วัดพระศรีสรรเพชญ์

วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังโบราณ เป็นวัดพุทธาวาสที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง และเก็บอัฐิของพระมหากษัตริย์ เปรียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเหลือเพียงซากอิฐปูนและเจดีย์สามองค์ที่ตั้งตะหง่านเป็นจุดเด่น แต่ยังคงเป็นจุดที่ดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมอยู่เสมอ และเมื่อได้ลองจินตนาการดูก็จะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และความงดงามของกรุงศรีอยุธยาในสมัยที่ยังเป็นราชธานี

ประวัติความเป็นมา

วัดพระศรีสรรเพชญ์ เดิมในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดฯให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แตกต่างกับวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทั้งวัดมหาธาตุ สุโขทัย,วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างก็ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัดเดียวกันนั่นคือ “สร้างเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2035 รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์องค์ตะวันออก เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระราชบิดา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระสถูปเจดีย์องค์กลางเพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ผู้เป็นพระเชษฐา

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2042 พระองค์โปรดให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้น

ในปีต่อมา พ.ศ. 2043 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างพระวิหาร ทรงหล่อพระพุทธรูป ยืนสูง 8 วา (ประมาณ 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 1โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาประดิษฐานวัดพระเชตุพน และ บรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า เจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ เจดีย์องค์ที่ 3 ถัดมาจากด้านทิศตะวันตกเป็น เจดีย์บรรจุพระอัฐิ ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4(พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น เจดีย์ทั้งสามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา

ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมพระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง พระที่นั่งจอมทอง ตั้งอยู่ใกล้ๆ กำแพงทางด้านติดกับ วิหารพระมงคลบพิตร เพื่อให้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์บอกเล่าหนังสือพระสงฆ์

ราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลวงแห่งนี้เป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าได้ดำเนิน การขุดสมบัติจากกรุภายในเจดีย์ พบพระพุทธรูป เครื่องทอง มากมาย และในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการบูรณะวัดนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

พระมหาธาตุเจดีย์ ได้แก่พระเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นประธานของวัดทำเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อกันว่า ฐานไพทีนี้คงเป็นฐานพระที่นั่งต่าง ๆ เมื่อคราวสถาปนากรุงศรีอยุธยา ลักษณะของเจดีย์ประกอบด้วยฐานเชียงกลมซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ 1 ชั้น รองรับมาลัยเถาเหนือชั้นมาลัยเถาเป็นฐานปัทม์อีกชั้นหนึ่ง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงลังกาที่นิยมสร้างกันในสมัยสุโขทัย เหนือองค์ระฆังเป็นบนลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสทำเป็นฐานปัทม์ ระหว่างปล้องไฉนซึ่งเป็นส่วนยอดกับบัลลังก์มีเสาหานรองรับแกนก้านฉัตร ข้างองค์พระเจดีย์ทำเป็นซุ้มทิศทั้งสี่ทิศ มีบันไดทางขึ้นเหนือซุ้มประดับด้วยเจดีย์ทรงกลม ซึ่งคงได้รับอิทธิพลของศิลปะสมัยศรีวิชัย ระหว่างองค์พระเจดีย์มีพระมณฑปองค์ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ตัวอาคารยังปรากฏส่วนของผนังอยู่บ้างส่วนอีกสององค์เหลือแต่ส่วนฐาน

พระสถูปองค์ด้านทิศตะวันออก ซึ่งราชบัณฑิตสภา ได้ขุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2475 นั้น ได้พบพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุไว้ในสถูปถึง 7 ชั้น คือชั้นที่ 1 นอกสุดเป็นสถูปหิน ในเข้าไปชันที่ 2 เป็นเบ้าหิน ชั้น 3 – 4 เป็นสถูปสำริด ชั้น 5 เป็นสถูปเงิน ชั้น 6 เป็นสถูปทอง ชั้น 7 เป็นสถูปแก้วผลึก ภายในองค์สถูปแก้วเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ( หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ . 2511 . 28)
รอบพระเจดีย์ทังสามองค์นี้มีระเบียงคต ซึ่งหักพังเหลือแต่ฐานราก ภายในระเบียงคตเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นประทับนั่งเรียงกันเป็นแถว ปัจจุบันเหลืออยู่ให้เห็น 3 องค์

