พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร อยู่ในศูนย์ราชการแห่งใหม่ของจังหวัดชุมพร ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร    เป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุที่สำคัญของจังหวัดชุมพร อาคารชั้นล่างเป็นพื้นที่ส่วนบริการ มีห้องสมุด ส่วนชั้นสองแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 6 หัวข้อ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในชุมพร พัฒนาการในช่วงต้นประวัติศาสตร์ สมัยประวัติศาสตร์ในชุมพร ชุมพรกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และวีรกรรมของยุวชนทหาร ชุมพรกับการเป็นเมืองในเส้นทางผ่านของพายุไต้ฝุ่น ธรรมชาติวิทยาและมรดกดีเด่นของจังหวัดชุมพร โดยจัดแสดงเป็นภาพถ่ายภาพยนตร์ แสง-เสียง ป้ายสื่อความหมายโดยละเอียด หุ่นจำลองและสถานที่จำลองขนาดเท่าจริง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร มีที่มาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กรมศิลปากรดำเนินการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา เพื่อให้ท้องถิ่นเกิดความรักความภาคภูมิใจในความเป็นมาของท้องถิ่นตน และจะได้ร่วมกันรักษามรดกวัฒนธรรมที่มีค่าให้คงอยู่สืบไป จากนั้นในปี พ.ศ.2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (นายประยูร พรหมพันธ์)ได้มอบที่ดินจำนวน 7 ไร่เศษ ณ พื้นที่ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพรให้แก่กรมศิลปากร เพื่อดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร

การก่อสร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2538-2540 โดยมีความมุ่งหวังให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ทันสมัย มีส่วนให้บริการมากขึ้น การจัดแสดงเน้นในการนำอุปกรณ์สารสนเทศมาใช้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมกับการชมนิทรรศการมากกว่าเดิม อันจะทำให้ได้รับความรู้และความเพลิดเพลินในการเข้าชมมากเป็นพิเศษ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2542

อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร เป็นอาคาร 2 ชั้น มีลักษณะของการผสมผสานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคใต้และสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเข้าด้วยกัน ทำให้มีลักษณะโดดเด่น และทันสมัย ภายในประกอบด้วยห้องจัดนิทรรศการถาวร ห้องสมุด ห้องประชุม ห้องอเนกประสงค์ สำนักงาน คลังเก็บโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ร้านจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก

[adsense-2]

การจัดแสดงถาวร แบ่งหัวข้อจัดแสดงตามเนื้อหาที่กำหนดเป็น 8 หัวข้อ ได้แก่

1. ชุมพรวันนี้ เป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลจังหวัดชุมพรในปัจจุบัน

2. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในชุมพร มีหลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ภายในจังหวัดชุมพร เคยมีการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมา หลักฐานที่พบได้แก่ เครื่องมือหิน เครื่องมือโลหะ ภาชนะดินเผา ตลอดจนเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการเขียนภาพเขียนสีบริเวณเพิงผาอีกด้วย วัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นผลจากการคิดค้นของกลุ่มชนในสังคมแบบดั้งเดิม ที่ดำรงชีพด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ หลังจากนั้นในช่วงปลายได้พัฒนาความรู้มากขึ้น มีการนำโลหะมาใช้ผลิตเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในสังคมและกลุ่มชน นำไปสู่การเป็นกลุ่มชนในช่วงต้นประวัติศาสตร์

3. พัฒนาการแรกเริ่มประวัติศาสตร์ กล่าวถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนในชุมพร ช่วงปลายสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนก่อให้เกิดการพัฒนาในชุมชนโบราณ เช่น แหล่งโบราณคดีถ้ำฉานเรน อำเภอทุ่งตะโก แหล่งโบราณคดีชุมชนเมืองท่าเขาสามแก้ว อำเภอเมือง หลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมากได้แสดงถึงความสัมพันธ์กับดินแดนโพ้นทะเลระหว่างซีกโลกตะวันตกและตะวันออก อาทิ ลูกปัดประเภทต่าง ๆ ทั้งหิน ทองคำและแก้ว ซึ่งบางชิ้นมีจารึกอักษรปัลลวะ คำว่า “อขิทโร” ซึ่งแปลว่า ความแข็งแรง ไม่อ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมสำริดรูปคน สัตว์ และกลองมโหระทึก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามลำดับ ในชุมชนต่าง ๆ ของชุมพร

