วัดหน้าพระเมรุ

วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครศรีอยุธยา หมู่ที่ 5 ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ริมคลองสระบัวด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชการาม” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด พิจารณาได้ว่า น่าจะเป็นวัดสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง ในต้นสมัยอยุธยา เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก เพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้ พระอุโบสถเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาที่หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ที่สุดที่ปรากฏและมีความงดงามมาก ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์

ประวัติวัดหน้าพระเมรุ

ตำนานกล่าวถึงวัดนี้ว่า พระองค์อินทร์ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงสร้างเมื่อจุลศักราช 864 (พ.ศ. 2046) ประทานนามว่า“วัดพระเมรุราชิการราม” แต่ประชาชนส่วนมากนิยมเรียกว่า “วัดพระเมรุ” จึงเป็นนามของวัดที่ใช้มาจนทุกวันนี้

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงเหตุการณ์คราวทำสัญญาสงบศึกระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์กับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง มีการปลูกพลับพลาเป็นที่ประทับซึ่งอยู่ด้านหน้าวัดพระเมรุกับวัดหัสดาวาส (ปัจจุบันวัดหัสดาวาสเหลือเพียงซากเจดีย์)

อีกตอนหนึ่งเมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าอะลองพญามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือน 6 ขึ้น 1 ค่ำ พ.ศ 2303 พม่า เอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดพระเมรุราชิการามกับวัดหัสดาวาส พระเจ้าอะลองพญา ทรงบัญชาการและทรงจุดปืนใหญ่เอง ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในวัดพระเมรุราชิการามแตกต้องพระองค์บาดเจ็บสาหัส ประชวรหนักในวันนั้น พอรุ่งขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2303 พม่าเลิกทัพกลับไปทางเหนือหวังออกทางด่านแม่ละเมาะ แต่ยังไม่พ้นแดนเมืองตาก พระเจ้าอะลองพญาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

พระอุโบสถ ยาวประมาณ 50 เมตร กว้างประมาณ 16 เมตร มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หน้าพระอุโบสถสู่ทิศใต้ หลังพระอุโบสถสู่ทิศเหนือ พระอุโบสถมีส่วนยาวและกว้างมาก มีอากาศ ถ่ายเท ไม่อับ ไม่มีหน้าต่างอย่างพระอุโบสถสันนิษฐานว่าผู้สร้างคงจะสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยีบเศียรนาคและมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาคล้อมรอบด้วยหมู่เทพนม (เทพชุมนุม)จำนวน 26 องค์มีบังฐานและกระจัง ลงรักปิดทอง ติดกระจกสี เช่นเดียวกับด้านหน้าภายในพระอโบสถเดิมมีถาพเขียนด้วยสีโบราณเป็นรูปภิกษุณีสงฆ์การบูรณะในขั้นต่อๆมา ถูกฉาบทาด้วยปูนเลียบขาวปรากฏดังเช่นปัจจุบันนี้การบูรณะส่วนอื่นๆ ของตัวพระอุโบสถได้รักษาส่วนและรูปทรงของเดิมไว้ทุกส่วนคงมีแต่ลายที่เสาและลายเขียนที่ฝาผนัง ซึ่งถูกลบเลือนสันนิษฐานว่าการบูรณะครั้งหลังนี้คงจะหาช่างที่มีฝีมือทัดเทียมของเดิมได้ยาก ประกอบกับจะต้องใช้งบประมาณและเวลามากด้วย

พระประธาน ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริดภายนอกฉาบด้วยปูนลงลักปิดทองปางมารวิชัยทรงเครื่องพระมหากษัตราธิราชสมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าตักกว้างประมาณ 4.40 เมตร สูงประมาณ 6.00 เมตรพระนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ”เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งมีพระลักษณะสวยงามมาก พระนามบ่งชัดถึงพระลักษณะอันพิเศษ มีพระอภินิหาร เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพสักการะอย่างยิ่งแก่โลกทั้ง 3 เกิด ปิติศรัทธาแก่ผู้ที่ได้เข้ามานมัสการเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และคุ้มครองบ้านคุ้มครองเมือง ทำให้ข้าศึกเกิดความเกรงกลัวไม่ทำลายวัดนี้ได้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ควรแก่การที่จะไปนมัสการอย่างยิ่ง

