พิพิธภัณฑ์โครงกระดูกซากช้างโบราณ

พิพิธภัณฑ์โครงกระดูกซากช้างโบราณ ตั้งอยู่ที่ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ชมซากช้างโบราณ ซากช้างถูกค้นพบจากบ่อทรายที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ทุกบ่อทรายจะมีสภาพชิ้นส่วนของซากช้างแตกต่างกันไป แต่ละบ่อความลึกประมาณ 30-50 เมตร จากระดับดินเดิม จะพบซากสัตว์ชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะซากช้างโบราณยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณีสถาบันราชภัฎนครราชสีมา และต่างประเทศ ได้วินิจฉัยว่าเป็นซากช้างดึกดำบรรพ์ คอมโพเธอเรียม มีความสูงประมาณ 2 เมตร มีงวงสั้นกว่าช้างปัจจุบัน มีงาตรง 2 คู่ จากขากรรไกรบนและล่าง เป็นช้างที่มีวิวัฒนาการมาจากช้างรุ่นแรกแห่งดินแดนอียิปต์ที่มีขนาดเท่าหมู ใหญ่ที่มีชื่อ “โมริธิเรียม” สำหรับที่พบที่ตำบลท่าช้างนี้ มีอายุตอนปลายของสมัยไมโอซีน ตอนกลางมีอายุราว 13-15 ล้านปีก่อน

ขณะนี้ชิ้นส่วนกระดูกช้างส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ ที่อาคารโครงกระดูกซากซ้างโบราณ ซึ่งอยู่ชั้นล่างของที่ทำการเทศบาลตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งแต่ละวันจะมีบุคคลที่สนใจ เข้าเยี่ยมชมโดยตลอดกรมทรัพยากรธรณีได้แจ้งว่า ผลการตรวจฟอสซิลจากบ่อทราย ตำบลท่าช้าง ยืนยันว่าชิ้นส่วนของช้างสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว มีอยู่ 3 ชนิด เฉพาะซากช้างโบราณที่ค้นพบจากบ่อดูดทรายริมแม่น้ำมูลของที่นี่ในตำบลท่าช้างและตำบลช้างทองก็ 8 สกุลใน 38 สกุล นอกจากนี้ยังพบสัตว์ชนิดอื่นๆรวมเกือบ 50 ชนิด เช่น ยีราฟคอสั้น ม้าฮิปปาเรียน 3 นิ้ว แรดโบราณ กวางแอนติโลป ฮิปโปโปเตมัส หมูใหญ่ฮิปโปโปเตเมดอน เต่าขนาด 2-3 เมตร จระเข้ ตะโขง เอป รวมทั้งซากพืชโบราณ ไม้กลายเป็นหิน เป็นต้น ถือได้ว่าที่นี่คือแหล่งการค้นพบที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

จากหลักฐานในอดีต เดิมทีอำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นชุมชนโบราณริมแม่น้ำมูล เรียกว่าหมู่บ้านท่าช้าง มีความเจริญในระดับเมืองท่าของมณฑลนครราชสีมา เป็นเมืองขนถ่ายสินค้าจากเรือกลไฟ ต่อมามีการสร้างทางรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯมาที่นครราชสีมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้สร้างทางรถไฟขยายมาจากนครราชสีมาจนถึงอุบลราชธานี เมืองท่าตำบลท่าช้าง จึงได้กลายมาเป็นสถานีรถไฟท่าช้างที่มีการตั้งชุมชนหนาแน่น

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการของที่นี่ ประมาณ พ.ศ. 2464 ได้มีชาวบ้านท่าช้างได้นำไม้กลายเป็นหินจากลำน้ำมูลไปถวายรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงแนะนำให้ราษฎรเก็บรักษาไว้ในท้องถิ่น ทางกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยามจึงนำไม้กลายเป็นหินประดับไว้บนอนุสรณ์สถาน ณ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำมูล ตรงจุดที่เรียกว่า “สะพานดำ”(ห่างจากสถานีรถไฟท่าช้าง 500 เมตร)

ในปี พ.ศ. 2529 ธุรกิจบ่อดูดทรายได้เริ่มขึ้น โดยนายสมศักดิ์ ศรีหัตถผดุงกิจ การดูดทรายจะกระทำในระดับความลึกไม่เกิน 15 เมตร แต่ที่ระดับความลึก 7-12 เมตร พบกระดูก ฟันกราม ขากรรไกรขนาดใหญ่ งาช้างและกระดูกสัตว์อื่นๆหลายชนิดเป็นจำนวนมาก โดยตะกอนในหน้าตัดจะเป็นทรายละเอียด ทรายดาน ทรายกรวด ส่วนขอนไม้จะพบตั้งแต่ระดับ 4-6 เมตรลงไป ซากกระดูกทั้งหลายจะทิ้งไว้ในบ่อหรือนำมากองไว้บนผิวดิน ตามความเชื่อของพระบางรูปแนะนำไม่ให้เก็บไว้ในบ้าน บางส่วนจึงนำไปเก็บไว้ที่วัด แต่ในระยะเวลา 3-5 ปี ซากกระดูกเหล่านั้นก็ค่อยๆผุพังสลายตัวและหมดสภาพไปจากการทำปฏิกิริยากับอากาศและความชื้น