4. ชุมพรในสมัยประวัติศาสตร์ เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ หลักฐานที่กล่าวถึงชื่อเมืองชุมพร มีเพียงตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น โดยระบุว่า ชุมพรเป็นเมืองบริวารในกลุ่มเมือง 12 นักษัตรของนครศรีธรรมราช และใช้ตราแพะเป็นสัญลักษณ์ของเมือง จากนั้นหลักฐานที่กล่าวถึงเมืองชุมพร จึงเริ่มปรากฏอีกครั้งตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ นำเสนอโดย โบราณวัตถุ/ศิลปวัตถุ สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ ที่พบในจังหวัดชุมพร

5. ชุมพรกับการเป็นเส้นทางผ่านของพายุไต้ฝุ่น กล่าวถึงลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดชุมพร ที่มีการแปรปรวนในช่วงฤดูฝนเสมอนับแต่อดีต พายุที่เกิดขึ้นทุกครั้งได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณส่วนแคบที่สุดของคาบสมุทร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายเมื่อปี 2532 จากพายุไต้ฝุ่นเกย์ นับเป็นความสูญเสียครั้งร้ายแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย นำเสนอโดย ภาพถ่ายสภาพบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากพายุ และระบบมัลติมีเดีย แสดงเหตุการณ์การเกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์

6. ชุมพรกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และวีรกรรมของยุวชนทหาร กล่าวถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปากน้ำชุมพร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งในครั้งนั้น ทหาร ตำรวจ และยุวชนทหาร ได้แสดงวีรกรรมด้วยการต่อสู้กับกองกำลังทหารญี่ปุ่น เพื่อป้องกันเอกราชและปกป้องอธิปไตยของชาติ ต่อมาชาวชุมพรจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ยุวชนทหารขึ้นที่สะพานท่านางสังข์ ตำบลบางหมาก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เพื่อเชิดชูและสดุดีต่อวีรกรรมในครั้งนั้น

7. ธรรมชาติวิทยาและมรดกดีเด่นของจังหวัดชุมพร กล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดชุมพรในปัจจุบัน เช่น ที่ตั้ง สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ลักษณะทางธรณีวิทยา รวมทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นเมืองชุมพรที่มีความหลากหลาย

8. พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวถึงประวัติโดยย่อของพระองค์ท่าน เช่น ประวัติราชสกุล ผู้ทรงคุณูปการแก่เมืองชุมพรและกองทัพเรือไทย ประวัติการก่อตั้งกิจการกองทัพเรือ อันเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนากองทัพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ จนกระทั่งเมื่อประชวรพระโรคภายใน จึงกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และเสด็จไปประทับที่ชายทะเลหาดทรายรีทางใต้ของปากน้ำเมืองชุมพร และเป็นที่ประทับในช่วงปลายแห่งพระชนม์ชีพ

สิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์

  • ร้านขายของที่ระลึก
  • ห้องสมุด
  • ห้องบรรยาย

ช่วงเวลาที่เปิดให้บริการ
เปิดให้บริการ วันพุธ – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

อัตราค่าบริการ
ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพรโทร. 0 7750 4105, 0 7750 4246
ททท. สำนักงานชุมพร(เยื้องสถานีบริการน้ำมัน ปตท.) ห่างจากสถานีรถไฟ 200 ม. เลขที่ 111/11-12 ถ.ทวีสินค้า ต.ท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร 86000
โทรศัพท์. 0-7750-1831-2 , 0-7750-2775-6
โทรสาร. 0-7750-1832 อีเมล: [email protected]
กองกำกับการตำรวจภูธร: โทร 0-7750-1039
โรงพยาบาลจังหวัดชุมพร: โทร 0-7750-3672
สถานีขนส่งจังหวัด: โทร 0-7757-6803
สถานีรถไฟชุมพร: โทร 0-7750-1103
ตำรวจท่องเที่ยว: โทร 1155
ตำรวจทางหลวง: โทร 1193,0-7753-4200-1
ศูนย์กู้ชีพ นเรนทร ชุมพร: โทร 1669

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชุมพรอยู่ในศูนย์ราชการแห่งใหม่ของจังหวัดชุมพร  สามารถเดินทางตามถนนเพชรเกษม ก่อนถึงสี่แยกปฐมพรแยกซ้ายบริเวณ กิโลเมตรที่ 484

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น