง เนื่องจากพบใบสีมาคู่เก่าแก่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ ตามลักษณะใบสีมาจัดอยู่ในสมัยนิยมอยุธยา มีรูปเทวดาถือดอกบัว 2 ดอก แยกออกซ้ายขวา บางแห่งกล่าวว่าเป็นศิลปะศรีวิชัย ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสุวรรณมงคลศากยมุนีศรีสรรญเพ็ชญ์” หรือ “หลวงพ่อทอง” เป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่มากับพระอุโบสถช

ตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ เล่าว่า เมื่อพ.ศ.2471 ได้มีการบูรณะอุโบสถพร้อมพระประธาน ซึ่งพระประธานได้เอียงทรุดไปด้านหนึ่ง จึงได้เกณฑ์ชาวบ้านมาช่วยกันดีดแล้วค้ำยันองค์พระให้ตั้งตรง แต่ส่วนฐานพระประธานกลับหลุดกะเทาะ ตรงปูนปั้นด้านหน้าฐานพระที่เรียกว่า ผ้าทิพย์ ก็ได้พบโกศงาช้างกลึงสวยงาม ภายในโกศมีกระดูก 2 ชิ้น มีผ้าดิ้นลายทองยกรูปดอกไม้พื้นสีออกม่วงห่อไว้

และได้พบแผ่นทองคำรูปใบโพธิ์เขียนจาตึกเป็นตัวหนังสือไว้ว่า พระอัฐิ พระเจ้าตาก พระยาจันทบุรีเป็นผู้นำมาไว้ แต่ต่อมาแผ่นทองนั้นก็ได้หายไป อีกทั้งจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าพระยาจันทบุรีนี้คือใคร และนำมาไว้ที่วัดแห่งนี้เมื่อใด สันนิษฐานว่าคงจะนำมาไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อถวายพระเพลิงพระศพเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกมากมาย อาทิ ธรรมมาส สร้างในปีพ.ศ.2467 โดยขุนนราพิทักกรม มีลวดลายแกะสลักที่งดงามตามยุคสมัย ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเรียบร้อยแล้วและยังคงมีการใช้แสดงธรรมในวันพระ 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ

มีตู้พระไตรปิฎกลายทอง อายุราว 200 กว่าปี เป็นตู้ลายรดน้ำลายทองเป็นลายกนกเปลวเพลิง ด้านข้างเป็นลายกนกเปลวเพลิงเล่าเรื่องรามเกียรติ์และสัตว์ป่าหิมพานต์ ที่บานประตูเป็นรูปเทวดาเปรียบเหมือนเป็นผู้รักษา มี 2 ชั้นใช้สำหรับเก็บพระไตรปิฎก หีบคัมภีร์ขนาดใหญ่ อายุราว 300 กว่าปี มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู แกะสลักลานกนกใบเถาวัลย์เป็นรูปสัตว์ต่างๆ และลายเทพพนม และหีบพระธรรม อายุราว 200 ปี เป็นหีบสำหรับใส่หนังสือพระมาลัย ใช้สวดพระมาลัย เป็นทำนองที่ไพเราะ เป็นลายกนกเปลวเพลิงมีเทวดา 3 องค์ และรูปเล่าเรื่องรามเกียรติ์เป็นลายรดน้ำปิดทอง

ด้านนอกพระอุโบสถยังมีเจดีย์ 2 องค์ เป็นรูปทรงลังกา ลักษณะนิยมสมัยอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์ทั้ง 2 องค์น่าจะสร้างขึ้นในสมัยนั้นคู่มากับวัด แต่ก็มีชาวบ้านเล่ากันว่า เจดีย์องค์ที่อยู่หลังอุโบสถ ปัจจุบันคือองค์หน้าศาลาการเปรียญได้สร้างก่อนทั้ง 2 องค์ มีลายศิลปะผสมผสานกันอายุราว 200 ปี นับเป็นโบราณสถานของวัดชิ้นหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองมานับร้อยปี

อีกทั้งยังมีการค้นพบหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรบริเวณเมืองเพนียด เป็นจารึกศิลาแลง ขนาดกว้าง 49 ซม. สูง 47 ซม. หนา 16.5 ซม. จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ ชื่อว่า “จารึกวัดทองทั่ว-ไชยชุมพล”

จารึกที่พบอีกหลักก็คือ “จารึกเพนียด” เป็นจารึกอักษรขอมโบราณ สันสกฤต และเขมร มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันก็เก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ เช่นกัน และยังพบ “จารึกเพนียดหลักที่ 52” จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ อายุราวเดียวกับจารึกเพนียดเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการขุดพบโบราณวัตถุ ชิ้นส่วนเทวรูป และเศษถ้วยชามต่างๆ ภายในเมืองเพนียด ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บไว้ที่วัดทองทั่ว จากหลักฐานที่พบในเมืองเพนียดพอจะระบุได้ว่าเมืองเพนียดตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 คงจะร่วมอยู่ในวัฒนธรรมเขมร จนกระทั่งอาณาจักรเขมรถูกอยุธยาเข้ายึดครอง

และวัดทองทั่วแห่งนี้ กรมการศาสนาได้ออกหนังสือรับรองสภาพวัดว่าได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2318 ในสมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ศิลปะโครงสร้างเดิมเป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา แต่ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงต่อเติมบางส่วนจนเป็นดังปัจจุบัน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ตำรวจทางหลวง ส.ทล.4 กก.3 จันทบุรี โทร. (039) 311 188
ททท.สำนักงานภาคกลาง เขต 4 จ.ระยอง โทร. (038) 655 420-1
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. (039) 311 001
ไปรษณีย์จังหวัด โทร. (039) 311 013
สถานีขนส่งจังหวัด โทร. (039) 311 299
สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง โทร. (039) 311 115
โรงพยาบาลขลุง โทร. (039) 441 644
โรงพยาบาลตากสิน โทร. (039) 321 759
โรงพยาบาลท่าใหม่ โทร. (039) 431 001-2
โรงพยาบาลพระปกเกล้า โทร. (039) 311 611-3

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากตัวเมืองจันทบุรีไปตามถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านเพนียดและวัดทองทั่วประมาณ 1 กิโลเมตร โบราณสถานเมืองเพนียดจะอยู่ห่างจากวัดทองทั่วไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 300 เมตร

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น