ต่อมานายสมศักดิ์ ศรีหัตถผดุงกิจ ได้ขยายกิจการ โดยซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำมูลด้านทิศตะวันตก เป็นบ่อกว้างและลึกเกือบ 40 เมตร พื้นที่ผิวหน้าของบ่อ 60-70 ไร่ ได้พบซากดึกดำบรรพ์พืชและสัตว์จำนวนมากมาย บางส่วนนำขึ้นมา ได้เก็บไว้ในห้องเก็บของ วางเป็นกองกระดูกกองใหญ่ มีการจุดธูปเทียนบูชาขอขมา

รายละเอียดคร่าวๆของซากช้างโบราณที่ค้นพบ ได้แก่ ช้าง “กอมโฟเธอเรียม” (Gomphotherium) หรือช้าง 4 งา มีชีวิตอยู่ระหว่าง 25-13 ล้านปีก่อน ช้าง “ไดโนเธอเรี่ยม”(Deinotherium) ช้างงาจอบ มีชีวิตอยู่ระหว่าง 25-1.7 ล้านปีก่อน ช้าง “สเตโกโลโฟดอน”(Stegolophodon) เป็นช้างบรรพบุรุษของวงศ์ปัจจุบัน มีงา 1 คู่ มีชีวิตอยู่ระหว่าง 25-5 ล้านปีก่อน ช้าง “สเตโกดอน”(Stegodon)เป็นช้างที่วิวัฒนาการมาเป็นช้างปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ระหว่าง 5-0.01 ล้านปีก่อน ช้าง “เอลลิฟาส”(Elephas) เป็นช้างสกุลเดียวกับช้างเอเชีย หรือช้างไทยปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1.8-0.01 ล้านปีก่อน

[adsense-2]

ตู้จัดแสดงจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นชิ้นส่วนโครงกระดูกชิ้นเล็ก กับส่วนที่เป็นชิ้นใหญ่อย่างกระดูกขากรรไกรล่าง งาของสัตว์ตระกูลช้าง ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์ที่นี่คือ เกือบทั้งหมดเป็นของแท้ จะมีเฉพาะ “เอปโคราช”ที่จัดแสดงในตู้แยกออกมากลางห้อง ชิ้นนี้เป็นของจำลอง โดยของจริงอยู่ที่กรมทรัพยากรธรณี การค้นพบเอปโคราช ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญระดับโลก เพราะถือเป็นการพบซากดึกดำบรรพ์เอปที่เป็นญาติใกล้ชิดกับอุรังอุตังมากที่สุดเป็นครั้งแรก ซากกรามที่พบมีลักษณะเหมือนกรามของเอปปัจจุบันมากที่สุด สามารถใช้ศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งจัดเป็นเอปขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน การพบเอปโคราช อาจสันนิษฐานได้ว่าเอปปัจจุบัน มีกำเนิดในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย มีศักยภาพสูงในการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ๆ และอาจเป็นแหล่งกำเนิดและวิวัฒนาการของเอปปัจจุบัน

ในห้องจัดแสดง ได้จัดทำป้ายอธิบายขนาดใหญ่ มีภาพวาดช้างโบราณจำลองให้เห็นทั้งตัว ผู้เข้าชมจะได้ทราบว่าช้างโบราณมีรูปร่างหน้าตามีงวงมีงาเป็นอย่างไร จะได้เปรียบเทียบกับช้างในปัจจุบัน และมีบอร์ดให้ความรู้ประวัติการพบซากช้างโบราณ ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายของช้างโบราณ วิวัฒนาการของช้าง แผนที่ตำบลท่าช้างและตำบลช้างทอง แสดงตำแหน่งบ่อทรายที่พบซากช้างโบราณ ภาพอนุสรณ์สถาน ร.6 ที่ท่าช้าง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ททท. สำนักงานนครราชสีมา (นครราชสีมา ชัยภูมิ) อ.เมือง นครราชสีมา โทร. (044) 213-666, (044) 213-030
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. (044) 251-818
ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155, (044) 341-777-9
ท่าอากาศยานนครราชสีมา โทร. (044) 259-524
บมจ. การบินไทย (สนามบิน) โทร. (044) 255-425
โรงพยาบาลมหาราช โทร. (044) 254-990-1
สถานีขนส่งแห่งที่ 1 โทร. (044) 242-889
สถานีขนส่งแห่งที่ 2 โทร. (044) 256-006-9
สถานีตำรวจภูธร โทร. (044) 242-010
สถานีรถไฟ โทร. (044) 242-044
สำนักงานจังหวัด โทร. (044) 243-798

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาเพียง 18 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองนครราชสีมา ไปตามทางหลวงหมายเลข 226 ทางที่จะไปจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็ถึงอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
รถประจำทาง ลงรถที่สถานีขนส่งนครราชสีมา แล้วขึ้นรถประจำทางที่จะไปอำเภอจักราช รถจะผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
รถไฟ มีรถไฟจากกรุงเทพฯ มาลงที่สถานีท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น