ปราสาทภูมิโปน

ปราสาทภูมิโปน ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จ.สุรินทร์  ชื่อปราสาทแห่งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชื่อภาษาเขมร 2 คำ คือ ภูมิ ซึ่งในภาษาเขมรออกเสียงว่า ปูม หมายถึง แผ่นดินหรือสถานที่ และ ปูน ซึ่งออกเสียงว่า โปน แปลว่า หลบซ่อน รวมความแล้วมีความหมายว่า “ที่หลบซ่อน” จากความหมายของชื่อมีความสัมพันธ์กับนิทานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับปราสาท แห่งนี้คือเรื่อง “เนียงเด๊าะทม” แปลว่า นางนมใหญ่ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์แต่ถูกนำมาพักอาศัย ณ เมืองนี้เพื่อหลบหนีภัยสงคราม

ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วย ปราสาทก่อด้วยอิฐ 3 หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง โดยปราสาทอิฐหลังใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ก่อด้วยอิฐไม่สอปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่ามีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า-ออกด้านเดียวทางทิศตะวันออก ส่วนยอดก่อเป็นหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียง 3 ชั้น บริเวณใต้หน้าบันของประตูทางเข้า-ออก สลักเป็นลายรูปใบไม้ม้วนแบบศิลปะอินเดีย สมัยหลังคุปตะ(ราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 13) จากการขุดแต่งโบราณสถาน พบชิ้นส่วนศิลาจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต 1 ชิ้น ซึ่งเป็นตัวอักษรที่มีใช้ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13

ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาท แบบศิลปะเขมร ที่มีอายุเก่าที่สุด ในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13 ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็ก ที่ตั้งตรงกลาง และปราสาทที่มีฐานศิลาแลง ด้านทิศใต้นั้น สร้างขึ้นในสมัย หลังปราสาทภูมิโปน คงจะสร้างขึ้น เป็นศาสนสถาน ในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย เช่นเดียวกับศาสนสถานอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน แม้จะไม่พบ รูปเคารพ ซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์ อยู่ภายในองค์ปรางค์ แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนต์ ที่ต่อออกมา จากแท่นฐานรูปเคารพ ในห้องกลาง ติดอยู่ที่ผนังในระดับพื้นห้อง

ที่ตั้งของปราสาทภูมิโปนเป็นบริเวณที่มีหลักฐานว่ามนุษย์ได้เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ดังปรากฏร่องรอยของคูน้ำ-คันดินรูปร่างไม่แน่นอนอยู่บริเวณโดยรอบชุมชน ต่อมาราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งตรงกับรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ ชุมชนบ้านภูมิโปนพัฒนาเป็นชุมชนที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง มีปราสาทภูมิโปนซึ่งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในศาสนาฮินดู เป็นศูนย์กลางของเมืองตามแบบวัฒนธรรมขอมโบราณในช่วงเวลานั้น

ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากปราสาทภูมิโปนประมาณ 500 เมตร พบบารายใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบบวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งบารายเป็นระบบชลประทานที่สำคัญมักพบทั่วไปในชุมชนวัฒนธรรมขอม ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 – 18 ในดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การสร้างบารายจะไม่ใช้วิธีการขุดลงไปในดินอย่างสระน้ำทั่วไป แต่เป็นการขุดดินมาก่อเป็นคันดินกั้นน้ำในบริเวณพื้นที่ลุ่มที่มีลำธารธรรมชาติไหลผ่าน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในชุมชนและยังอาจช่วยเรื่องปัญหาน้ำท่วมภายในชุมชนด้วยโดยทั่วไปบารายมักจะมีขนาดใหญ่กว่าสระน้ำ
[adsense-2]
ปัจจุบันปราสาทภูมิโปนได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้ว โบราณวัตถุ ได้แก่ ทับหลัง ชิ้นส่วนจารึกและเสาประดับกรอบประตู จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เก็บค่าเข้าชม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ (044) 512 039
ตำรวจท่องเที่ยว 1155
ตำรวจทางหลวง (045) 515 388
ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 1 จ.นครราชสีมา (044) 213 666, (044) 213 030
สถานีตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ (044) 511 007, (044) 513 555
สถานีรถไฟจังหวัดสุรินทร์ (044) 511 295
สถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ (044) 511 756
รพ.สุรินทร์ (044) 514 125
รพ.ประสาท (044) 551 295
รพ.สังขะ (044) 571 028
รพ.ลำดวน (044) 541 090
รพ.สำโรงทาบ (044) 569 080
รพ.ท่าตูม (044) 591 126
รพ.รัตนบุรี (044) 599 151
รพ.สนม (044) 589 025
รพ.ศรีขรภูมิ (044) 561 160
รพ.กาบเชิง (044) 559 002
รพ.บัวเชด (044) 579 002
รพ.ชุมพลบุรี (044) 596 040

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว จากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สุรินทร์ – สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะ เข้าทางหลวง หมายเลข 2124 (สังขะ – บัวเชด) ตรงต่อไป จนถึง ชุมชนบ้านภูมิโปน ระยะทางอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาท ตั้งอยู่ริมถนน ด้านซ้ายมือ

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น