พระวิหารหลังเดิม ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ(เหนือพระอุโบสถ) เรียกชื่อกันต่อๆมาแต่โบราณว่า “วิหารขาว” พระประธานในวิหารขาวเป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยปูนชำรุดทั้งองค์เศียรหัก ฝาผนังวิหารชำรุดหักพังเหลือแต่ซาก เมื่อสมัยพระครูครุพุทธวิหารโศภน (เลี้ยง)เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณะโดยวิธีเก็บอิฐที่หักพังมาก่อหุ้มพระประธานที่ชำรุดไว้ภายในเป็นพระพุทธรูปปางพุทธลีลาไว้ด้านหน้าตรงพระอุระ นำพระพุทธรูปศิลาปางมารวิชัยที่ชำรุดมาบูรณะขึ้นใหม่ ประดิษฐานไว้ด้านหลังตรงพระปฤศฏางค์ของพระประธานองค์เดิมที่ก่อหุ้มไว้ และสร้างห้องสำหรับบำเพ็ญกัมมัฏฐานโดยการก่ออิฐถือปูนขึ้นใหม่จำนวน 3 ห้อง หลังพระประธาน ในปี พ.ศ. 2478 ทางวัดได้บรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาสวัดหน้าพระเมรุ ณ วิหารนี้ พระวิหารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยที่สร้างวัด ชำรุดหักพังเพราะ ธรรมชาติ มิได้มีการบูรณะ ปัจจุบันทางวัดได้สร้างสถานที่ต่อเติมออกมาทางด้านทิศตะวันออก ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐาน
ของพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มีศรัทธาจากทุกสารทิศ

พระวิหารสรรเพชญ์ (ประชาชนเรียกชื่อว่าพระวิหารคันธารราฐ)เป็นที่ประทับของพระพุทธรูปพระนามว่า “คันธารราฐ” และเรียกชื่อว่า “วิหารเขียน”เพราะมีลายเขียนในพระวิหารและมีชื่อเรียกกันอีกว่า “วิหารน้อย” เพราะมีขนาดน้อยด้วยยาวประมาณ 16 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลังตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ ห่างจากพระอุโบสถประมาณ 2 เมตรเศษ
พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สร้างในปี พ.ศ. 2381 ผู้สร้างได้อัญเชิญพระพุทธรูปศิลา (ศิลาเขียว)ประทับนั่งห้อยพระบาท พระนามว่า “พระคันธารราฐ” ย้ายมาจากวัดมหาธาตุในเกาะเมือง ข้างวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดร้างในยุคนั้นมาประดิษฐานในวิหารน้อยที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ผู้สร้างได้จารึกไว้ในศิลาติดตั้งไว้ที่ฝาผนังเมื่อ พ.ศ. ที่สร้างว่า “พระคันธารราฐ” นี้ พระอุบาลีซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมาราม นำมาจากประเทศลังกา ในคราวที่ท่านเป็นสมณฑูต พร้อมด้วยพระสงฆ์สยามวงศ์ นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในประเทศลังกานักโบราณคดีมีความเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี สร้างระหว่างพ.ศ. 1000 – 1200 และสันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำมาไว้ที่วัดมหาธาตุในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมอยู่ที่วัดพระเมรุราชิการาม จังหวัดนครปฐมเนื่องจากทางราชการขุดพบเรือนแก้วที่ชำรุด สันนิษฐานว่าเป็นเรือนแก้วของพระพุทธรูปองค์นี้

มณฑปนาคปรก ตั้งอยู่หน้าพระวิหารน้อย ห่างจากพระวิหารประมาณ 25 เมตร พระยาไชยวิชิต(เผือก)สร้างในปีที่สร้างพระวิหารน้อย (ปี พ.ศ. 2381) อัญเชิญพระพุทธรูปศิลานาคปรกซึ่งย้ายมาจากวัดมหาธาตุกับพระคันธารราฐประดิษฐานในมณฑปนาคปรก เมื่อปี 2474 วัดหน้าพระเมรุว่างจากเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์อยู่เฝ้ารักษาวัดเพียงรูปเดียวทางราชการกรมศิลปากรจึงนำพระพุทธรูปศิลานาคปรกในมณฑปนี้ไปเก็บรักษาไว้ณ พิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติกรุงเทพพร้อมกับได้นำพระพุทธรูปอุ้มบาตรที่ประดิษฐาน ณ บุษบกบัญชรหน้าพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลานาคปรกหน้าพระวิหารสรรเพชญ์จำนวน 2 องค์ พระพุทธรูปศิลายืนที่หลังพระวิหารน้อย 1 องค์ รอยพระพุทธบาทหล่อด้วยโลหะที่มณฑปพระบาท ตั้งอยู่หน้าพระวิหารน้อย ทางวัดก่อฐานตั้งศิวลึงค์ไว้แทนมณฑปไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

[adsense-2]

ช่วงเวลาที่เปิดให้เข้าชม เปิดเวลา 08.30-17.30 น.
อัตราค่าเข้าชม เฉพาะชาวต่างชาติ 20 บาท

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทร. (035) 246 076
สภ.อ. พระนครศรีอยุธยา (035) 241 139 , (035) 243 444
เทศบาลพระนครศรีอยุธยา (035) 252 236
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา (035) 322 555

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว เมื่อมาถึงเกาะเมืองอยุธยา วิ่งรอบคูเมืองไปตามถนนอู่ทอง ตัดข้ามคูเมือง ตามเส้นที่จะไปบ้านคลองสระบัว วัดหน้าพระเมรุอยู่ด้านซ้ายมือ

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น