พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์ราชการกรมศิลปากร จังหวัดสุพรรณบุรี ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง เมื่อปีพุทธศักราช 2538 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดีประวัติศาสตร์ มนุษย์วิทยา ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วยวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี หอจดหมายเหตุแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรี หอสมุดแห่งชาติจังหวัดสุพรรณบุรีเฉลิมพระเกียรติ และโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตกจังหวัดสุพรรณบุรี ที่จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง สนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ภายในอาคารนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรีแบ่งเป็นห้องต่างๆ เพื่อจัดแสดงประวัติฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองสุพรรณบุรีในอดีต อาทิ “ห้องเมืองสุพรรณ” ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของดินแดนแห่งนี้เมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว หรือห้องที่จัดแสดงพัฒนาการของเมืองสุพรรณบุรีสมัย ทวารวดี ลพบุรี อยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ ผ่านหุ่นจำลอง และระบบโสตทัศนูปกรณ์ จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนะศึกยุทธหัตถี มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี วัตถุมงคลแบบต่างๆ ที่หายากและมีชื่อเสียง ที่ค้นพบในจังหวัดสุพรรณทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีห้องแสดงศิลปะพื้นบ้านเมืองสุพรรณ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถชมพระพิมโบราณจากกรุวัดที่มีชื่อเสียงต่างๆ ในเมืองสุพรรณบุรี รวมถึงประวัติบุคคลสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีในอดีต ทั้งยังได้มีการรวบรวมผลงานของศิลปินในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักร้องลูกทุ่งเพลงพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย อาทิ อย่าง สุรพล สมบัติเจริญ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ฯลฯ พร้อมมีเพลงของเหล่าศิลปินให้เลือกฟัง

การจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี แบ่งการจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ จำนวน 9 ห้อง ดังนี้

1. ห้องเมืองสุพรรณ จัดแสดงพัฒนาการของเมืองตั้งแต่สมัยก่อนสุพรรณบุรี ประวัติศาสตร์ กระทั่งเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ คือ สมัยทวารวดี ลพบุรี อยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตามลำดับโดยจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดี และโบราณสถานสำคัญต่างๆ ในจังหวัด

2. ห้องยุทธหัตถี จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสุพรรณบุรี คือ การกระทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา เมื่อ พ.ศ. 2135 ณ ตำบลหนองสาหร่าย ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอดอนเจดีย์ อันเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเจดีย์ยุทธหัตถีจัดแสดงโดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ประกอบกับหุ่นจำลองและป้ายคำบรรยาย

3. ห้องคนสุพรรณ จัดแสดงประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ ไทยละว้า ไทยพื้นบ้าน ไทยเชื้อสายจีน ไทยพวน ไทยทรงดำ ไทยกา ไทยเวียง ไทยเขมร ไทยกระเหรี่ยง และ ไทยญวน

4. ห้องประวัติบุคคลสำคัญ กล่าวถึงประวัติบุคคลสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีในอดีตที่เคยสร้างชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์นานัปการแก่ประเทศชาติและจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว), สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 (ปุ่น ปุณณสิริ), พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ), เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), พลโทพระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) และนายมนตรี ตราโมท

5. ห้องศาสนศิลป์สุพรรณ จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ ได้แก่ โบราณศิลปวัตถุจากโบราณสถานสำคัญในจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ฯลฯ โดยเฉพาะหลักฐานประเภทพระพิมพ์ หรือพระเครื่องที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เช่น พระพิมพ์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพิมพ์วัดพระรูป พระพิมพ์วัดบ้างกร่าง และพระพิมพ์วัดชุมนุมสงฆ์ เป็นต้น

6. ห้องแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน จัดแสดงหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งเตาเผาบ้านบางปูน ซึ่งพบบริเวณริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 7 กิโลเมตร ของตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 มีเอกลักษณ์สำคัญ คือ การประทับลวดลายบนผิวภาชนะ เช่น ลายรูปบุรุษไถนาเทียมโคคู่ ลายภาพบุคคลสวมเทริดกับโค ลายประทับรูปบุคคลหรือเทวดาประทับนั่งชันพระชานุ (เข่า) ฯลฯ จัดแสดงโดยการจำลองเตาเผาภาชนะ ประกอบโบราณวัตถุ

7. ห้องวรรณกรรมเมืองสุพรรณ จัดแสดงเรื่องราวของวรรณกรรมสำคัญ 2 เรื่อง ที่เกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรี ได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ได้รับการยกย่องจากวรรคดีสโมสรให้เป็นเลิศประเภทกลอนเสภา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และโคลงนิราศสุพรรณซึ่งประพันธ์โดยสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมทั้งสองเรื่องเปรียบเสมือนภาพสะท้อนวิถีชีวิตขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวสุพรรณบุรีในอดีต

8. ห้องเพลงพื้นบ้านสุพรรณ จัดแสดงโดยใช้หุ่นจำลองประกอบสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ จำลองการเล่นเพลงพื้นบ้าน ซึ่งนิยมเล่นกันในงานรื่นเริงหรือเทศกาลต่างๆ ได้แก่ เพลงอีแซว และเพลงเรือ โดยมีเนื้อหาของเพลงมักเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของชาวเกษตรกรรม และจัดแสดงผลงานของศิลปินเพลงลูกทุ่งชาวสุพรรณที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วย ก้าน แก้วสุพรรณ, สุรพล สมบัติเจริญ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ศรเพชร ศรสุพรรณ, สายัณห์ สัญญา, พุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์เป็นตู้เพลง สำหรับกดฟังผลงานเพลงศิลปินท่านต่างๆ ประกอบป้ายคำบรรยาย

9. ห้องสุพรรณบุรีวันนี้
จัดแสดงสภาพทั่วไปในปัจจุบันของจังหวัดสุพรรณบุรี เช่นที่ตั้งและอาณาเขต ประชากร และการปกครอง ทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา การกีฬา สภาพเศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยว

ใกล้ๆกับพิพิธภัณฑ์ฯ ยังสามารถเดินไปชม “หอเกียรติยศ นายบรรหาร ศิลปอาชา” เป็นที่รวบรวมเรื่องราวชีวิตของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ตั้งแต่เด็ก การต่อสู้ และผลงานทางการเมือง จนถึงปัจจุบัน เป็นอาคารจัดแสดงที่ไม่ควรพลาดชม

[adsense-2]
ช่วงเวลาที่เปิดให้บริการ  เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (วันปีใหม่และวันสงกรานต์)

อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี โทร. (035) 535 330
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี โทร.(035) 536 030, (035) 535 789
สำนักงานจังหวัด (035) 535 376
ประชาสัมพันธ์จังหวัด (035) 535 423
เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี (035) 522 974
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี (035) 525 777
ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี (035) 536 030
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี (035) 525 583-4
ตำรวจทางหลวง โทร 1193
แขวงการทางสุพรรณบุรี โทร (035) 522 133
สถานีตำรวจภูธร (035) 525 583-4
บขส.สุพรรณบุรี (035) 522 373
สถานีรถไฟสุพรรณบุรี (035) 511 950

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ริมถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท (ทางหลวงหลายเลข 340) ตำบลสนามชัย

 

ความเห็น

ความเห็น