พระเจดีย์ทราย พระเจดีย์ทรายรอบวัดพระศรีสรรเพชญ์นั้นเป็นที่สำหรับบรรจุอัฐิของเจ้านายในพระราชองค์ มีพระอัฐิบรรจุไว้ทุกองค์ (เฉลิม สุขเกษม. 2514 . 107) ลักษณะของพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงลังกาทั้งหมด มี 4 องค์ ที่แตกต่างไปจากองค์อื่น ๆ คือมิซุ้มทิศ ได้แก่องค์มุมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก 2 องค์ และมุมกำแพงด้านทิศตะวันตก 2 องค์ พระเจดีย์เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นรูปแบบของเจดีย์กลมในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1991 – 2172
พระวิหาร ในวัดพระศรีสรรเพชญ์มีพระวิหารทั้งวิหารหลวงและวิหารราย แต่ส่วนใหญ่มีรูปแบบโครงสร้างลักษณะเดียวกัน คือใช้เสากลมขนาดใหญ่ รับน้ำหนักโครงหลังคา ใช้ฝาผนังก่ออิฐหนารับน้ำหนักชายคา และใช้เสานางเรียงรับน้ำหนักชายคาปีกนก ซึ่งเป็นรูปแบบของอาคารที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนพระวิหารที่มีลักษณะแตกต่างไปจากนี้ ได้แก่ วิหารจตุรมุข ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหลังของพระเจดีย์สามองค์ คือ ทางด้านทิศตะวันตก มุขทั้งสี่ของพระวิหารจตุรทิศประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง นอน ยืน เดิน อันเป็นอิทธิพลการสร้างพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ที่แพร่กระจายลงมาในช่วงนี้

ตรงกลางพระวิหารจตุรทิศ ปรากฏซากสถูป 1 องค์ ข้าง ๆ สถูปทั้งสี่ด้าน ทำเป็นช่องบรรจุอัฐไว้หลายช่อง ซึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระบรมราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงเอาแบบอย่างมาสร้างพระเจดีย์ทองขึ้นที่วัดมหาธาตุ อันเป็นวัดที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ในกรุงเทพมหานคร และวัดมหาธาตุนี้เคยมีนามว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์มาก่อน

พระอุโบสถ พระอุโบสถนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับพระวิหาร ปรากฏใบเสมาแกะสลักจากหินชนวนขนาดใหญ่หนา รูปใบเสมาไม่มีลวดลาย เป็นแบบที่พบตามพระอุโบสถที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นทั่วไป
หอระฆัง หอระฆังเป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารหลวง

พระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างเมื่อปี พ.ศ. มีความสูง ตั้งแต่พระบาทถึงพระรัศมี 16 เมตร พระพักตร์ยาว 2 เมตร กว้าง 1.50 เมตร พระอุระกว้าง เมตร ใช้ทองสำริดหนัก 58,000 ชั่งหล่อเป็นแกน ภายนอกหุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง ( ประมาณ 171 กรัม ) คราวเสียกรุงเมื่อ พ.ศ. 2310 นั้น พม่าได้ใช้ไฟเผาลอกทองคำองค์พระศรีสรรเพชญ์จนหมด คงเหลือส่วนที่ทำด้วยสำริด เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอัญเชิญพระศรีสรรเพชญ์มาที่วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพมหานครเมื่อปี 2332 นั้นทรงเห็นว่าชำรุดมากเกินกำลังที่จะซ่อมให้ดีได้ จึงโปรดให้สร้างพระมุมองค์ใหญ่องค์หนึ่ง ในวัดพระเชตุพน ฯ ( คือองค์กลางในเจดียใหญ่ทีเรียงกัน 3 องค์ ) แล้วเชิญพระศรีสรรเพชญ์เข้าบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์นั้น ถวายนามว่า พระเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่ในพระวิหาร ( หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ . 2531 . 254 )

พระโลกนาถ แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านทิศเหนือของพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารด้านทิศตะวันออก วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพมหานคร พระโลกนาถเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย สูง 10 เมตร ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายหันฝ่าพระหัตถ์ข้างหน้า พระหัตถ์ข้างขวาห้อยลงมาแนบพระวรกาย เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนกลางต่อจากสมัยตอนต้นหรืออู่ทอง ปรากฏอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย เชื่อกันว่าพระโลกนาถคงมีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระศรีสรรเพชญ์ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในระยะใกล้เคียงกัน ตัวอย่างพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้นอีกองค์หนึ่ง คือพระมงคลบพิตรซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารมงคลบพิตรข้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ด้านทิศใต้

พระที่นั่งจอมทอง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมสามหลังแผด ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันดูแต่ส่วนผนังของอาคารภายในมีพระพุทธรูปหินทราย ( ชำรุด ) ประดิษฐานอยู่สองสามองค์

[adsense-2]

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทร. (035) 246 076
สภ.อ. พระนครศรีอยุธยา (035) 241 139 , (035) 243 444
เทศบาลพระนครศรีอยุธยา (035) 252 236
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา (035) 322 555

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว หากเดินทางมาจากรุงเทพโดยใช้ถนนสายเอเชีย(ทางหลวงหมายเลข 32)เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าอยุธยา ตรงเข้ามาผ่านสะพานนเศวร ไปตาม ถ.โรจนะจนสุดถนน เลี้ยวขวาตรงศาลากลางเก่าไปจนถึงวงเวียน บริเวณที่ทำการตำรวจท่องเที่ยว เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 500 ม.จะมีทางแยกเลี้ยวขวาซึ่งจะเป็นด้านหลังวิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญจะอยู่ถัดออกไป

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น