พระธาตุก่องข้าวน้อย

พระธาตุก่องข้าวน้อย ไปชมพระธาตุที่มีตำนานความเป็นมาที่น่าเศร้ากันค่ะ พระธาตุก่องข้าวน้อย หรือ พระธาตุบ้านทุ่งสะเดา ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นเจดีย์เก่าแก่ศิลปะแบบขอม พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5×5เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง เชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น

นอกจากนี้แล้วบริเวณรอบ ๆ องค์ธาตุ กรมศิลปากรได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ เกี่ยวกับการอยู่อาศัย ณ ที่แห่งนี้ ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย และภาพเขียนสียุคเดียวกับโบราณสถานบ้านเชียงด้วย

อนึ่ง ชื่อที่ถูกต้องของธาตุองค์นี้ ควรจะเรียกว่า “ธาตุก่องข้าวน้อย” มากกว่า “พระธาตุก่องข้าวน้อย” เพราะภายในบรรจุอัฐิบุคคลธรรมดา มิใช่เป็นอัฐิพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเช่นพระธาตุ หรือพระบรมธาตุทั่วไป เนื่องจากพระธาตุก่องข้าวน้อยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อยกลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงว่าข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดจึงได้สติคิดสำนึกผิดที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต

[adsense-2]

ตำนานพระธาตุก่องข้าวน้อย

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วที่บ้านตาดทอง ในฤดูฝนมีการเตรียมปักดำกล้าข้าวทุกครอบครัวจะออกไปไถนาเตรียมการเพราะปลูก ครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่งกำพร้าพ่อ ไม่ปรากฏชื่อหลักฐาน ก็ออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกัน

วันหนึ่งเขาไถนาอยู่นานจนสาย ตะวันขึ้นสูงแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากกว่าปกติ และหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ปกติแล้วแม่ผู้ชราจะมาส่งก่องข้าวให้ทุกวัน แต่วันนี้กลับมาช้าผิดปกติ

เขาจึงหยุดไถนาเข้าพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ ปล่อยเจ้าทุยไปกินหญ้าสายตาเหม่อมองไปทางบ้าน รอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจยิ่งสายตะวันขึ้นสูงแดดยิ่งร้อนความหิวกระหายยิ่งทวีคูณขึ้น

ทันใดนั้นเขามองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนาพร้อมก่องข้าวน้อยๆ ห้อยต่องแต่งอยู่บนเสาแหรกคาน เขารู้สึกไม่พอใจที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย อารมณ์พลุ่งพล่าน เขาคิดว่าข้าวในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่ จึงเอ่ยต่อว่าแม่ของตนว่า

“อีแก่ มึงไปทำอะไรอยู่จึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก
ก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อยๆ กูจะกินอิ่มหรือ?”

ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า “ถึงก่องข้าวจะน้อยก็น้อยต้อนแต้นแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน”

ความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความโมโห หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใดๆ เกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีแม่ที่แก่ชราจนล้มลงแล้วก็เดินไปกินข้าว กินข้าวจนอิ่มแล้วแต่ข้าวยังไม่หมดกล่อง จึงรู้สึกผิดชอบชั่วดี รีบวิ่งไปดูอาการของแม่และเข้าสวมกอดแม่

อนิจจา แม่สิ้นใจไปเสียแล้ว..

ชายหนุ่มร้อยไห้โฮ สำนึกผิดที่ฆ่าแม่ของตนเองด้วยอารมณ์เพียงชั้ววูบ ไม่รู้จะทำประการใดดี จึงเข้ากราบ นมัสการสมภารวัดเล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด

สมภารสอนว่า “การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้นเป็นบาปหนัก เป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจีตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปเบาลงได้ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อกวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เป็นเบาลงได้บ้าง”

เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้ว ขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้านช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ จึงให้ชื่อว่า “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จนตราบทุกวันนี้

ทุกวันนี้มีผู้มากราบธาตุก่องข้าวน้อยฯทุกวันเพื่อขอขมาลาโทษเหมือนเป็นการไถ่บาปที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ บางคนเมื่อมีลูกแล้วถึงรู้ว่าบุญคุณแม่มากสุดเหลือคณานับ เพิ่งรู้ว่าเลี้ยงดูลูกนั้นยากหนักหนาขนาดไหน จึงมาสำนึกที่ทำให้แม่ต้องเสียใจ บ้างก็มากราบไหว้เพื่อรำลึกถึงบุญคุณแม่

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ททท. สำนักงานอุบลราชธานี
พื้นที่รับผิดชอบ: ยโสธร,อำนาจเจริญ,อุบลราชธานี 264/ ถ.เขื่อนธานี อ.เมือง จ.อุบลราธานี 34000
โทรศัพท์. (045) 243770, (045) 250714
โทรสาร. (045) 243771
ตำรวจทางหลวง โทร. (045) 489136
ไปรษณีย์จังหวัด โทร. (045) 711761
สถานีขนส่งจังหวัด โทร. (045) 712965
สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง โทร. (045) 711572
โรงพยาบาลกุดชุม โทร. (045) 789090
โรงพยาบาลค้อวัง โทร. (045) 797058
โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว โทร. (045) 791133
โรงพยาบาลทรายมูล โทร. (045) 787046
โรงพยาบาลป่าติ้ว โทร. (045) 712044
โรงพยาบาลมหาชนะชัย โทร. (045) 799049
โรงพยาบาลยโสธร โทร. (045) 711061, 712581

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

พระธาตุก่องข้าวน้อย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร

แผนที่

ความเห็น

ความเห็น